“วันงานที่มีคุณค่าสากล” หรือ”Decent work Day”

20161007_094153

7 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) โดยนายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคสรท.ได้อ่านคำประกาศเนื่องใน “วันงานที่มีคุณค่าสากล” หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ด้วยวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้เป็น “วันงานที่มีคุณค่า”นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน งานที่มีคุณค่าหมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้ 1.การมีโอกาสและรายได้  2.การมีสิทธิ เสรีภาพในด้านต่างๆ 3.การได้แสดงออก 4.การได้รับการยอมรับจากสังคม  5.ความมั่นคงของครอบครัว  6.การได้พัฒนาตนเอง 7.การได้รับความยุติธรรมและ 8.การมีความเท่าเทียมทางเพศ

สถานการณ์ประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันขบวนการแรงงานต่างทราบกันดีว่ารัฐบาลแต่ละยุคสมัยมิได้ให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม แต่กลับสนับสนุนให้กลุ่มทุนนักธุรกิจทั้งในชาติและต่างชาติเอารัดเอาเปรียบคนไทย ด้วยกดขี่ขูดรีดด้วยรูปแบบนานัปการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แลกกับการให้กลุ่มทุนมาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย รูปธรรมที่แสดงออกผ่าน กฎหมาย นโยบายเกี่ยวการสนับสนุนการลงทุน ทำให้คนงานอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ค่าจ้างต่ำ ทำงานหนัก ไม่ปลอดภัยในการทำงาน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ทั้งภาคการผลิตและการบริการ สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเจรจาต่อรองก็ทำได้ยากยิ่งเนื่องด้วยกฎหมายและนโยบายที่ไม่เอื้อสนับสนุน จึงก่อให้เกิดปัญหา ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ มีการละเมิดสิทธิแรงงาน อันเป็นสถานการณ์ที่ประเทศไทยถูกโจมตีจากนานาชาติในปัจจุบัน

20161007_094200

ดังนั้นเพื่อ “งานที่มีคุณค่า” และ เป้าการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ 17 ด้าน เพื่อที่จะขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่นำประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

  1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง
  2. ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ยกเลิกค่าจ้างแบบลอยตัว
  3. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบาย และการออกกฏหมายที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการให้ความสำคัญกับ พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชนสอดคล้องกับ วิถีชีวิต วิถีเศรษฐกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนให้เข้าถึงการบริการจากรัฐโดยความเท่าเทียมด้วยราคาที่เป็นธรรม หรือรัฐจัดเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชน ห้ามไม่ให้มีการแปรรูปโดยเด็ดขาด การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของรัฐบาลต้อง สนับสนุน ส่งเสริม ให้สหภาพแรงงาน ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อสร้างหลักประกัน หลักจริยธรรมในการดำเนินภารกิจ ตามหลักธรรมาภิบาล

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อจะได้การสนับสนุนในการดำเนินการจากรัฐบาล เพื่อโอกาส เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย แต่ที่สุดแล้วหากมิได้เป็นไปตามที่เสนอ ขอให้พวกเราที่เป็นคนงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นจริง ผ่านรูปแบบและช่องทางที่เหมาะในหมู่ของพวกเรา พี่น้องประชาชนให้เข้าใจ ประสานกับเครือข่ายในส่วนกลางและภูมิภาค และ พี่น้องผองเพื่อคนงานนานาชาติที่เราให้สัตยาบันแก่กันว่า “คนงานทั้งผองคือพี่น้องกัน”เพื่อร่วมกันผลักดันให้ข้อเสนอเป็นจริงต่อไป

untitled-6

ในวันเดียวกัน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้เดินรณรงค์และยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยเห็นว่าสิ่งที่จะให้คนทำงานมีคุณค่า ควรต้องแก้ไข และเปลี่ยนแปลง ดังข้อเรียกร้องต่อไปนี้ 4 ข้อ คือ

     1. ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องมีนโยบายค่าจ้างปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง โดยค่าจ้างนั้นต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพและเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้รวม3 คนในเบื้องต้นขอเสนอต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดปทุมธานี

    2. ขอให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม

    3. ความปลอดภัยในการทำงานฯขอให้ท่านเข้มงวดตรวจสอบ เรื่องความปลอดภัยฯการทำงานในสถานประกอบการจังหวัดปทุมธานี อย่างจริงจัง

    4. การละเมิดสิทธิแรงงานกรณีคนงานออคิด ไดมอน ที่ปิดกิจการแต่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย จำนวน 300 กว่าคน

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการการดูแลแก้ไขจากหน่วยงานราชการที่ท่านดูแล ให้ปัญหาของคนงานได้รับการแก้ไข โดยขอเรียนให้ท่านทราบว่ากลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง รอฟังคำตอบในการแก้ไขปัญหาจากท่านตลอดมา

รายงานโดย วาสนา ลำดี