ความสามัคคีคือพลังชี้ขาด..

20160501_111046

                                                                                                                สกุล สื่อทรงธรรม ประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน[1]

ถ้าเราเชื่อว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานคือการจัดตั้งอำนาจต่อรอง

ถ้าเราเชื่อว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานในระดับบริษัทคือการจัดตั้งอำนาจเพื่อต่อรองกับฝ่ายจัดการของบริษัท

เราก็ต้องเชื่อต่อไปว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานในระดับอุตสาหกรรมคือการจัดตั้งอำนาจเพื่อต่อรองกับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ซึ่งย่อมเป็นการแน่นอนว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานระดับอุตสาหกรรมยากลำบากกว่าการจัดตั้งสหภาพแรงานระดับบริษัท

ดังนั้น หากไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานในระดับอุตสาหกรรมได้แต่แรก และสามารถตั้งได้ในระดับบริษัท ก็ต้องพยายามรวมตัวกันเป็นหลาย ๆ สหภาพแรงงานในสาขาอาชีพเดียวกัน เป็นสหพันธ์แรงงาน

สหพันธ์แรงงานต้องพยายามกำหนดเป้าหมายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความมั่นคงของการทำงานในอุตสาหกรรมที่เป็นสาขาอาชีพเดียวกัน

ถ้าเราต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของรัฐที่สะท้อนถึงการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ  การรวมตัวกันในระดับสภาแรงงานจึงเป็นแนวทางไปสู่เป้าหมายตามขั้นตอนการสร้างอำนาจต่อรองของคนงาน

แต่ต้องไม่ลืมว่า อำนาจต่อรองที่มีผลชี้ขาดมิใช่มีเพียงพลัง หากยังต้องมีเหตุผลประกอบด้วย

องค์การแรงงานในประเทศไทยสามารถรวมตัวกันให้เห็นได้ทั้งสามขั้นตอน คือมีสหภาพแรงงาน  สหพันธ์แรงงาน และมีสภาแรงงาน

บางส่วนก็รวมกันเป็นรูปแบบสมาพันธ์แรงงาน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสหพันธ์แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน อย่างน้อยสองสหพันธ์แรงงานขึ้นไป

นับถึงวันนี้ เรามีสภาแรงงานทั้งสิ้นมากกว่า 15 แห่ง ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมที่มีองค์การลูกจ้างจัดตั้งขึ้นมามีเพียงองค์กรเดียว  สามารถกำหนดทิศทางด้านแรงงานให้สนองตอบความมั่นคงในการทำงานของแรงงานทุกสาขาอาชีพได้มายาวนาน

การมีสภาแรงงานหลายแห่ง บางครั้งก็สามารถรวมตัวกันได้ในการต่อสู้ระดับนโยบายกับภาครัฐ แต่มักมีระยะเวลาการรวมตัวกันน้อย เรียกว่าเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจหรือเฉพาะประเด็น จึงขาดพลัง และในการต่อสู้ส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐสามารถดึงเกมให้ยาวเพื่อให้การรวมตัวของฝ่ายแรงงานคลายตัว และสลายกลับไปที่ตั้งเดิม

ความสำเร็จของการรวมตัวกันดังกล่าวจึงมีน้อย และคงอยู่ในสภาพอย่างนี้ไปอีกนาน หากผู้นำแรงงานในแต่ละสภาแรงงานยังคงยึดติดในการต้องมีสภาแรงงานของตนเอง

ลองมาศึกษากระบวนการรวมตัวของสหพันธ์แรงงานสาขาอาชีพต่าง ๆ ในระดับโลกดูว่าเขามีขั้นตอนอย่างไร

ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990  ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมในการประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานพาณิชย กรรมและอาหาร หรือ UFCW ของสหรัฐอเมริกาที่จัดขึ้นในโตรอนโต แคนาดา ได้ไปเห็นงาน “มงคลสมรส” (marry) ซึ่งก็คือการรวมเป็นหนึ่งเดียวของสองสหภาพแรงงานสายพาณิชยกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐกับของแคนาดาเข้าด้วยกัน กลายเป็นสหภาพแรงงานระหว่างประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ

ประธานสหภาพแรงงานพาณิชยกรรมของแคนาดาเป็นสตรี ในขณะที่ของสหรัฐเป็นบุรุษ  จึงมีการแซวกันเป็นที่ครื้นเครงก่อนการลงมติเพื่อรวมตัวในที่ประชุมใหญ่อันประกอบด้วยตัวแทนคนงานจากทุกมลรัฐของสองประเทศกว่าสองพันคน สักขีพยานที่เป็นแขกรับเชิญจากสหพันธ์แรงงานพาณิชยกรรมระหว่างประเทศ หรือ เฟียต จากทุกภูมิภาคของโลกราวห้าสิบคน ซึ่งรวมทั้งผู้เขียนด้วย

โดยฝ่ายชายบอกว่า ที่มาจัดประชุมในโตรอนโตซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าสาวนั้น ก็เป็นไปตามประเพณีที่ฝ่ายชายต้องมาขอฝ่ายหญิงถึงบ้าน ต้องขอบคุณที่มีการต้อนรับอย่างอบอุ่น เชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วคงเป็นครอบครัวใหญ่ที่สามารถดูแลสมาชิกได้เป็นอย่างดี  ฝ่ายหญิงก็บอกที่ประชุมว่าที่ยอมแต่งงานคราวนี้ไม่ใช่ว่ามาแบบตัวเปล่านะ  สหภาพมีสมาชิกกว่าล้านคน ไม่มีหนี้สินต้องกังวล เชื่อว่าเมื่อมาเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้วจะทำให้มีอำนาจต่อรองเข้มแข็งขึ้น สามารถอยู่ได้ในสังคมที่สมาชิกเราเริ่มจะมองเห็นภัยหากไม่ทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

เบื้องหลังการรวมตัวคือความเจริญของเทคโนโลยีประกอบกับกระแสทุนโลกาภิวัตน์ ที่คุกคามความมั่นคงในการทำงานของคนงานอย่างกว้างขวาง เกิดระบบการค้าเสรีที่เปิดช่องทางให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า เพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานข้ามชาติ ทำให้ทุนไร้สัญชาติและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามา กระทบต่อกระบวนการผลิต การจ้างงาน และการตลาดในอุตสาหกรรมดั้งเดิม

การรวมตัวข้ามอุตสาหกรรมของคนงานในหลายประเทศจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ในทศวรรษดังกล่าว เป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาสถานะเดิมของขบวนการแรงงานที่ถูกคุกคามจากภายนอกอย่างฝังรากลึก ในเอเชียที่ขบวนการแรงงานมีความเข้มแข็ง เช่น ญี่ปุ่นก็มีการรวมตัวกันของคนงานห้างสรรพสินค้ากับสิ่งทอเข้าด้วยกัน

ที่น่าสนใจคือ กระบวนการหรือขั้นตอนก่อนการรวมตัวเป็นองค์กรเดียวกันขององค์กรแรงงานที่เคยมีขนาดใหญ่ตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปในแต่ละประเทศ การรวมตัวกันภายในประเทศอาจดูไม่ซับซ้อน แต่หากข้ามประเทศข้ามทวีป น่าจะเป็นเรื่องซับซ้อนมากและเป็นคำถามใหญ่ของผู้นำที่ต้องมีวิสัยทัศน์มองไปที่เป้าหมายเดียวกันจริง ๆ  เหมือนกับอาการของคนตื่นภัยที่จะต้องหาทางออกที่มีไม่กี่ทาง และทางที่ทุกฝ่ายไม่รู้สึกว่าตนเองสูญเสียย่อมจะต้องเป็นทางออกที่ทุกคนต้องการ แต่จะทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เสียขบวนและเป็นการออกไปสู่ที่ปลอดภัยร่วมกันอย่างมีอนาคต

เรื่องนี้ย่อมไม่จบในวันเดียว ตอนต่อไปจะเล่าถึงการรวมตัวกันเป็นยูเอ็นไอ ก่อนจะมาเป็นสหภาพแรงงานโลกหรือ Global Union

///////////////////////////////////

1 ประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  อดีตประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย