แรงงานรัฐวิสาหกิจ ยื่นป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตเชิงนโยบายเอื้อประโยชน์ให้เอกชน?

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา (สร.สร.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตเชิงนโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐในกรมสรรพสามิตที่ออกประกาศกรมสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ให้เอกชนและทำให้รัฐเสียหายโดยมิชอบ

นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า องค์การสุราฯ เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นกลไกของรัฐบาลในการจัดบริการสาธารณะผลิตและจำหน่ายสุราสามทับ (เอทิลแอลกอฮอล์) และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพื่อบริการประชาชนและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ เภสัชกรรม อาหาร สมุนไพร รวมถึงเพื่อการสาธารณสุขของประเทศ องค์การสุราฯ ผลิตและจำหน่ายสุราสามทับเพื่อหารายได้แก่รัฐ 2 ทาง

ได้แก่  การเสียภาษีสรรพสามิต จากการจำหน่ายสุราสามทับ และแบ่งผลกำไรจากการประกอบกิจการนำส่งรัฐ ในสัดส่วนร้อยละ 80-85 ของกำไรสุทธิ แต่ปัจจุบันมีกระบวนการที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ที่ต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีและรายได้แผ่นดินจากการที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถประกอบกิจการได้อย่างปกติ เพราะกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากภาคเอกชนที่มีกระบวนการแทรกแซงนำสุราสามทับเพื่อการส่งออกกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศแทนองค์การสุราฯ และยังได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์จากกรมสรรพสามิต มาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยผ่านประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรม ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่อาจขัดแย้งกับพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ที่นำไปสู่การเปิดช่องให้บริษัทเอกชนสามารถจำหน่ายสุราสามทับในประเทศ ภายใต้ชื่อว่า “วัตถุเจือปนอาหาร” ได้อย่างเสรีโดยไม่เสียภาษี ทั้งที่จริงแล้ว เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อสินค้าบนฉลากจากสุราสามทับเป็นวัตถุเจือปนอาหารเท่านั้น แต่สินค้าดังกล่าวนั้นก็ยังคงอยู่ในรูปของสุราสามทับหรือเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีแรงแอลกอฮอล์มากกว่า 80 ดีกรี ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต้องเสียภาษีและไม่มีสิทธิจำหน่ายในประเทศ อีกทั้งการที่บริษัทเอกชนได้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีจากกรมสรรพสามิต ใช้เป็นใบเบิกทางทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือว่าถูกกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารจัดเก็บภาษีของรัฐที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ มากกว่า 700 ล้านบาทต่อปี

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา (สร.สร.)ได้ร่วมกันตรวจสอบเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2564 มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อร้องเรียนปัญหาดังกล่าว และขอให้มีการตรวจสอบการออกประกาศของกรมสรรพสามิต ที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการเฉพาะราย โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการดำเนินกิจการของผู้เสียภาษีกลุ่มหนึ่งด้วยการยกเว้นภาษี ที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย เกิดการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และรัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีมหาศาล นอกจากนี้ ได้ยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสุราฯ และผู้อำนวยการองค์การสุราฯ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจ และมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง จากปัญหาดังกล่าว ที่องค์การสุราฯ ไม่อาจประกอบกิจการของรัฐได้อย่างปกติ จนทำให้รัฐวิสาหกิจประสบภาวะ การขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวและยังไม่พบการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยองค์กรสมาชิก สรส. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา จึงตัดสินใจยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายเกี่ยวกับการออกประกาศของกรมสรรพสามิตที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนและตรวจสอบพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่ทำให้รัฐเสียหายและรัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี เพื่อมิให้เกิดการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ รวมถึงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน