เหลียวหลังแลหน้า …ชะตากรรมกลุ่มสร.ย่านรังสิต ?

20161119_104846

“ประวัติศาสตร์ 40 ปี กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง” ย้อนมองอดีต กับการเปลี่ยนผ่านสูทศวรรษที่ 5

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2559 ไปร่วมการเสวนาเรื่อง “ย้อนมองอดีต 40 ปี กับการเปลี่ยนผ่านสูทศวรรษที่ 5” จัดโดย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง สนับสนุนโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ณ ห้องประชุมรังสิตพรอสเพอร์ เอสเตส (ใกล้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ) ถ.พหลโยธิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ภายหลังชมวีดีทัศน์ “ประวัติศาสตร์ 40 ปีกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง” 30 นาทีแล้ว ได้เข้าสู่การเสวนา โดยนักวิชาการ 3 คน และอดีตผู้นำสหภาพแรงงาน 1 คน คือ ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิฉ และนายวิชัย นราไพบูลย์ อดีตกรรมการสหภาพแรงงานไทยเมล่อน โพลีเอสเตอร์ ดำเนินการโดยนายไพบูลย์ แก้วเพทาย มูลนิธิไพศาล ธวัชนันท์ สรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1   รังสิต เริ่มกลายเป็นย่านอุตสาหกรรมตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรก พ.ศ. 2503 ในยุคเผจ็ดการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเริ่มดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า กำหนดให้มีพื้นที่สำหรับเน้นอุตสาหกรรมหนัก เช่น กิจการโลหะ แถวถ.ปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ ขณะที่ย่านรังสิต เน้นอุตสาหกรรมแบบใช้แรงงานมาก เช่น กิจการสิ่งทอ-ตัดเย็บเสื้อผ้า โดยมีแหล่งแรงงานจากปทุมธานี และรอบกรุงเทพฯ ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 นำไปสู่การเริ่มปรึกษาหารือจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง บ่อนเกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2516 ไม่นานนัก โดยมีผู้นำสหภาพจำนวน 6 แห่ง ร่วมประชุม คือ 1.สร.เส้นใยประดิษฐ์การทอ 2.สร.แรงงานไทยคูราโบ 3.สร.เทยินโพลีเอสเตอร์ 4.สร.ไทยฟิลาเม้นท์ 5.สร.ไทยบริดจสโตน และ 6.สร.คนทำยางแห่งประเทศไทย นำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์กลุ่มย่านฯ 3 ข้อดังนี้

  1. ร่วมมือให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทางกฎหมาย
  2. ให้การศึกษาแรงงานและยกระดับความคิดด้านการเมือง
  3. ต่อต้านเผด็จการ

เรื่องน่าสนใจ คือ ให้การศึกษาทางการเมือง และต่อต้านเผด็จการ ซึ่งน่าจะเกิดจากความตื่นตัวทางประชาธิปไตยของมวลผู้ใช้แรงงานในช่วงก่อนทหารยึดอำนาจ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ไม่พบวัตถุประสงค์ของกลุ่มสหภาพแรงงานที่ประกาศเปิดเผยออกมาลักษณะนี้ แต่อาจมีผู้นำสหภาพจำนวนน้อยที่กล้าพูดในห้องประชุม หรือ แสดงออกในทางอื่น เช่นคัดค้านเผด็จการทางรัฐสภา ร่วมเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง สนับสนุนรัฐประหารเพื่อให้ได้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

20161119_104859

ประการที่ 2  การรวมตัวเข้ามาของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตในช่วงก่อนประมาณปี 2519-2524 พบว่า เพราะผลพวงจากความตื่นตัวเรียนรู้ทางการเมืองของแรงงาน และยอมรับความคิดปัญญาชนฝ่ายซ้าย (ตามเจ้าหน้าที่รัฐ+นายจ้างกล่าวหาใส่ร้าย)ขณะนั้นแม้มีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยห้ามลูกจ้างนัดหยุดงาน และนายจ้างปิดงาน ตามพ.ร.บ.แรงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นภัยสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมกักขังนานแค่ไหนก็ได้ กำลังคุกคามการต่อรองของลูกจ้างอยู่ แต่สหภาพบางแห่งในกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง ก็ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสหภาพกว่า 10 แห่งในการต่อรองนายจ้าง และส่งหนังสือเรียกร้องถึงแรงงานจังหวัดและสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น IUF,   บริษัทเป๊ปซี่ที่สำนักงานใหญ่ที่อเมริกา

แม้สร.ไทยบริดจสโตนจะยืนหยัดผละงานต่อรองนายจ้างโดยไม่ประสบความสำเร็จในปี 2522 เพราะมีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 46 คน แต่ลูกจ้างสำนักงานใหญ่ได้กลับเข้าทำงานต่อไป ขณะที่การหยุดงานของพนักงานติดรถและฝ่ายขายของบริษัทเสริมสุข (เป๊ปซี่)เพื่อต่อรองขอเพิ่มค่าเปอร์เซ็นต์การขาย โดยกลุ่มย่านรังสิตรณรงค์ให้สมาชิกในพื้นที่งดซื้องดดื่มเป๊ปซี่และมิรินด้า และขอความร่วมมือร้านค้าในโรงงานงดจำหน่าย ห้ามรถขนเครื่องดื่มเข้าโรงงาน จนกระทั่ง คนงานและที่ปรึกษาที่นายจ้างปลดออก ได้ร้องเรียนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.)จป.ได้รับชัยชนะ บริษัทต้องยอมรับคนงานกลับเข้าทำงานในเดือนมีนาคม 2524

20161119_123205

ประเด็นที่ 3 ผู้นำสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง เป็นแกนสำคัญในการจัดตั้งสหพันธ์แรงงาน และเข้าร่วมส่งเสริมความเข้มแข็งของสภาองค์การลูกจ้างด้วย เช่น การจัดตั้งสหพันธ์แรงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแห่งประเทศไทย (สพท.) เมื่อปี 2524 และมีบทบาทนำในกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (LCT) ในช่วงปี2521-2523 เช่นนายมนตรี ชนชนะ,น.ส.สมจันทร์ อินทโร ได้เป็นกรรมการฝ่ายสตรีคนแรกของสภาแรงงานฯ ช่วงที่มีนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ และนายอารมณ์ พงศ์พงัน มีบทบาทนำอยู่ รวมทั้งมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มอื่น เช่นกลุ่มสหภาพแรงงานย่านพระประแดง,กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ,กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นนโยบายแรงงาน คือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ การแก้ไขกฎหมายจ้างงานระยะสั้น การให้มีกฎหมายลาคลอด 90 วัน และให้มีกฎหมายประกันสังคม

ประการที่ 4  บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการรวมตัวทำงานของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงในอดีต และควรนำมาพิจารณาปรับปรุงในอนาคต คือ

  • สหภาพจะรวมตัวเข้มแข็งได้แท้จริง ต้องเกิดจาก 1.ความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจกรรมการบางคน 2.มีระบบการบริหารที่เป็นประชาธิปไตยไม่ติดกับกรอบกฎหมายและกรอบคิดของกรรมการบางคน และ 3. ต้องยึดหลักสมานฉันท์ ที่มีเอกภาพจิตสำนึกทางชนชั้นแรงงาน หนุนช่วยซึ่งกันและกัน แม้อยู่ต่างโรงงานตางกิจการ ไม่ใช่แค่สามัคคีในโรงงาน หรือในกิจการเดียวกันเท่านั้น
  • ยุทธศาสตร์สู่ความเข้มแข็ง จะเป็นไปได้ ประกอบด้วย 1.อุดมการณ์ ความคิด-กลยุทธการทำงาน 2.จิตวิญญาณของความเป็นแรงงาน สำนึกต่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และ 3. การจัดตั้ง ที่ต้องคำนึงทั้งจำนวนสมาชิก, การจัดเก็บค่าบำรุงและตั้งกองทุนนัดหยุดงาน,การจัดการกำลังคน-ระบบงาน

ใครจะมีความคิดจัดตั้งพรรคการเมือง, มีแนวคิดสังคมนิยม หรือ คอมมิวนิสต์ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็งก่อน (Union First) ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยังไม่ค่อยจ่าย ค่าสมาชิก เข้าประชุมไม่ถึงครึ่งฯลฯ สหภาพคงจะอยู่รอดได้ลำบาก

  • สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมืองทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก อุตสาหกรรมหลักในกลุ่มย่านรังสิต คงไม่ใช่สิ่งทออีกต่อไป รูปแบบการจ้างงาน-การควบคุมแรงงานมีความซับซ้อนหลากหลายขึ้น ขณะที่ความอ่อนแอทางความคิดและการจัดตั้งต่อรองของสหภาพยังทรุดโทรมถดถอย ผู้นำสหภาพจะพึ่งพิงคบหาเฉพาะเพื่อนพ้องในโรงงานในพื้นที่เดียวกันในวงการเดียวกัน และทำงานองค์กรเหมือนเดิมๆต่อไป คงจะไม่สามารถพัฒนาเติบโต-ให้เข้มแข็ง-ก้าวเดินฝ่าไปข้างหน้าได้?

รายงานโดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ