อุบัติการณ์-ยูเอ็นไอ

Untitled-3

สกุล สื่อทรงธรรม

การประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรในสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ภายหลังลดค่าเงินบาทในไทย หนี่งในการประชุมเพื่อเตือนภัยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2541  ก่อนจะไปจัดในระดับภูมิภาคที่กัวลาลัมเปอร์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

มร. ทากางิ ผู้นำแรงงานสหพันธ์แรงงานสิ่งทอ (TWARO) จากญี่ปุ่นแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องแรงงานในเมืองไทย และยื่นมือเพื่อช่วยเหลือหากต้องการ

ผลกระทบที่เกิดกับผู้ใช้แรงงานในยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่สำคัญคือ แรงงานไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ เขาบอกว่า เราต้องมีพลัง ไม่มีใครฟังผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง  หากมีการแก้กฎหมายแรงงานได้ ต้องปิดช่องไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อลูกจ้างรวมตัวกัน  และในระหว่างที่กฎหมายอยู่ระหว่างแก้ไขเพื่อให้สิทธิประโยชน์ลูกจ้างดีขึ้น ควรมีบทเฉพาะกาลห้ามนายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ระยะเวลาของอายุงานกำลังจะก้าวไปรับสิทธิประโยชน์เหล่านั้น เช่น การเพิ่มค่าชดเชยจากหกเดือนเป็นสิบเดือน

ในการประชุมเรายังได้รับรู้ว่าสภาพการจ้างในเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย และจีน แย่กว่าของไทย  สหภาพแรงงานในอินโดนีเซียกำลังก่อตั้ง ในกัมพูชาก็ไม่เป็นปึกแผ่น จีนกับเวียดนามไม่มีสหภาพแบบที่โลกเสรีมี แม้จะมีองค์กรที่เป็นตัวแทนคนงานก็ตาม

เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ค่าจ้างขั้นต่ำของเวียดนามลดลงทันทีจากเดือนละ 50 เหรียญสหรัฐเหลือ 35 เหรียญสหรัฐ ในกัมพูชาคนงานไร้ฝีมือได้เดือนละ 20 เหรียญสหรัฐ อินโดนีเซียให้เป็นรายวัน วันละ 2 เหรียญ ซึ่งใกล้เคียงกับเวียดนามก่อนมีการลดลงมา ส่วนจีนก็จ่ายค่าจ้างน้อยกว่าไทย

ผลที่ตามมาคือ สินค้าประเภทเดียวกันที่ทุกประเทศมี ไทยจะส่งออกได้น้อยกว่า นายจ้างไทยจึงต้องหันเข้าหาเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนที่เกิดจากค่าแรง  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าคนงานไม่สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ทั้งนายทุนและรัฐบาลก็พร้อมจะเอาเปรียบคนงาน เรียกร้องให้คนงานยอมรับค่าตอบแทนที่ต่ำ เพื่อให้มีงานทำ

นี่คือภาวะอุบาทว์ที่ดำรงอยู่ในระบบการและผลิตและบริการของไทย ที่ผู้ใช้แรงงานถูกขูดรีดมาตั้งแต่รุ่นปู่ยันรุ่นหลาน  แม้บางยุคสมัยจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่ทำให้ชีวิตคนงานหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำและเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบตลอดมา

คิดว่าคงมีโอกาสกลับมาเขียนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานระหว่างประเทศในห้วงวิกฤติเมื่อเกิดภาวะต้มยำกุ้งที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก แต่วันนี้ขอนำเสนอสิ่งที่ตั้งใจไว้ก่อน …..

ในเดือนมิถุนายน 2541 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารของอาโปรเฟียต (สหพันธ์แรงงานพาณิชยกรรมระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก) ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น  ซึ่ง มร. ฟิลิปส์ เจนนิ่งเลขาธิการสหพันธ์ฯ ได้เดินทางจากเจนีวามาร่วมประชุมด้วย

การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเพราะได้มีการเชิญเลขาธิการสหพันธ์แรงงานคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ซีไอ เข้าร่วมเพื่อให้ข้อมูลแนวทางการรวมตัวกันระหว่างสองสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ โดยสมาชิกของเฟียตมีทั่วโลกในขณะนั้นประมาณ 10 ล้านคนใน 104 ประเทศ ของซีไอมีประมาณ 4.5 ล้านคนใน 120 ประเทศ สมาชิกของซีไอเมื่อกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐวิสาหกิจ แต่หลังจากความเจริญทางเทคโนโลยีเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งในหลายประเทศถูกแปรรูป โดยเริ่มจากการแปรรูปในอังกฤษยุคนายกมาการ์แร็ต แท็ชเชอร์ แล้วลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปจากนั้นก็ข้ามทวีปไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่เดือน

สำนักงานของซีไอในเอเชียแปซิฟิกกระจายไปทั่ว ครอบคลุมทั้งทวีปและภาคพื้น กล่าวคือมีสำนักงานที่จดทะเบียนในศรีลังกา โตเกียว อ็อคแลนด์ และในไทย

การประชุมเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ชื่อว่า A New International for a New Millennium พอจะแปลได้ว่า องค์การระหว่างประเทศใหม่เพื่อศตวรรษใหม่ คือการริเริ่มรวมสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ 4 แห่งเข้าด้วยกันเป็นเบื้องต้นใน ค.ศ. 2000  ประกอบด้วย เฟียต ซีไอ ไอจีเอฟ (สหพันธ์แรงงานการออกแบบกราฟิกระหว่างประเทศ มีสมาชิกในปี 1998 ประมาณแปดแสนคนใน 75 ประเทศ) และเอ็มอีไอ (สหพันธ์แรงงานสื่อและการบันเทิงระหว่างประเทศ มีสมาชิกประมาณสองแสนคนใน 65 ประเทศ)

หัวข้อสำคัญของการประชุมที่นำมาถกกันคือ พลวัตของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ในทางโครงสร้าง การควบรวมกิจการ (ในบรรษัทใหญ่ ๆ และสหภาพแรงงาน) ระบบสารสนเทศ และแนวทางที่จะเบนเข้ามารวมกัน

ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ในการควบรวมกิจการเพื่อให้มีอำนาจต่อรองสอดคล้องกับบรรษัทใหญ่ ๆ จะต้องหารือในประเด็นเหล่านี้ให้ลงตัวก่อน นั่นคือ

  • ร่วมกันออกแบบโครงการที่จะนำไปสู่การจัดกิจกรรม (Joint building project)
  • การมีสำนักงานร่วมกันที่กรุงบรัสเซล
  • การมีหลักการการจัดองค์การที่เหมือนกัน ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับภาควิชาชีพ
  • การทำให้แต่ละสาขาอาชีพมีความสมบูรณ์ (Complementary trade sections)
  • การคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันในระหว่างวิชาชีพ (Inter-professional interests)
  • ร่วมตัวหารในค่าใช้จ่ายหลัก (Share core expenditure)
  • ยังคงทำงานใกล้ชิดกับไอซีเอฟทียู (สมาพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศ) อีทียูซี (สภาแรงงานยุโรป) และไอซีอีเอ็ม (สหพันธ์แรงงานเคมี พลังงาน และเหมืองแร่ระหว่างประเทศ) และมีเป้าหมายที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
  • ความสนับสนุนที่จะได้จากเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษา (Support from the staff)

ตอนต่อไปจะแสดงให้เห็นการจัดตั้งองค์การขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก เป็นปราการที่ปกป้องคนงานส่วนใหญ่ของโลกที่เข้ามาอยู่ในอ้อมอกของ ยูเอ็นไอ ที่มีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 20 ล้านคนในปัจจุบัน

////////////////////////