จดหมายเปิดผนึก สรส. กรณีปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จากรัฐวิสาหกิจ – เอกชน แบบไม่ฟังเสียงแรงงาน

20161007_095808

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ออกจดหมายเปิดผนึก ในฐานะองค์กรนำในการเรียกร้องรัฐให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หนุนค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ ในส่วนเอกชนตามข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559 โดยมีการกล่าวอ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประกาศใช้ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2516 โดยในอัตราวันละ 12 บาท ครั้งนั้น นิยามค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คือ ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถเลี้ยงคนในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกอีก 2 คน แต่สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ลูกจ้างควรจะได้รับ “โดยค่าจ้างให้ลูกจ้างสามารถเลี้ยงดูตนเองและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคนให้ดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติวิสัยเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม” (ประกาศฯ เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับแรก) พ.ศ. 2515)

แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ประเทศไทยเปลี่ยนนิยามใหม่ ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเลี้ยงคนเพียงคนเดียว คือ “ให้คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นเพื่อรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายค่าจ้างของประเทศ และมีอำนาจหน้าที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งลูกจ้างคนเดียวควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้” (ประกาศฯ เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518) โดยค่าจ้างมีอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ แต่ต่อมาประมาณปี 2537 มีการประกาศลอยตัวค่าจ้างให้เป็นแบบเขต ทำให้มีอัตราค่าจ้างก่อนปี 2554 ต่างกันมากถึง 32 เขต ต่ำสุดที่จังหวัดพะเยา 159 บาท สูงสุดอยู่ที่กรุงเทพและปริมณฑล 221 บาท สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เห็นว่า การปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัว มีราคาต่างกันมากก็จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา คือ เกิดการอพยพของคนงานจากเขตที่ค่าจ้างต่ำไปสู่เขตค่าจ้างที่ราคาสูงกว่า ทำให้ชนบทล่มสลายเพราะคนหนุ่มสาวหลั่งไหลเข้าสู่เมือง ทิ้งไว้แต่เพียงผู้สูงอายุ เด็ก สังคมครอบครัวแตกแยก ที่ดินไม่ถูกใช้ประโยชน์ทางการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่มีแรงงานทำงานในภาคเกษตร ผู้สูงอายุไม่มีแรงทำ ที่สุดก็ถูกกลุ่มทุนนักธุรกิจกว้านซื้อ กักตุนเก็งกำไร เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหานานัปการ และที่สำคัญ คำถามแบบง่าย ๆ ที่เกาะกินถึงศักดิ์ศรีของคนงาน คือทำไมเมื่อข้าราชการ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจปรับขึ้นค่าจ้าง จึงใช้อัตราการปรับค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศได้ แต่อัตราค่าจ้างที่ใช้กับลูกจ้างเอกชนจึงต้องมีอัตราค่าจ้างที่ไม่เท่ากัน โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามเขต สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงเสนอให้มีอัตราค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในช่วงปี 2554 เพราะรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ได้กำหนดเป็นนโยบายที่ให้มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายก็เปลี่ยน ในคราวการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ตามที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยจะขึ้นอีกระหว่าง 5 – 10 บาท แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้างเลย มี 8 จังหวัด 2) ปรับขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด 3)ขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด และ 4) ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ขั้นตอนต่อไป คือ นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

P5010080

การปรับค่าจ้างในครั้งนี้นั้น กลับไปสู่ที่เดิม วังวนปัญหาแบบเดิม ๆ ที่จะตามมาโดยอ้างยืนยันว่า การปรับค่าจ้างในครั้งนี้ ยึดหลักตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และการนำ 10 ปัจจัย คือ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาการผลิต ความสามารถในการผลิต มาตรฐานการครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม แต่ต้องไม่ลืมว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้รับการปรับตั้งแต่ปี 2555 จนถึง ปี 2559 เป็นระยะเวลาถึง 4 ปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี เท่ากับอัตราเงินเฟ้อผันแปรถึงร้อยละ 12 หากคำนวณจากฐานค่าจ้างที่ 300 บาท ควรปรับขึ้น 36 บาทค่าจ้างขั้นต่ำก็จะเป็น 336 บาทต่อวัน ยังไม่ได้นำปัจจัยอื่นอีก 9 ปัจจัยมาคิดคำนวณ และนั่นคือเหตุผลที่ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เสนอปรับค่าจ้าง 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ คือ เหตุผลที่ควรรับฟังและมีความเหมาะสมสอดคล้อง แต่น่าเสียดายที่กลไกที่เกี่ยวข้องยืนกรานไม่ยอมรับฟัง

หากไม่คิดอะไรมากเพียงแค่ได้ดีกว่าไม่ได้ ปรับดีกว่าไม่ปรับ ก็ฟังได้และคนอธิบายให้ดูดีได้ แต่การปรับเช่นนี้ อย่างที่เรียนมันไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นจริง แล้วจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา และแน่นอนว่ากว่าจะถึงมกราคม 2560 ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค คงมีการปรับไปล่วงหน้าแล้ว ทุกครั้ง การปรับค่าจ้างเป็นการปรับตามราคาสินค้า มันจึงไม่มีทางที่คนงานจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเงินออม…อาจจะพูดแบบกำปั้นทุบดินว่าไม่ปรับค่าจ้างก็ได้ แต่ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าให้ได้…ทุกคนก็จะตอบว่า..เป็นไปไม่ได้…ไม่มีทาง…การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นปัญหาที่ทำให้มีการถกเถียงทุกครั้งเมื่อจะปรับ และคงเป็นแบบนี้ต่อไป..ตราบใดที่รัฐบาลยังคงฟังเสียงนักลงทุน นักธุรกิจ โดยไม่ฟังเสียงคนงาน

สำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้พยายามดำเนินการปรับสิทธิประโยชน์เรื่องสภาพการจ้างมาเป็นระยะ แม้จะไม่ได้ตามจำนวนหรืออัตราตามที่ต้องการ แต่ก็ฟันฝ่าจนสำเร็จทุกเรื่อง เริ่มจาก 1) การปรับโครงสร้างเงินเดือนของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เริ่มต้นที่ 9,040 บาท ไปจนเต็มเพดานที่ 140,000 บาท (ขยายเพดานขั้นเต็มออกไปแต่ละระดับประมาณ 6.5 ขั้น) มีผลย้อนหลัง 30 กันยายน 2557   2) การปรับเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่เสนอไปสำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นเงินเดือน เป็นช่วงปรับขึ้นร้อยละ 4 รัฐวิสาหกิจที่ขึ้นเงินเดือนเป็นแบบขั้นปรับขึ้นคนละ 1 ขั้น ทุกระดับ แต่ ครม. มีมติ ให้เพียงลูกจ้างที่มีอัตราเงินเดือน 43,890 บาท ลงมาให้ปรับขึ้นร้อยละ 2 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ปรับเงินเดือนเป็นแบบช่วง และ 0.5 ขั้น สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นเงินเดือนเป็นระบบขั้น มีผลย้อนหลัง 1 ธันวาคม 2557 (อยู่ระหว่างส่งหนังสือเวียนมติ ครม. ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งปฏิบัติ) 3) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงสุดของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (ตามมาตรฐานสภาพการจ้างขั้นต่ำของรัฐวิสาหกิจ) คือ 10 บาท ดังนั้นลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งทุกคนจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 310 บาทตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 คือการปรับยกแผงทุกคน ทั้งคนที่เต็มขั้นและยังไม่เต็มขั้น

มองอย่างเป็นระบบ มองอย่างนักต่อสู้เพื่อสิทธิของขบวนการแรงงาน คือ การก้าวเดินของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นั้นคือ สิทธิประโยชน์ที่ สรส. ดำเนินการให้แก่องค์กรสมาชิก และแม้ไม่เป็นองค์กรสมาชิก สรส. แม้ไม่จ่ายค่าบำรุงให้ สรส. นั่นคือ เหตุผลว่าทำไมต้องเป็นสมาชิกของ สรส. และขอเชิญชวนองค์กรที่ยังไม่เป็นสมาชิก สรส. สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก

จังหวะก้าวต่อไป สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เตรียมขยายผลการคุ้มครองสิทธิคนงานที่เกษียณอายุ ความมั่นคงบั้นปลายชีวิต รวมทั้งสิทธิของประชาชน ชาวนา ชาวไร่ เพื่อความเสมอภาค ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของคนงาน
และประชาชน