คสรท.ยื่นหนังสือถึงนายกขอให้ทบทวนและพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้เท่ากันทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงานไทยได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ขอให้ทบทวนและพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้เท่ากันทั่วประเทศ นำโดยนายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน ได้มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยปรับขึ้นจำนวน 5-10 บาท ใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ดังรายละเอียด
(1) กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้าง จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
(2) กลุ่มที่ปรับขึ้น 5 บาท จำนวน 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย
(3) กลุ่มที่ปรับขึ้น 8 บาท จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา
(4) กลุ่มที่ปรับขึ้น 10 บาท จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะองค์กรแรงงานที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ได้เสนอแนะแนวทางพร้อมเหตุผลประกอบเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบกลุ่มจังหวัดได้ขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ได้แก่
(1) มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ได้ขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย 4 ประการ ดังนี้
(1.1) ขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ของสหประชาชาติ ที่ ฯพณฯ ได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน -1 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้ใช้เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ทั้งนี้สองเป้าหมายสำคัญใน 17 เป้าหมายของวาระดังกล่าว คือ เป้าหมายที่ 8 ซึ่งระบุเรื่อง “ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” ซึ่งคำว่า “งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” เรื่องหนึ่งที่สำคัญที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ระบุไว้ คือ การได้รับค่าจ้างจากการทำงานที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกันโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเป้าหมายที่ 10 เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชากรในประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก
(1.2) ขัดแย้งกับเป้าหมายกลุ่ม G 77 ของสหประชาชาติ (G 77 เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศ) ที่ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่มในปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2559 เป็นต้นมา โดยประเทศไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “การเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน (inclusive partnership) เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม 17 เป้าหมายและ 169 เป้าประสงค์” ซึ่งเป้าหมายที่ 8 เรื่อง งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 10 เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชากรในประเทศ คือ 2 ใน 17 เป้าหมายดังกล่าวที่ไทยต้องดำเนินการให้บรรลุ
(1.3) ขัดแย้งกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ของรัฐบาลไทย ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ 2 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้มีรายได้ที่เป็นธรรม พอเพียง เลี้ยงตนเองได้ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยในวัยแรงงานได้ระบุเรื่อง “การทำงานตามหลักการทำงานที่มีคุณค่า เพื่อสร้างผลิตภาพเพิ่มให้กับประเทศ มีรายได้พอเพียงในการดำรงชีวิต มีงานที่เหมาะสมตามศักยภาพและประสบการณ์” และยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ได้ระบุเรื่อง “การสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้และการออม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มด้อยโอกาส” เป็นเป้าหมายสำคัญในเรื่องนี้
(1.4) ขัดแย้งกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 โดยได้กำหนดเป้าหมายเรื่องการพัฒนาศักยภาพคนให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศและการสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ที่ประชาชนทุกช่วงวัยมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Security) และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ในวัยแรงงานได้ระบุเรื่อง “การพัฒนายกระดับสมรรถนะฝีมือแรงงานเพื่อสร้างผลิตภาพเพิ่มให้กับประเทศ โดยมีรายได้ที่เหมาะสม” กับเป้าหมายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ระบุเรื่อง “การกระจายรายได้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น”
(2) มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ได้สร้างให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคมของประชากรกลุ่มต่างๆมากขึ้น ดังนี้
(2.1) ฐานคิดในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของคนทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานหลักการเดียวกัน แม้จะใช้กลไกเดียวกันในการพิจารณา คือ การเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่พบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาคราชการและภาครัฐวิสาหกิจ ที่ใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศ กล่าวคือ
11 ตุลาคม 2559 ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ในอัตราขั้นละ 200 บาทต่อปี รวม 25 ขั้น ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพ และทัดเทียมกับค่าตอบแทนของสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ปฏิบัติงานให้กับทางราชการตำแหน่งอื่นในพื้นที่เดียวกัน
4 ตุลาคม 2559 ครม.เห็นชอบเรื่องการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจสำหรับลูกจ้างที่มีค่าจ้างไม่เกิน 43,890 บาท โดยอัตราค่าจ้างแบบช่วงให้ปรับในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ได้รับอยู่เดิมอีกไม่เกินร้อยละ 2 สำหรับอัตราค่าจ้างแบบขั้น ให้ปรับในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ได้รับอยู่เดิมอีกไม่เกิน 0.5 ขั้น ทั้งนี้ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557
22 มีนาคม 2559 ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้แก่ข้าราชการทหารและข้าราชการตำรวจ ผู้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือน เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ กับข้าราชการประเภทอื่น ให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม
9 ธันวาคม 2557 ครม.เห็นชอบในหลักการปรับเงินเดือนข้าราชการ โดยให้ข้าราชการได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือร้อยละ 4 ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557
(2.2) มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด ไม่ได้นำข้อมูลที่แท้จริงเรื่องดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดมาพิจารณา ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ระบุเรื่องการใช้สูตรการคำนวณใหม่ รวมกว่า 10 รายการ ซึ่งใน 10 รายการ คือ เรื่องดัชนีค่าครองชีพ
ดัชนีราคาผู้บริโภค คือ ภาพสะท้อนถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาของสินค้าขายปลีก และบริการที่ใช้ในการบริโภคในจังหวัดนั้นๆ เป็นตัวประมาณค่าดัชนีค่าครองชีพของประชากรในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ คสรท. ได้ทบทวนข้อมูลจากสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2559 พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ 120.0-104.0 แต่พบว่า จังหวัดที่ไม่ปรับค่าจ้าง จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา กลับมีค่าครองชีพที่สูงกว่ากลุ่มจังหวัดที่ปรับขึ้น 5 บาทในบางจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ดัชนีราคาผู้บริโภค 106.6 , สิงห์บุรี ดัชนีราคาผู้บริโภค 109.4 , นราธิวาส ดัชนีราคาผู้บริโภค 109.4 , ตรัง ดัชนีราคาผู้บริโภค 107.1 , ปัตตานี ดัชนีราคาผู้บริโภค 106.6 , ระนอง ดัชนีราคาผู้บริโภค 106.2 , ชุมพร ดัชนีราคาผู้บริโภค 106.0 และยะลา ดัชนีราคาผู้บริโภค 105.2 แต่เมื่อเทียบกับจังหวัดพิจิตร ดัชนีราคาผู้บริโภค 104.9 , เพชรบุรี ดัชนีราคาผู้บริโภค 105.9 , แม่ฮ่องสอน ดัชนีราคาผู้บริโภค 107.5 เป็นต้น
(2.3) มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ไม่เคารพมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด จากผลสำรวจข้อมูลของคณะอนุกรรมการค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ใน 3 ประเด็น ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพของแรงงาน และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างในพื้นที่ พบว่า ภาพรวมการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ได้พิจารณา คือ อยู่ที่ 4-60 บาท ใน 13 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส อ่างทอง สระบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร แต่ผลประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลับมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
(2.4) มติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการนำปัจจัยเรื่องมาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็น 2 ใน 10 ปัจจัย มาพิจารณา แต่กลับไม่ได้ถูกรับการพิจารณาอย่างแท้จริง ในเรื่องนี้ คสรท. พบว่า ไม่ว่าผู้ใช้แรงงานจะทำงานอยู่ในจังหวัดใด ต่างก็มีค่าครองชีพที่ไม่แตกต่างกัน เช่น วันหยุดงานก็จะไปห้างโลตัสหรือบิ๊กซีเพื่อซื้อสินค้า หรือกระทั่งร้านสะดวกซื้อ 7-11 กล่าวได้ว่า รูปแบบการดำรงชีวิตของคนงานทั้งประเทศในขณะนี้จึงไม่มีความแตกต่างกัน แม้ตัวชี้วัดต่างๆจะระบุว่า “ค่าครองชีพ” ในแต่ละจังหวัดนั้นแตกต่างกัน แต่ “ค่าครองชีพของแรงงาน” ในแต่ละจังหวัดไม่ได้แตกต่างกันไปด้วย ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่อยู่ติดกัน เช่น อ่างทอง (ปรับ 5 บาท) พระนครศรีอยุธยา (8 บาท) กับสิงห์บุรี (ไม่ปรับ) แม้จะคนละจังหวัดแต่ก็อยู่ในเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกันแล้วค่าครองชีพของแรงงานก็ย่อมไม่ต่างกัน
(2.5) ในทางเศรษฐศาสตร์ ค่าจ้างเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของต้นทุนการผลิต ค่าจ้างจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และค่าจ้างขั้นต่ำนั้นก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการไปตั้งโรงงานในจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำอาจไม่ได้ทำให้ได้กำไรสูงเสมอไป เพราะจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำอาจมีต้นทุนการผลิตอื่นๆที่สูงกว่ามาก เช่น ค่าขนส่งสินค้า ทำให้ค่าแรงซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของต้นทุนการผลิตไม่สามารถเป็นแรงจูงใจในการกระจายอุตสาหกรรมออกสู่ต่างจังหวัดอีกต่อไป ทำให้รัฐบาลต้องใช้ไปใช้มาตรการอื่นๆ ในการจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษี เป็นต้น
(2.6) การกล่าวอ้างเรื่องการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศใกล้เคียงที่ยังมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาก คสรท.ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ประสิทธิภาพแรงงานของประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เท่ากับประสิทธิภาพและฝีมือของแรงงานไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะพบว่าประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพด้านฝีมือการผลิตสินค้าสู้ประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไม่ได้ รวมถึงความไม่พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ความเสี่ยง ที่ดินในการตั้งโรงงาน และการขนส่งสินค้า และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในประเทศแถบอาเซียนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้นๆ พบว่าเมื่อเรียงตามลำดับอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดไปถึงต่ำที่สุดนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยากที่นายทุนในประเทศไทยจะย้ายฐานการผลิต
จากเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คสรท.จึงเรียนมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ทบทวนและพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ใหม่อีกครั้ง โดยขอให้
(1) ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ
(2) ให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ
(3) รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน
อันจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญของประเทศไทยให้บรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป