ปริมาณ vs. คุณภาพ ผู้นำแรงงานคือผู้เลือก

P5010080

สกุล สื่อทรงธรรม ประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

คนไทยเราออกจะโดดเด่นในการโอ้อวดเชิงปริมาณบ่อย ๆ  เราได้เห็นการทำผัดไทย-หอยทอดจานใหญ่ที่สุดในโลก  การเต้นแอโรบิคที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลก  หรือชอบทำอะไรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เช่น ช้างสามเศียร เป็นประติมากรรมลอยตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พระปฐมเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือสถิติที่ไม่น่าอภิรมย์ที่สุดในโลก เช่น  เป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีรถติดมากที่สุดในโลก เป็นต้น

การหลงใหลในเชิงปริมาณ ไม่ว่าจะมากที่สุดหรือใหญ่ที่สุด ทำให้เราหลงทางในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องแรงงานตอนที่รัฐบาลยังไม่เปิดให้มีการจดทะเบียนสมาคมลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานก่อน พ.ศ. 2515 บรรดาลูกจ้างก็เรียกร้องขอให้มีการรวมตัวของคนงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

เมื่อตั้งสมาคมลูกจ้างได้แล้ว ก็ตั้งกันขนานใหญ่ ตั้งใครตั้งมัน หรือต่างคนต่างตั้ง รัฐวิสาหกิจหนึ่งแห่งก็ตั้งสมาคมขึ้นมาหนึ่งแห่ง  บริษัทหนึ่งแห่งก็ตั้งสมาคมขึ้นมาหนึ่งแห่ง

ไม่เคยคิดทางยุทธศาสตร์เลยว่า การรวมตัวหากต้องการมีอำนาจต่อรองจะต้องจัดตั้งองค์กรในรูปแบบใด  บางคนเคยไปประชุมไตรภาคีมาแล้ว แต่ก็มิได้ซึมซับเอาตัวอย่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งในประเทศอื่น ๆ มาเป็นแนวทางจัดตั้ง

เมื่อจัดตั้งกันมากเข้า คิดว่าจะมารวมกันเป็นสหพันธ์แรงงาน เป็นสภาแรงงาน ได้แนวคิดว่าสภาแรงงานเป็นองค์กรสูงสุด การจัดตั้งตามกฎหมายก็ไม่ยากนัก แค่รวมสหภาพแรงงาน 15 แห่งมาร่วมกันจดทะเบียนก็ได้มาแล้วหนึ่งสภา

ด้วยความถือดีอย่างหนึ่ง คิดไม่รอบด้านอย่างหนึ่ง ขาดเชิงชั้นทางยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง  ทำให้องค์กรของผู้ใช้แรงงานกระจัดกระจายจนการมีเหมือนไม่มี เพราะไร้อำนาจต่อรอง ไร้ความหมาย  ยุคที่ยังไม่แยกเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เราได้เห็นหนึ่งรัฐวิสาหกิจมี 21 สหภาพแรงงาน ดังนั้น แต่ละสถานประกอบการที่มีสหภาพแรงงานสองแห่งขึ้นไปจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

กรมแรงงานในยุคแรก หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในยุคปัจจุบัน จึงไม่สนใจว่าแต่ละสภาแรงงานที่มาขอจัดตั้ง มีจำนวนสมาชิกเท่าไร ขอให้มีจำนวนสหภาพแรงงาน 15 แห่งครบมาขอจดจัดตั้งสภาแรงงานใหม่ ก็จดทะเบียนเป็นสภาแรงงานให้

แม้จะมีการแบ่งแยกสหภาพแรงงานเอกชนกับรัฐวิสาหกิจออกจากกัน แต่จำนวนสภาแรงงานก็มิได้ลดลง  จนถึงขณะนี้มีมากกว่า 15 สภาแรงงานเข้าไปแล้ว

สหภาพแรงงานส่วนหนึ่ง เห็นว่าการเป็นสภาแรงงานเริ่มเฝือ จึงจัดตั้งเป็นกลุ่มที่เรียกว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แรกตั้งขึ้นมา ส่วนราชการไม่สนใจ คิดแบบแคบ ๆ ว่าเมื่อไม่มีทะเบียน ถือว่า เป็นองค์กรเถื่อน จึงไม่เชิญมาร่วมสังฆกรรม  ต่อเมื่อภายหลังที่คสรท.ออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องอย่างมีระบบการจัดตั้ง และมีการกำหนดเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่มีผลกระทบเป็นที่สนใจของสื่อ หน่วยงานที่กำกับการดำเนินงานของสหภาพแรงงานจึงมีการยอมรับมากขึ้น แต่ก็จำกัดในการขับเคลื่อนประเด็นด้านแรงงาน  ส่วนการมีส่วนร่วมในไตรภาคีที่เป็นทางการ ก็ให้สภาแรงงานมีบทบาทไป

ความพอใจของเหล่าสภาแรงงานจึงอาจมีเพียงการได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานของกระทรวง ไตรภาคีในประเทศ กับไตรภาคีในการไปประชุมที่จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่หมุนเวียนกันไป

มองจากภายนอก เมื่อมีข่าวการปิดงาน การเลิกจ้าง หรือการนัดหยุดงาน หากเกิดกับสหภาพแรงงานที่ไม่สังกัดสภาแรงงานใด  การต่อสู้ของลูกจ้างจะค่อนข้างโดดเดี่ยว  หากจะมีกองหนุนมาบ้างก็จะเป็นเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่มีสหภาพและอยู่ในกิจการหรือพื้นที่เดียวกัน  สหภาพแรงงานที่ไม่เป็นสมาชิกสภาแรงงานจะคาดหวังความช่วยเหลือจากสภาแรงงานใด ๆ คงจะยาก  ส่วนใหญ่ถ้าจะได้รับความช่วยเหลือก็จะมาในรูปการให้กำลังใจ การมาปรากฏตัวโดยขาดฐานพลังอำนาจต่อรองสนับสนุน

ในเมื่อสถานการณ์แรงงานยุคดิจิตัล หรือ 4.0 เรียกร้องต้องการความสามัคคีในขบวนการแรงงานอย่างมาก อนาคตที่มองเห็นได้คืออัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างงานมารองรับคนงานให้มีงานทำเต็มเวลาได้ คนงานไร้ฝีมือจะอยู่ในสภาวะลำบากที่สุด แม้จะมีหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านศักยภาพกับสภาพความพร้อมที่น้อยนิดของส่วนราชการ ฝึกอบรมฝีมือแรงงานไปแล้วก็คงไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะอาชีพที่จะต้องไปค้าขายหรือลงทุนเอง หรือจะพบกับสภาพที่มีแต่คนทำคนขาย แต่ขาดคนซื้อ

เราได้เห็นการปฏิรูปของขบวนการแรงงานในระหว่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว  หัวใจสำคัญที่ทำให้บทบาทขององค์กรแรงงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนคุ้มครองและมีอิทธิพลในการต่อรองกับฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็นทุนข้ามชาติหรือทุนบรรษัทระหว่างประเทศ ก็คือการรวมตัวให้มีองค์กรที่น้อยลง ส่วนที่แตกตัวออกไปคือเป็นแขนขาหรือสำนักงานในภูมิภาคที่จะให้บริการที่มีประสิทธิภาพแก่องค์กรสมาชิกแต่ละประเทศในภูมิภาคนั้น เช่น เมื่อก่อนเราเคยมี ICFTU กับ WFTU แต่ปัจจุบันคือ Global Union องค์กรหนึ่งเดียวของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก

ทำอย่างไรเราจึงจะได้เห็นสภาแรงงานที่เป็นหนึ่งเดียว เป็นคำถามที่ถามกันมานาน และคงจะถามต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ผู้นำแรงงานที่มีลักษณะเป็นผู้นำเดี่ยวยังสามารถบงการทิศทางภายในสภาแรงงานของตนได้  โดยมองว่าการไปรวมกับสภาแรงงานอื่น ๆ คือการเสียโอกาสที่จะเป็นหนึ่งในองค์กรแรงงานระดับชาติ

คงไม่เคยมองว่า การรวมตัวกันเป็น Global Union ขององค์กรแรงงานทั้งโลกมีความซับซ้อนกว่าการรวมตัวเป็นหนึ่งของสภาแรงงานทั้ง 15-16 แห่งมากนัก แต่ด้วยความมุ่งมั่น และมีการวางแผนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เขาจึงมีวันนี้ที่ทุกคนมีส่วนร่วมภูมิใจในความสำเร็จที่สังคมภายนอกยากที่จะเข้าใจ

ถ้าไม่เริ่มต้นนับหนึ่งที่จะก้าวไปสู่การเป็นสภาแรงงานที่มีคุณภาพ  ก็จงเพลิดเพลินอยู่ในปลักตมที่ตัดขาดจากโลกภายนอกต่อไป  แต่ถ้าพร้อมที่จะปฏิรูปขบวนการเพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือเอกภาพของแรงงานน ก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะแสดงความเสียสละเพื่อให้เกิดองค์กรสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวของผู้ใช้แรงงาน

แค่ได้เริ่มต้น ก็เชื่อว่าเสียงสนับสนุนจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ ก็คงไหลมาอย่างต่อเนื่อง และอำนาจต่อรองขององค์กรแรงงานในฐานะเป็นผู้นำขบวนการแรงงานก็จะเกิดขึ้นควบคู่กันไป