ร้องสภาทนายความ 17 ปี ผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิดยังไม่ได้สิทธิ

20160729_114608[1]

เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม2559 ศูนย์ประสานงานผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด ได้เข้ายื่นหนังสือ ขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดี ถึงนายกสภาทนายความ ผ่าน นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย  สภาทนายความ

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอบลำไยระเบิดที่เกิดขึ้นนั้น ตนได้เข้าไปช่วยเหลือด้านการให้คำปรึกษากับผู้ประสบภัย ตั้งแต่กลุ่มญาติของคนงานที่เสียชีวิต และส่วนของชาวบ้านชุมชนที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือน โรงเรียน และวัด ได้รับความเสียหายจำนวนมาก การที่เข้าไปช่วงนั้นเนื่องจากมีประสบการณ์จากกรณีโรงงานเคเดอร์ที่ไฟไหม้ และมีคนงานเสียชีวิตถึง 188 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก และมีฐานของการจ่ายการชดเชยให้กับญาติที่เสียหายอยู่แล้ว เพื่อการเสนอต่อรัฐในการมาดูแลในช่วงนั้น ซึ่งส่วนของคดีความก็ใช้เวลานานมากแล้วแต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านจึงได้ให้พามาร้องทางสภาทนายความให้เข้ามาช่วยเหลือ

นายดลทัต  แก้วปัญญา ตัวแทนผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิด เมื่อปี พ.ศ. 2542ซึ่งมีความประสงค์ที่จะขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากทางสภาทนายความในการติดตามความคืบหน้า และ การดำเนินคดีแพ่งที่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดคือโรงงานอบลำไยระเบิดต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้คดีทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ทางกลุ่มจึงเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ทางสภาทนายความช่วยเหลือ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2542 เกิดเหตุการณ์โรงงานอบลำไยระเบิดที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์นี้ คือ มีผู้เสียชีวิต 36 ราย และ ผู้ได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 500 ราย

ต่อมาผู้ประสบภัยได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีกับผู้ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสภาทนายความได้มอบหมายให้ นายปิ่นนคร ศรีจันทร์ ประธานทนายความจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะ ในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลฯ ต่อผู้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดฯ มีทั้งหมดกว่า 150 คดี ผู้เสียหายแต่ละรายก็ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีในส่วนของผู้เสียหายแต่ละคน คู่ความจึงได้แถลงต่อศาลร่วมกันว่า ให้ถือเอาผลของ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 266 / 2543ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลัก มีนางเรือน ปัญญา เป็นโจทก์และ ศาลเห็นควรให้จำหน่ายคดีในส่วนของคดีอื่นๆไว้ชั่วคราวรายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนการพิจารณาคดี ลว. 26 พฤศจิกายน 2546

หลังจากที่ได้มีการสืบพยานไปจนครบถ้วน ศาลจังหวัดฯได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ หลังจากนั้น จำเลยที่ 5 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น วันที่ 6 สิงหาคม 2551 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวคดีหมายเลขดำที่ 266 / 2543 หมายเลขแดงที่ 632 / 2548 เพื่อรอฟังผลการพิจารณาในคดีอาญาก่อน เนื่องจากว่าคดีดังกล่าวนี้ เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ในการพิพากษาคดีแพ่ง จึงจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ และ เนื่องจากคดีอาญาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลการพิจารณาในคดีอาญาก่อน เมื่อคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หากโจทก์หรือจำเลยที่ 5 ผู้อุทธรณ์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้ยื่นคำแถลงต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุด เพื่อหยิบยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาต่อไป มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้อุทธรณ์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

20160729_114801[1]

วันที่ 27  พฤษภาคม 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการโจทก์  และ บริษัทหงไทยการเกษตร จำเลยที่ 1 กับพวก จำเลยโดยพิพากษาให้ลงโทษ     จำเลยที่ 1 ลงโทษปรับเป็นเงิน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกเป็นเวลา 6 ปี 10 เดือน 20 วัน จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุก 10 ปี

  1. สถานการณ์ของคดี – ล่าสุด

ตอนนี้ คดีทั้งหมดยังอยู่ที่ศาลชั้นต้น ยกเว้น คดีที่คู่ความแถลงร่วมกันให้ถือเอาเป็นคดีหลัก คือ คดีหมายเลขดำที่ 266 / 2543 หมายเลขแดงที่ 632 / 2548 อยู่ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ซึ่งในส่วนของคดีอื่นนั้น ศาลได้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลของคดีหลัก ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และส่วนมากได้มีการดำเนินการจนถึงการสืบพยานของฝ่ายโจทก์เสร็จเรียบร้อย

  1. เหตุขัดข้อง

เนื่องจากคดีนี้ทั้งหมดมีคณะทนายความจากทนายความจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ตามคำสั่งของสภาทนายความข้างต้น ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบของทนายความจังหวัดเชียงใหม่เป็นทนายความท่านอื่น ประกอบกับได้มีการจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และ ระยะเวลาในการดำเนินการก็ล่วงเลยมานาน มีผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตายไปหลายคนบางคนก็ย้ายที่อยู่  และ ในส่วนของทนายความบางคนก็ย้ายที่ทำงาน บางคนก็เลิกไปประกอบอาชีพอื่น จึงทำให้ขาดการติดต่อ ประสานงาน ขาดการติดตามการดำเนินการทางคดี

  1. การขอความช่วยเหลือ

ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผู้ประสบภัยจากโรงงานอบลำไยระเบิดทั้งหมด มีความประสงค์จะขอให้สภาทนายความ ได้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการพิจารณาคดีในคดีแพ่งที่คงค้างให้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดต่อไป

นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย  สภาทนายความ กล่าวถึงประเด็นโรงงานอบลำไยระเบิดว่า การดำเนินคดียาวนานถึง 17 ปี ซึ่งทางด้านคดีทางสภาทนายความก็ได้รับทราบและส่งทนายความให้ความช่วยเหลือตลอด ซึ่งคงต้องทำต่อ โดยรับมาดำเนินการต่อทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ซึ่งมีทั้งหมด 150 คดี ซึ่งจะนำเรื่องที่ผู้ประสบภัยฯมาร้องเข้าสู่คณะทำงานช่วยเหลือประชาชน แล้วตั้งคณะทำงานทนายความเข้าให้ความช่วยเหลือทางคดี

รายงานโดย วาสนา ลำดี