รำลึก 70 ปี ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’

อารมณ์ติดคุก

รำลึกถึง อารมณ์ พงศ์พงัน’*

สดุดี ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’               รำลึกถึงวันเก่าเก่าที่เล่าขาน

รำลึกถึงนักสู้ผู้ใช้แรงงาน                     รำลึกถึงตำนานที่นานนม

เจ็ดสิบปีผ่านไปใช่ผ่านเลย           คนที่เฉยเริ่มตื่นจากขื่นขม

ชูความดีความกล้าน่าชื่นชม         พร้อมตามรอย ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’

นับถืงวันนี้ อารมณ์ พงศ์พงัน มีอายุครบ 70 ปีพอดี แม้เขาจะไม่ได้อยู่กับเรานานถึง 36 ปี แต่ด้วยความดี ความโดดเด่น ความกล้าหาญ และผลงานที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง ทำให้ชื่อ อารมณ์ พงศ์พงัน ยังคงมีชีวิตจนถึงวันนี้ และคงจะอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นหลังต่อไป

อารมณ์ พงศ์พงัน เป็นคนเกาะพงัน ประวัติของเขาก่อนจะเป็นผู้นำแรงงานในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน คือเป็นคนที่อดทน แสวงหาความก้าวหน้าในการเรียน และได้เป็นหัวหน้านักเรียนในโรงเรียนอาชีวะจังหวัดนครราชสีมา ต้องดิ้นรนหาเงินเรียนเองมาโดยตลอด เป็นคนพายเรือจ้าง เป็นคนงานตัดอ้อย เขียนเรื่องสั้นและบทประพันธ์อื่น ๆ ที่สะท้อนสังคมในขณะเป็นวัยรุ่นเพื่อเป็นทุนเรียนหนังสือ จบแล้วก็มาทำงานที่การประปานครหลวง เมื่อมีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา เขาก็เป็นกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์สำคัญในการชี้นำทางความคิดของขบวนการแรงงาน

ในการเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน อารมณ์ พงศ์พงัน ได้เข้าไปเป็นรองประธานของกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย เขาได้พบกับผู้นำแรงงานหลายคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน โดยคิดว่าการต่อสู้ที่แหลมคมที่สุดนอกจากการรวมตัวเคลื่อนไหวแล้ว ความรู้ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะนำการต่อสู้ไปสู่ความสำเร็จ การต่อสู้อาจได้รับชัยชนะได้ยากหากไม่ทำแนวร่วมกับประชาชน สื่อสารมวลชน และประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ในยุครัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มีนโยบายขึ้นราคาข้าวสาร อารมณ์ได้รับมอบหมายจากกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทยเป็นผู้นำที่เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้าว ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง นั่นคือตั้งแต่การไถ การหว่านเมล็ดข้าว การดำนา การเก็บเกี่ยว การสีข้าว การออกสู่ท้องตลาด ไปจนถึงการเป็นข้าวในจานผู้บริโภค  ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยอมจำนน เพราะหากขึ้นราคาข้าว ผู้ที่ได้ประโยชน์คือพ่อค้าคนกลาง

เมื่อฝ่ายขวาจัดทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผู้นำแรงงาน ผู้นำชาวนาชาวไร่ และผู้นำนักศึกษา ส่วนหนึ่งถูกตามสังหาร ส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่วนหนึ่งถูกจับข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นภัยสังคม อารมณ์ถูกจับเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ถูกตั้งข้อหากบฏ คอมมิวนิสต์ และภัยสังคม หลังจากถูกขังอยู่ประมาณสองปีก็ออกมาทำงานสหภาพแรงงานต่อ เขาเป็นหัวแรงสำคัญในการออกวารสารข่าวคนงาน ซึ่งเป็นปากเสียงของผู้ใช้แรงงานอยู่เกือบปี เมื่อเขาป่วยต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเพราะเป็นโรคตับ เขาต้องยุติบทบาท และในที่สุด อารมณ์ พงศ์พงัน ก็จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ณ โรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด

สิ่งที่ควรเรียนรู้จากอารมณ์ พงศ์พงัน คือ คุณสมบัติความเป็นผู้นำหลายประการ เช่น

  • เป็นคนมีความเพียร อดทน และมุ่งมั่น มียุทธศาสตร์ในการดำเนินชีวิตและกำหนดอนาคตที่เป็นไปได้ เห็นได้จากความพยายามเอาชนะความจนด้วยความขยัน เพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัวและตนเอง เมื่อต้องการเรียนก็ต้องได้เรียนโดยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง
  • เป็นคนมีวินัย อยู่ห่างอบายมุข จากการทำงานร่วมกันในการเคลื่อนไหวขบวนการแรงงาน อารมณ์รักษาเวลา ไม่พูดเพ้อเจ้อ ทุกคำพูดมีความหมาย และมีเหตุผล
  • มีมนุษยสัมพันธ์ดี คบใครคบนาน สามารถแยกมิตรแยกศัตรู ไม่ทำให้ศัตรูโกรธ หากทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกรง วางระยะห่างกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเหมาะสม ในทางส่วนตัวเขาจึงแทบไม่มีศัตรู เว้นแต่ผู้นำแรงงานบางคนที่รับใช้เผด็จการจะมองว่าเขาเป็นศัตรู
  • เป็นคนที่มีความเที่ยงตรง หรือซื่อสัตย์ต่อตนเอง รักความถูกต้อง เมื่ออารมณ์ตำหนิใครเพราะเหตุที่ผู้นั้นมีพฤติกรรมหรืออุปนิสัยเอารัดเอาเปรียบ แหกกฎกติกาของหมู่คณะ เขาจะไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็นพวกเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จากเรื่องสั้นของเขาที่ตำหนิสาว ๆ พน้กงานหรือข้าราชการที่ไม่สนใจทำงาน วัน ๆ เอาแต่เบียดบังเวลาราชการไปเพื่อความสวยงามหรือใช้เวลาตามใจตนเองโดยไม่รับผิดชอบต่องานในหน้าที่ เขาตำหนิคอลัมนิสต์สื่อมวลชนที่ไร้จรรยาบรรณ ใช้ความเป็นสื่อหาเศษหาเลยจากความอ่อนแอของผู้หญิง
  • เป็นคนที่เกลียดชังเผด็จการ และไม่เชื่อว่ารัฐบาลเผด็จการจะนำชีวิตที่ดีกว่ามาสู่ประชาชนส่วนใหญ่ เขาเชื่อในลัทธิสหภาพแรงงานว่า หากสหภาพแรงงานเข้มแข็ง นั่นคือความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย เพราะการทำงานของผู้นำสหภาพคือการทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและสังคมส่วนรวม และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงอำนาจของตนเองในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะต้องมีผู้นำการปกครองหรือรัฐบาลที่เป็นของประชาชน เลือกมาโดยประชาชน และทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
  • เป็นคนที่มีทักษะในการฟัง การจับประเด็น มีหลักคิด วิเคราะห์ ที่หาตัวจับจากในยุคนั้น ในการอภิปราย เขามีลีลาที่ราบเรียบ ชัดถ้อยชัดคำ และตรงประเด็น ใช้เหตุผลหักล้างความโป้ปดมดเท็จ
  • เป็นนักเขียน อารมณ์สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ควบคู่ไปกับการต่อยอดความรู้ด้วยการเขียน ผลงานที่เขียนออกมาไม่ว่าจะเป็นบทความ เรื่องสั้น สารคดี โดยเฉพาะบทกวีที่สะท้อนสังคมล้วนมีความแหลมคมที่ท้าทายความไม่เป็นธรรมและชี้ทางที่ถูกต้อง ประณามการใช้อำนาจรัฐและการเอื้อให้ฝ่ายทุนเอารัดเอาเปรียบ และปลุกเร้าให้มวลชนกล้าลุกขึ้นสู้เพื่อชัยชนะในวันหนึ่งข้างหน้า
  • เป็นคนรักครอบครัว และรับผิดชอบสูงแม้ยามอยู่ในที่คุมขัง อารมณ์ได้เจริญรอยตามนักโทษการเมืองรุ่นก่อนได้เป็นอย่างดีในการผลิตผลงานที่มีค่าในขณะถูกจองจำ จดหมายจากคุกคือผลงานอีกเล่มหนึ่งที่เขาเขียนถึงแม่ของลูก และสื่อถึงความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ว่า เมื่อรัฐไม่สามารถเอาผิดเขาได้ วันหนึ่งเขาจะต้องได้ออกมาพบกับภรรยาและลูก และเขาเชื่อในพลังของผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวกันทั่วโลก หวังได้ว่าแรงกดดันจากหลาย ๆ ฝ่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่มีต่อการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม จะทำให้ผู้บริสุทธิ์เช่นเขาและเพื่อน ๆ ที่ถูกขังลืมได้รับการปลดปล่อยเร็วขึ้น

เหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนที่คิดว่าพอเหมาะสมกับเวลาที่มี  ในวันนี้ เรามารำลึกถึงเพื่อนของเรา และเราได้ร่วมกันทำในสิ่งที่คนรุ่นหลังพึงทำเพื่อผู้ที่จากไปอย่างมีคุณค่า คือคุณความดีที่ไม่ตาย เราหวังว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้ หากจะมีญาณวิถีใด ๆ ที่จะให้คุณอารมณ์ พงศ์พงัน ได้รับรู้และรับบุญกุศลที่เราพร้อมใจจัดให้ ก็จักเป็นความอิ่มเอมแห่งทิพยภาวะที่จะสถิตในใจของเราทุกคนตลอดไป

*  สกุล สื่อทรงธรรม ประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวในงานรำลึก 70 ปี ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’ จัดโดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับองค์กรพันธมิตรและกัลยาณมิตรผู้นำแรงงานร่วมสมัย ณ สำนักงานมูลนิธิ อารมณ์พงศ์พงัน เลขที่ 51/109 ซอยคลองหลวง 19 ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2559