คำชี้แนะของคุณอารมณ์ ฯ ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

สุธี ประศาสน์เศรษฐ อดีตประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน (ปี ๒๕๓๕ ถึงปี ๒๕๓๘)

คุณ อารมณ์ พงศ์พงัน เคยเขียนไว้ว่า การต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ต้องเชื่อมโยงกัน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะหากสังคมไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ของชนชั้นผู้ใช้แรงงานย่อมบรรลุผลได้ยาก และเขาก็ได้ทุ่มเทพลังความคิดและปฏิบัติการย่างไม่ย่อท้อ ต่อสู้กับระบบเผด็จการอย่างเด็ดเดี่ยวจนวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นแบบอย่างที่องอาจกล้าหาญต่อนักเคลื่อนไหวแรงงานทั้งหลายตลอดมา ในวาระที่มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ทำการต่อสู้เคลื่อนไหวมายาวนานได้ถึงสามทศวรรษ ก็เป็นการสืบทอดภารกิจจิตใจและอุดมการณ์ของผู้นำแรงงานท่านนี้สืบมาอย่างน่าชมเชย

ในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา การต่อสู้ของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ประสบกับปัญหาฉกรรจ์ อันสืบเนื่องมาจาก การรุกคืบของกลุ่มทุนและรัฐมหาอำนาจทุนผูกขาด ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี รีแกน และนายกรัฐมนตรี แธตเชอร์ ซึ่งนำนโยบายตามลัทธิเสรีนิยมใหม่มาใช้ ทั้งในประเทศ และในขอบเขตทั่วโลกผ่าน ไอเอ็มเอฟ และ ธนาคารโลก ทำให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดบทบาทของรัฐ และบ่อนทำลายระบบสวัสดิการ นำระบบแรงงานยืดหยุ่น มาใช้อย่างกว้างขวาง มีการลดกฎระเบียบต่าง ๆ อันนำมาซึ่งการเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มทุนการเงิน ทุนอุตสาหกรรมโยกย้ายไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมไม่มี หรือขาดการบังคับใช้จริงจัง

นโยบายของรัฐทั้งหลายภายใต้โครงสร้างที่ทุนการเงินเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า “ระบบโลกาธนานุวัตน์” ก็คือการสนใจด้านเสถียรภาพราคา (เพื่อประโยชน์ของทุนการเงินเอง) โดยละทิ้งการขยายการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ อำนาจรัฐมีแนวโน้มตกอยู่มือของกลุ่มทุนการเงิน จนเกิดปรากฏการณ์ “รัฐธนาธิปไตย” (financialization of state) ดังเช่นที่กลุ่มทุนจาก วอลสตรีท (ศูนย์การเงินโลก) เข้าครองตำแหน่งอันทรงอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ก่อผลเชิงลบที่รุนแรง ต่อขบวนการแรงงาน คือระบบสหภาพแรงงาน ขาดอำนาจต่อรอง และอ่อนแรงลงมาก สมาชิกสหภาพแรงงานลดลงตลอดมา เมื่อเทียบกับช่วง ยี่สิบห้าปีหลังสงคราม การจัดตั้งและเคลื่อนไหวแรงงานยังไม่เข้มแข็งพอ ที่จะกดดันรัฐในการยับยั้งการโจมตีระบบสวัสดิการสังคม และระบบสหภาพแรงงาน. แน่นอน ปัญหาภายในขบวนแรงงาน ก็ย่อมมีอยู่ เป็นต้นว่า การนำขององค์กรแรงงานขนาดใหญ่ในหลายประเทศ มักหลุดจากการควบคุมของสมาชิก กลุ่มแกนนำมักมีท่าทีประนีประนอมกับระบบทุน

อีกทั้งองค์กรนำเหล่านี้มักมีระบบการทำงานคล้ายระบบราชการ มีขั้นตอน ลำดับการตัดสินใจไม่ทันสถานการณ์ อนึ่ง สถานการณ์เคลื่อนไหวบ้านเรา ยิ่งมีขวากหนามมากกว่า โดยที่การจัดตั้งของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ตกอยู่ในสมรภูมิที่กำหนดโดยระบบอำนาจนิยม รัฐและกลไกรัฐ มักจะตอบสนองกลุ่มทุน มากกว่าข้อเรียกร้องของคนงาน โดยอาศัยระบบไตรภาคีเป็นหน้ากากอันสวยหรู กลุ่มทุนก็เป็นปฏิปักษ์กับขบวนการแรงงานตลอดมา และสนับสนุนนโยบายเปิดเสรีแรงงานเพื่อล้มล้างอำนาจต่อรองของขบวนการแรงงาน และพยุงอัตราผลกำไรไว้ในระดับสูงต่อไป

ส่วนสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในขอบเขตทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่า แม้ในประเทศพัฒนาเอง ประชาชนทั่วไป ไม่พอใจและคาดหวังได้กับการเมืองระบบตัวแทน ดังที่เฉลี่ยแล้วอัตราการลงคะแนนเสียงมีแนวโน้มลดลง กล่าวโดยรวมนักการเมืองทำตนเป็นชนชั้นนำทางการเมือง ที่แปลกแยกจากประชาชน นอกจากช่วงใกล้เลือกตั้ง พวกเขานำพากับข้อมูลและผลประโยชน์ของกลุ่มทุน มากกว่าข้อเรียกร้องและปัญหาของประชาชนคนงานทั่วไป ทั้งนี้เพราะการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจำนวนมหาศาลของกลุ่มทุน ระบบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ ก็กลายเป็นระบบธนาธิปไตย ไม่แพ้สถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในปัจจุบัน ที่สำคัญ นโยบายเสรีนิยมใหม่เป็นการโอน อำนาจอธิปไตยจากปวงชนไปสู่กลุ่มทุนข้ามชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มทุนเข้าครองสมบัติสาธารณะใด ๆ โดยไม่แยแสต่อสิทธิของประชาชน

ในราวสองทศวรรษเศษที่ผ่านมา กลุ่มเผด็จการทหารในหลายประเทศต้องถอยเข้ากรมกอง ความหวังที่จะสร้างประชาธิปไตยอันแท้จริง ที่สะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของมวลชนก็เริ่มเกิดขึ้น นักวิชาการก็กล่าวถึงการจัดความ สัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนในการถ่ายโอนอำนาจด้วยความหวัง มีการค้นคว้าวิจัยถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเชิงลึก ในระหว่างนี้ การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานและภาคประชาชนอันหลากมิติก็ดำเนินไปในสถานการณ์การเมืองเปิด อันเห็นได้จากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่หลากหลาย แม้บางช่วงมีการเว้นวรรคเกิดขึ้น แต่ภายใต้ระบบการเมืองระบบตัวแทนที่ล้มเหลว และอิทธิพลครอบงำของระบบธนาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันในหลายประเทศ การเมืองกลายเป็น “ระบบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง” ไปแล้ว แต่แนวคิดนี้ ยังอ่อนกว่า แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” ที่เกิดขึ้นในบางประเทศ

ในท่ามกลางปัญหาการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่ยังอยู่ในกรอบของระบบธนาธิปไตย และการต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่ยังมีอุปสรรคอยู่มากหลาย แต่ทว่า การต่อสู้ของคนงานและภาคประชาชนทั่วโลกก็ยังยืนหยัดต่อไป โดยเฉพาะในประเทศต่าง ๆ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ และวิกฤตเศรษฐกิจโลก เช่น ในลาตินเอเมริกา ก็หันมาสนับสนุนรัฐบาลที่รักชาติและเคารพในอำนาจอธิปไตยของมวลชน ในยุโรป เราก็ได้เห็นการต่อสู้ของประชาชนคนงาน ต่อต้านนโยบายรัฐ อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ในสหรัฐฯ ก็เกิด “ขบวนการยึดวอลสตรีท” (Occupy Wall Street) ซึ่งขยายไปหลายรัฐ และในยุโรปด้วย ก่อนนี้ ก็มีการลุกขึ้นสู้เพื่อล้มอำนาจนิยมคณาธิปไตย ดังไฟลามทุ่งในโลกอาหรับ นอกจากนี้ ในหลายประเทศ ก็มีการพยายามฟื้นฟูบาทบาท สหภาพแรงงานและทำการปฏิรูปองค์กรแรงงานจากสมาชิกพื้นฐาน และเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเคลื่อนสังคมระดับโลกอย่างแข็งขัน

ภายใต้พลวัตการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของระดับโลกดังกล่าวโดยย่นย่อมานี้ จะเห็นว่าการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน และการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอันแท้จริง ยังต้องดำเนินควบคู่กันต่อไป และเราก็คงพร้อมใจกันน้อมรับคำชี้แนะของคุณอารมณ์ พงศ์พงันข้างต้น เป็นธงนำการเคลื่อนไหวต่อไป ด้วยความหวังและความมุ่งมั่น

ด้วยจิตคารวะและสู้ต่อไป