ย้อนอดีต 25 ปี ทนง โพธิ์อ่าน นักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน

28

โดย ทวีป กาญจนวงศ์

               คุณทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย รองประธานสมาพันธ์แรงงานเสรีระหว่างประเทศภาคพื้นเอเซียแฟซิฟิค เลขาธิการสภาพแรงงานขนส่งสินค้าขาออก และโดยเป็นสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการประกันสังคม และผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง

คุณทนง โพธิ์อ่าน ได้หายสาบสูญไป เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ซึ่งใน ระหว่างพี่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534

ต่อมาขบวนการแรงงานนำโดยสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานกรรมกร คณะกรรมการประสานงานเฉพาะกิจติดตามการหายตัวของคุณทนง โพธิ์อ่าน ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงตั้งแต่รัฐบาลนายอนันท์ ปัณยารชุน รัฐบาลนายชวน หลีกภัย จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำตอบและรายงานใดๆจากหน่วยราชการที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงได้

จึงทำให้ครอบครัวและขบวนการแรงงานมั่นใจว่าคุณทนงได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อตรงกับวันที่ 19 มิถุนายน ของทุกปี ขบวนการแรงงานพี่เกี่ยวข้องจึงได้จัดกิจกรรมรำลึกและพิธีกรรมทางศาสนา เพื่ออุทิศกุศลไปให้ โดยร่วมกันครอบครัวของคุณทนง โพธิ์อ่านด้วย ปัจจุบันมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับขบวนการแรงงานได้จัดพิธีกรรมรำลึก และพิธีกรรมทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลไปให้ ร่วมกับผู้ใช้แรงงานที่มีคุณูปการที่เสียชีวิตไปแล้วทุกคน เป็นประจำทุกปีเสมอมา

ผลงานการต่อสู้เพื่อแรงงาน

จากวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 หลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจได้ออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 และดำเนินการออกกฎหมายยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กำหนดให้ที่ปรึกษาแรงงานต้องจดทะเบียนต่อกรมแรงงาน และกำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจจดทะเบียนเป็นสมาคม

อันเป็นเหตุให้สหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนสภาพมาเป็นสมาคมขาดคุณสมบัติในการรวมตัวเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างตามพรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทำให้ลูกจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจต้องแยกออกจากกัน ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาสิทธิประโยชน์ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมก็ถูกตัดสิทธิไปด้วย

คุณทนง โพธิ์อ่าน เห็นว่าประกาศฉบับนี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง  และทำลายพลังอำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงานให้อย่างอ่อนแอ เขาจึงสวมวิญญาณนักต่อสู้ที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นเคลื่อนไหวทันที ทั้งๆที่รู้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นจะมีอันตรายใหญ่หลวงอยู่เบื้องหน้า และมีคำสัมภาษณ์ของ พลเอกสุจินดา คราประยูรว่า ถ้ามีการเคลื่อนไหวคัดค้านยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ รสช.มีมาตรการอยู่แล้วแต่บอกมิได้ว่าจะทำอะไรเรามีแผนตลอด

วันที่ 14 มิถุนายน 2534 สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของคุณทนง โพธิ์อ่าน ได้จัดประชุมใหญ่กลางท้องสนามหลวง เรียกร้องให้คืนสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจ และยกเลิกประกาศรสช.ฉบับที่ 54 คืนสิทธิให้กับคนงานรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้ยื่นหนังสือกับรสช.กรมแรงงานกระทรวงมหาดไทยมาก่อนแล้ว

และยิ่งกว่านั้นในวันที่ 3-27 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่จัดขึ้นที่นครเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คุณทนง โพธิ์อ่าน ถึงคิวที่จะได้เดินทางไปร่วมประชุม แต่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงคุณทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ให้งดการเดินทางไปประชุมใหญ่ โดยเกรงว่าจะไปพูดเรื่องการแยกรัฐวิสาหกิจ ออกจากกม.แรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งประกาศรสช.ฉบับที่ 54 ที่ลิดรอนสิทธิของผู้ใช้แรงงาน แต่คุณทนงยืนยันว่าตนจะร้องเรียนเรื่องนี้ต่อสมาพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศ (IEFTU) ซึ่งสภาแรงงานเป็นสมาชิกอยู่ และต่อองค์การแรงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ

ต่อมาปรากฏว่าหลังจากที่คุณทนงได้หายตัวไปแล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)สหพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา (AFLEIO) ได้เร่งรัดให้รัฐบาลไทยติดตามการหายตัวของคุณทนง โพธิ์อ่าน ในหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่มีคำตอบอะไรที่ชัดเจน

บทบาทการเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานด้านอื่น

นอกจากการเคลื่อนไหวการคืนสิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างทุ่มเทอย่างจริงจังในทุกรูปแบบแล้ว การเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นผลงานหนึ่งที่คุณทนงได้ทุ่มเทด้วยสรรพกำลังอย่างเอาจริงเอาจัง เช่นเดียวกันในทุกปีจะเรียกประชุมกรรมการสภาและสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานเพื่อกำหนดตัวเลขในการยื่นข้อเรียกร้องและเคลื่อนไหวร่วมกัน กับแนวร่วมเครือข่ายแรงงานทุกกลุ่มในทุกปีจะมีการชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องกับกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลตลอดมา ตั้งแต่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานประมาณปี พ.ศ. 2527 ถึงบี 2534 ที่หายตัวไป ค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนั้นถัวเฉลี่ยขึ้นปีละ 10 บาท โดยแบ่งเป็นโซนประมาณไม่เกิน 5 โซน แต่ไม่ใช่รายจังหวัด ปีไหนที่ค่าจ้างขึ้นน้อยคุณทนงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าขอปลาทูได้ปลาซิว

การเคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคมควบคู่ไปกับองค์การแรงงานอื่นๆ เช่นสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย 7 กลุ่มย่านและเครือข่ายแรงงานอื่นๆ โดยจัดสัมมนาร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆที่มีความคิดร่วมกัน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมาก็จะมีข้อเรียกร้อง พรบ.ประกันสังคมมาตลอดจนประสพความสำเร็จในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ปี 2533 สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ผ่านพรบ.ฉบับนี้อย่างเอกฉันท์โดยไม่มีเสียงคัดค้าน

การคัดค้านการจ้างงานระยะสั้น กรมแรงงานในขณะนั้นได้อนุญาตได้จ้างงานระยะสั้นหรือเป็นการชั่วคราวได้ เป็นการส่งเสริมการลงทุนในยุคที่เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นเหตุให้ลูกจ้างภาคเอกชนได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง คุณทนง โพธิ์อ่าน ก็ได้คัดค้านอย่างแข็งขันในเรื่องนี้เช่นกัน และในวันแรงงานแห่งชาติในขณะนั้นก็ได้บรรจุข้อเรียกร้องให้หยุดจ้างงานระยะสั้นไว้ด้วย

คุณทนง โพธิ์อ่านต้องการเห็นความเป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานจึงตกลงให้สัตยาบันกับสภาองค์การลูกจ้าง 4 สภาแรงงานโดยยุบรวมกัน โดยสภาองค์การลูกจ้างของคุณทนง โพธิ์อ่านได้ผ่านมติที่ประชุมใหญ่ ต่อมาคุณทนงหายตัวไป มติดังกล่าวจึงไม่นำสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง นี่เป็นมุมหนึ่งที่ผู้นำคนหนึ่งมีบทบาท มีจิตวิญญาณต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงานอย่างทุ่มเทจริงจังจนเสียชีวิต