ยกเครื่ององค์กร VS ปฏิรูปขบวนการแรงงาน

Untitled-1

สกุล สื่อทรงธรรม

ห้วงเวลาที่ขบวนการแรงงานทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ มีจุดเริ่มจากความเจริญทางเทคโนโลยีโดยแท้ ฝ่ายทุนตะวันตกและทุนไร้สัญชาติมีบทบาทอย่างสูงในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแข่งขันและการทุ่มตลาด เพื่อล้มคู่แข่งในภูมิภาคอื่น ๆ ที่ประเทศตะวันตกเป็นคู่ค้า การแข่งขันสูงในหลายอุตสาหกรรมทำให้เป็นโอกาสการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานอย่างรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่ามีการตั้งกองทุนเพื่อทำลายภาวะความเป็นปกติของตลาดหุ้นในประเทศทางตะวันออก ตั้งเงื่อนไขให้แก้กฎหมายของบางประเทศเพื่อให้ทุนต่างชาติไหลเข้าออกกโดยสะดวก พูดแบบรวบรัดก็คือ มีการซื้อกิจการธนาคารจากทุนท้องถิ่นเป็นทุนต่างชาติ เปลี่ยนระบบการผลิตทางเกษตรจากพืชตามท้องถิ่นที่หลากหลายเป็นพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น นับเป็นการรุกทางเศรษฐกิจจากหลายด้านที่ประสานกันเพื่อควบคุมเศรษฐกิจของประเทศที่ล้าหลังทางเทคโนโลยีมากกว่า

ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 จึงเกิดกระแสรีเอ็นจิเนียริ่ง หรือการรื้อระบบองค์กร ให้ลดจำนวนคนตามสายการผลิตหรือบริการให้น้อยลง แล้วนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ นับตั้งแต่เครื่องเอทีเอ็มเครื่องแรกของธนาคารไทยพาณิชย์ถูกตั้งขึ้นมาให้คนกดเงินใช้ แต่ละเครื่องที่ตั้งขึ้นทดแทนเทเลอร์ได้หกคน ในที่สุดก็ถึงวันที่ทุกธนาคารไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มีเครื่องเอทีเอ็ม เครื่องฝากเงิน และเครื่องปรับยอดบัญชีเงินฝาก จำนวนแรงงานในภาคการเงินการธนาคารจึงแทบไม่เพิ่มขึ้น ที่ดูแลลูกค้าและทำงานรอเกษียณในวันนี้ก็ต้องหันมาแข่งขันขายบริการเสริมที่กึ่งบริการกึ่งยัดเยียด เพื่อเพิ่มค่าธรรมเนียมการใช้บัตร หรือธุรกรรมทางการเงิน

ฝ่ายขบวนการแรงงานภาคพาณิชยกรรมและบริการ ได้ตระหนักถึงการรุกคืบของเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ฝ่ายลูกจ้างเองก็ต้องหาทางรักษาสมาชิกให้มีหลักประกันโดยข้อตกลงที่ทันสมัย มีการประชุมอย่างกว้างขวางว่าด้วยเทคโนโลยีกับความมั่นคงในการทำงาน เช่น การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีที่เมลเบิร์นที่ออสเตรเลียในปี 1981 เป็นผลให้มีทางออกที่น่าสนใจ สหภาพแรงงานหลายแห่งได้ทำเป็นข้อตกลงกับฝ่ายจัดการ เช่น การให้นายจ้างหาตำแหน่งงานที่ไม่ด้อยกว่าเดิมให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่งานเดิมถูกแทนที่โดยเครื่องจักร เป็นข้อตกลงที่มีให้เห็นในมาเลเซีย และในไทยก็มีสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพบรรลุข้อตกลงดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศที่กำลังพัฒนาถูกใช้เป็นที่รองรับ “ขยะ” เทคโนโลยีจากประเทศที่เจริญแล้ว ขบวนการแรงงานของประเทศเหล่านั้นพยายามรวมตัวกันให้เหนียวแน่นเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและต่อต้านการรุกคืบของเทคโนโลยี ส่วนองค์กรแรงงานของไทยที่มีสภาแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลับจัดกำลังได้เพียงการตั้งรับที่กระจัดกระจาย พลังที่มีจึงไม่สามารถยับยั้งการเข้ามาของกระแสทุนข้ามชาติและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีอันทันสมัยได้

การยกเครื่ององค์กรที่เกิดขึ้นในไทย เริ่มต้นที่ธนาคารกสิกรไทยหรือเคแบงก์ในปัจจุบัน มีการเชิญเจ้าของทฤษฎีคือไมเคิล แฮมเมอร์ มาพูดในโรงแรมห้าดาวย่านราชประสงค์ ว่ากันว่านอกจากค่าเดินทางและที่พักตลอดการเดินทางของนายแฮมเมอร์ที่ไม่ต้องเสียอะไรแล้ว เขายังได้เงินติดกระเป๋ากลับบ้านอีกไม่น้อยกว่าแปดหลักที่เป็นเงินบาท การนำเสนอแนวคิดของเขาในแต่ละเวทีถือว่ามีอิทธิพลและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารองค์กรในแนวราบถูกตอกย้ำว่าดีกว่าแนวดิ่งที่มีสายบังคับบัญชายืดยาวก้าวไม่ทันคู่แข่ง
การมาถึงของยุคยกเครื่ององค์กรคือการสิ้นสุดของโรงงานที่ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในกระบวนการผลิต

ในยุคนั้น มีนักวิชาการที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการบริหารของฝ่ายทุน ส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอู้ฟู่อยู่จนถึงวันนี้

ขบวนการแรงงานในระดับสากลคือ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมระหว่างประเทศสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่มีมากกว่า 15 อุตสาหกรรม ต้องเรียกร้องให้มีการประชุมสุดยอดผู้บริหารในสำนักเลขาธิการ เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ มีการจัดเวทีประชุมกันหน้าดำคร่ำเครียดกระจายไปทุกภูมิภาค เพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิกแต่ละสาขาอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวเนื่องกันที่มาจากองค์กรสมาชิกหลายประเทศ

ว่าจะพูดถึงการเกิดขึ้นของ UNI กับ Global ยูเนียน มัวแต่ปูบรรยากาศของบริบทในห้วงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หมดเนื้อที่อีกแล้ว ขอผลัดไปคราวต่อไป

การมีเนื้อที่ในเว็บไซต์ก็ดีตรงนี้ คืออยากเขียนเท่าไรก็เขียนไป ข้อสำคัญคือ ถ้าเขียนแล้วต้องให้มีคนอ่าน และสะท้อนความคิดเห็นกลับมาเยอะ ๆ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านเข้ามาเป็นสมาชิกและเปิดอ่านเป็นประจำ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการอภิปรายเพิ่มเติมก็ทำได้ตามอัธยาศัย ขอเพียงให้ใช้คำสุภาพ ไม่ก้าวร้าว หยาบคาย หรือบิดเบือนตามสูตรกกต.