รัฐประหารกับประชาธิปไตย

arom-w-news

นภาพร อติวานิชยพงศ์

ในขณะที่ประเทศไทยใกล้ถึงวันลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2558 เพื่อเข้าสู่การเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง ได้เกิดการรัฐประหารที่ล้มเหลวขึ้นในประเทศตุรกีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 ที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกะทันหันต่างจากกรณีของประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้วซึ่งมีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เตือนให้รู้ล่วงหน้าหลายเดือนก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยมีการรัฐประหารที่สำเร็จมาแล้ว 13 ครั้ง และที่ทำไม่สำเร็จอีก 11 ครั้ง กล่าวได้ว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยมาตลอดเวลายาวนานเกือบ 85 ปี จนอาจทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกชาชินกับการอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือเคยชินกับระบอบการเมืองแบบเผด็จการโดยไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกับการมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และอาจไม่เข้าใจว่าทำไมประชาชนชาวตุรกีหลายหมื่นคนจึงต้องออกมาต่อต้านการรัฐประหารจนเสียชีวิตไปมากกว่า 200 คน

ประเทศสาธารณรัฐตุรกี แม้จะตั้งอยู่ในทวีปยุโรป แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเกิดรัฐประหารแตกต่างจากประเทศต่างๆในยุโรปที่ระบอบประชาธิปไตยได้สถาปนาอย่างมั่นคงและทหารไม่เคยคิดถึงการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของประเทศตุรกีเทียบไม่ได้กับประเทศไทยเพราะหลังจากก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐเมื่อ พ.ศ. 2466 ประเทศตุรกีมีรัฐประหารรวม 4 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2540 แต่เป็นรัฐประหารที่กองทัพบีบให้รัฐบาลลาออกโดยไม่มีการนองเลือด

หากถามว่า รัฐบาลตุรกีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่ดีหรือไม่? นักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างบอกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน เป็นรัฐบาลอำนาจนิยมที่ทำลายความเป็นอิสระของสถาบันสื่อ สถาบันการศึกษา และสถาบันตุลาการ และยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนจำกัดเสรีภาพของขบวนการภาคประชาชน แต่ก็สามารถชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องกันถึง 3 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน แล้วเหตุใดประชาชนจำนวนมากจึงปฏิเสธการทำรัฐประหารเพื่อโค้นล้มรัฐบาล? ทั้งๆที่คณะรัฐประหารได้อ้างว่า จะเข้ามาเพื่อฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และทหารบางส่วนก็ร่วมต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ เหตุการณ์ในตุรกีจึงดูคล้ายกับสถานการณ์ของประเทศไทยก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แต่ผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารตรงกันข้ามกัน

ผู้นำแรงงานในอดีตคืออารมณ์ พงศ์พงัน ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือ “กรรมกร” ที่ท่านเป็นผู้เขียนโดยกล่าวถึงความเห็นที่มีต่อบทบาทสหภาพแรงงานกับการปกป้องประชาธิปไตยในระหว่างปี พ.ศ. 2518-2519 ซึ่งเป็นช่วงที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพิ่งประกาศใช้ และมีสถานประกอบการทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจหลายแห่งขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างมีแต่การรวมตัวกันของสหภาพแรงงานต่างๆเป็น “กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรนำระดับชาติที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดองค์กรหนึ่งของผู้ใช้แรงงานในยุคนั้น อารมณ์ พงศ์พงัน ได้สะท้อนทัศนะที่น่าสนใจว่า

ภายใต้กระแสทางการเมืองที่ล่อแหลมต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น ถ้ากลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มกรรมกรที่มีการจัดตั้ง ไม่มีส่วนร่วมเพื่อใช้อิทธิพลจากอำนาจการต่อรองทางด้านเศรษฐกิจเข้าไปสนับสนุนระบอบการปกครองแบบนี้แล้ว กลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเผด็จการก็ย่อมจะฉวยโอกาสทำลายระบอบประชาธิปไตยได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ สถานการณ์ที่อารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึงเมื่อ 40 ปีมาแล้วอาจดูห่างไกลเกินไป ลองมาดูเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยมากกว่านั้นคือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารครั้งที่ 11 (23 กุมภาพันธ์ 2534) ในช่วงแรกหลังการรัฐประหาร สื่อมวลชนรวมทั้งประชาชนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนการรัฐประหาร เพราะเชื่อว่าทหารจะมาปราบการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดกระแสต่อต้านรัฐประหารขยายตัวอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในช่วงวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งในครั้งนั้นผู้นำสหภาพแรงงานแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายต่อต้าน และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ฝ่ายที่ต่อต้านมีพลังมวลชนคนงานสนับสนุนมากกว่า

ในปีแรกหลังการรัฐประหาร 2534 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ โดยภาพรวมแล้ว อาจพูดได้ว่า คณะรัฐบาลชุดนี้มีคุณภาพดีกว่าที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่ข้อถกเถียงมีอยู่ว่า เราต้องการคนดีมาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีการแบบใด? หากยังต้องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวต่อไปข้างหน้า คำตอบย่อมมีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 แสดงออกอย่างชัดเจนในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนงาน และประชาชนกลุ่มอื่นๆ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจถูกยุบเลิกไนขณะที่สหภาพแรงงานในภาคเอกชนถูกจำกัดการเคลื่อนไหว อีกทั้งคุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงบทบาทชัดเจนในการต่อต้านคณะรัฐประหารหายตัวไปอย่างลึกลับ ทำให้ผู้นำสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในยุคนั้นตัดสินใจได้อย่างไม่ยากลำบากว่า จะมีจุดยืนอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำรัฐประหารมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ขบวนการแรงงานในส่วนที่ก้าวหน้าได้เข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ต่อต้านรัฐบาลอย่างเต็มที่จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งหลังจากนั้นระบอบประชาธิปไตยได้พัฒนาต่อเนื่องอย่างมั่นคงมาอีก 14 ปี การต่อต่อต้านรัฐประหารของคนไทยเมื่อปี 2535 น่าจะไม่แตกต่างกับการต่อต้านรัฐประหารของคนตุรกีที่เพิ่งเกิดขึ้น น่าแปลกใจว่าเหตุใดวิธีคิดของคนไทยต่อรัฐประหารครั้งที่ 12 และ 13 เมื่อปี 2549 และ 2557 จึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง?

สำหรับผู้นำแรงงานในยุคปัจจุบันมีคำอธิบายที่เหมือนกับประชาชนกลุ่มอื่นๆที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล (และไม่ขับไล่คณะรัฐประหาร) คือ รัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลที่มีการคอรัปชั้น โกงกิน อย่างมหาศาล และเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมจึงสมควรถูกล้มล้าง แต่มองไม่เห็นหนทางอื่นที่จะล้มล้างรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรคการเมืองของทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง (จึงยอมรับการรัฐประหาร?) ส่วนเหตุผลเฉพาะของกลุ่มแรงงานคือรัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาของแรงงาน เช่น เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม

คำถามมีอยู่ว่า หากต้องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ให้ยั่งยืน การล้มล้างรัฐบาลที่โกงกิน หรือใช้อำนาจนิยม ควรใช้วิธีการใด? หากต้องพึ่งพิงการรัฐประหารโดยกองทัพและชนชั้นนำเหมือนที่ผ่านมาใน 2 ครั้งหลังสุด เมื่อใดประชาชนส่วนใหญ่จึงจะมีอำนาจกำหนดอนาคตของบ้านเมือง?

/////////////////////////////