สหภาพแรงงานกับการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ

12744415_1743218452565854_8705109271899507296_n

นภาพร อติวานิชยพงศ์

แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชาและลาว เริ่มอพยพเข้ามาทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2540 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในขณะนั้น (พ.ศ.2536) เริ่มให้ความสำคัญกับการมีนโยบายต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติมาทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนในกิจการบางประเภท ต่อมาในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2544) ได้เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายทั่วประเทศเป็นครั้งแรก

จากอคติสู่สำนึกทางชนชั้นและการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ

พัฒนาการของบทบาทของสหภาพแรงงานในการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ เริ่มต้นจากการมีอคติต่อแรงงานข้ามชาติ และไม่ยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติเป็นพวกเดียวกับแรงงานไทย  แม้ว่าจะมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ขายแรงงานเหมือนกัน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาสู่การยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยและการมีบทบาทปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกับแรงงานไทย

อคติของแรงงานไทยหรือผู้นำสหภาพแรงงานที่มีต่อแรงงานข้ามชาติในระยะแรก นอกจากจะเป็นอคติด้านชาติพันธุ์ที่คนไทยรู้สึกว่าคนเมียนมาเคยเป็นศัตรูในอดีต และคนลาว คนเขมรเป็นชาติพันธุ์ที่ต่ำกว่าคนไทยแล้ว  ยังมีสาเหตุที่มาจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่คิดว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานคนไทย และเกรงว่าถ้าหากในโรงงานเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจะทำให้อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานที่มีต่อนายจ้างลดน้อยลง

จากการที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้นำสหภาพแรงงานในระดับต่าง ๆ ทำให้พบว่าการที่แรงงานไทยและสหภาพแรงงานเปลี่ยนทัศนคติด้านลบต่อแรงงานข้ามชาติสู่ความรู้สึกที่ดีขึ้นมาจากสาเหตุที่สำคัญคือ

  • การอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติทั้งในการทำงานอยู่ร่วมใน

สถานประกอบการเดียวกัน และการใช้ชีวิตบางด้านร่วมกัน เช่น กินข้าวกลางวันด้วยกัน กลับบ้านพร้อมกัน เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่สหภาพแรงงานหรือนายจ้างจัดขึ้น ทำให้ความรู้สึกด้านลบที่มีต่อแรงงานข้ามชาติลดลง โดยเห็นว่าแรงงานข้ามชาติก็เป็นคนงานเช่นเดียวกับแรงงานไทย  ไม่ได้น่ากลัวหรือน่ารังเกียจ  เมื่อแรงงานข้ามชาติประสบปัญหาเช่น ถูกหักเงินประกันสังคมแต่ไปใช้สิทธิ์ไม่ได้ ถูกโกงค่าแรงงาน หรือค่าต่ออายุหนังสือเดินทางก็เกิดความเห็นใจในฐานะแรงงานด้วยกัน

อาจกล่าวได้ว่า สำนึกทางชนชั้นของการเป็นแรงงานได้เกิดขึ้น เมื่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ท่ามกลางการทำงาน  ซึ่งสำนึกทางชนชั้นเป็นสำนึกที่ก้าวพ้นชาติพันธุ์และพรมแดนของความเป็นชาติดังคำกล่าวที่ว่า  “ชนชั้นกรรมาชีพทั้งผองคือพี่น้องกัน”

  • ผู้นำสหภาพแรงงาน ที่มีโอกาสเข้าร่วมเวทีการสัมมนาอบรมต่าง ๆ ก็เริ่มมีความรู้

ความเข้าใจมากขึ้นว่า แรงงานข้ามชาติไม่ได้เข้ามาแย่งงานคนไทย แต่เป็นความจำเป็นที่ระบบเศรษฐกิจไทยต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ  โดยเฉพาะในการทำงานบางด้านที่ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากคนไทยมีโอกาสที่ดีกว่าในการเลือกทำงานที่ไม่ใช่งานหนัก งานอันตราย หรืองานสกปรก

นอกจากนี้ ในงานที่มีการจ้างงานทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย ผู้นำสหภาพแรงงานได้ตระหนักว่า หากแรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ ใกล้เคียงกับแรงงานไทย จะทำให้แรงงานไทยไม่ตกงาน เพราะนายจ้างจะไม่หันไปจ้างแรงงานข้ามชาติมาทดแทนแรงงานไทย ในทางตรงกันข้าม หากแรงงานข้ามชาติถูกกดขี่ค่าแรงและไม่ได้รับสวัสดิการ นายจ้างย่อมอยากจ้างแรงงานข้ามชาติมากกว่าแรงงานไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ดังนั้น หากไม่ต้องการให้แรงงานไทยตกงาน สหภาพแรงงานต้องปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติไม่ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและต้องจัดสวัสดิการให้แรงงานข้ามชาติตามสิทธิที่ควรได้

  • ผู้นำสหภาพแรงงานยังตระหนักว่า ในสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติและแรงงาน

ไทย  หากต้องการให้สหภาพแรงงานยังคงมีอำนาจการต่อรองและมีความเข้มแข็งสหภาพแรงงานต้องพยายามจัดตั้งแรงงานข้ามชาติให้เข้ามาเป็นสมาชิก ไม่ใช่กีดกันแรงงานข้ามชาติออกไป  ในปัจจุบัน สถานประกอบการที่มีสหภาพแรงงานหลายแห่ง มีการจ้างแรงงานข้ามชาติมากกว่าหรือใกล้เคียงกับแรงงานไทย ถ้าหากสหภาพแรงงานยังมีวิธีคิดแบบเดิม ๆ คือ รับสมัครเฉพาะแรงงานไทยเป็นสมาชิก ฐานกำลังของสหภาพแรงงานในโรงงานย่อมเหลือน้อยลงมาก แต่หากสหภาพแรงงานสามารถจัดตั้งให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกได้ก็จะทำให้สหภาพแรงงานยังคงเข้มแข็งต่อไป

ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันสหภาพแรงงานบางแห่งชักชวนแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกได้เป็นจำนวนมาก  ซึ่งการที่จะจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกได้ต้องทำให้เขามองเห็นประโยชน์ของสหภาพแรงงาน จึงทำให้สหภาพแรงงานต้องแสดงบทบาทปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติเมื่อเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ  และเมื่อสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้างต่อนายจ้างจะระบุให้ผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับเพิ่มขึ้นครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ  นอกจากนี้ในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ที่สหภาพแรงงานให้กับสมาชิกคนไทยก็ต้องให้กับสมาชิกที่เป็นแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกัน เช่น การซื้อของไปเยี่ยมเมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล  การให้ของขวัญในวันเกิด วันแต่งงาน ฯลฯ

ในเรื่องนี้พบว่าที่ผ่านมา พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้ระบุว่า กรรมการและอนุกรรมการสหภาพแรงงานต้องมีสัญชาติไทย โดยไม่ได้ระบุว่าสมาชิกต้องมีสัญชาติไทยด้วย  ดังนั้น  แรงงานข้ามชาติจึงสมัครเป็นสมาชิกสหภาพได้แต่ไม่สามารถเป็นกรรมการอนุกรรมการหรือก่อตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะได้  อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานบางแห่งเกิดความเข้าใจผิด ไประบุในข้อบังคับของสหภาพแรงงานว่า สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย ทำให้ในปัจจุบันสภาองค์การลูกจ้างบางแห่งที่มีนโยบายปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติและต้องการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้รณรงค์ให้สหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกในสังกัดแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกได้

การที่สหภาพแรงงานปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติส่งผลอย่างไร ?

ผลประการแรก คือ แรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยสามารถทำงานอยู่ในสถานประกอบการเดียวกันอย่างเท่าเทียมภายใต้สภาพการจ้างแบบเดียวกัน  ประธานสหภาพแรงงานบางแห่งได้เล่าให้ฟังว่า   ปกตินายจ้างจะนิยมจ้างแรงงานข้ามชาติผ่านบริษัทเหมาค่าแรงงานเพื่อตัดภาระต่าง ๆ  แต่สหภาพแรงงานแห่งนี้ได้ขอให้นายจ้างจ้างแรงงานข้ามชาติโดยตรงแทนการจ้างผ่านระบบเหมาช่วง  โดยชี้ให้เห็นข้อดีต่างๆ เช่น จะได้แรงงานมาทำงานต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้สามารถพัฒนาทักษะฝีมือได้  นอกจากนี้การที่สหภาพแรงงานคอยดูแลให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างอย่างถูกต้องและส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แรงงานข้ามชาติอย่างครบถ้วน ทำให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยมีความเสมอภาคกันในฐานะลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานไทย

ประการต่อมา ทำให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ในฐานะที่เป็นพวกเดียวกันไม่ใช่คนอื่น และในฐานะที่เป็น “ชนชั้นแรงงาน” เหมือนกัน แม้ว่าจะแตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรม  เมื่อมีความรู้สึกที่เป็นพวกเดียวกันหรือเป็นชนชั้นเดียวกันแล้ว ก็จะเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกันในเพียงแต่แรงงานไทยเท่านั้นที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ  ในกรณีศึกษาแห่งหนึ่งพบว่า แรงงานข้ามชาติได้ร่วมกับแรงงานไทยผละงานประท้วงเมื่อมีแรงงานไทยคนหนึ่งถูกหัวหน้างานทำร้ายร่างกาย

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอคติด้านลบที่สหภาพแรงงานไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติ จนกระทั่งมาสู่การสหภาพแรงงานมีสำนึกในการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ลอย ๆ แต่เป็นเพราะต้องมีเงื่อนไขบางประการที่เอื้ออำนวยด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ได้แก่

  • การได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือเมื่อสหภาพแรงงานปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติได้ประโยชน์ไม่ต้องถูกกดขี่ค่าแรงและได้รับสวัสดิการที่สมควรได้  ในขณะที่แรงงานไทยก็ได้ประโยชน์ไม่ถูกเลิกจ้างจากการที่นายจ้างหันไปจ้างแรงงานข้ามชาติทดแทนแรงงานไทยเพราะสามารถจ้างแรงงานข้ามชาติด้วยค่าแรง และสวัสดิการที่ต่ำกว่าแรงงานไทย

การที่สหภาพแรงงานปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติทำให้แรงงานข้ามชาติเห็นประโยชน์ของสหภาพแรงงานเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก ทำให้สหภาพแรงงานยังคงรักษาอำนาจการต่อรองกับนายจ้างในฐานะองค์กรตัวแทนของลูกจ้างในโรงงานเอาไว้ได้ ในสถานการณ์ที่สัดส่วนของแรงงานไทยในสถานประกอบการลดน้อยลง

  • การมีสำนึกทางชนชั้นที่ก้าวข้ามพรมแดนของเชื้อชาติและความแตกต่างของภาษา วัฒนธรรม ซึ่ง

เกิดขึ้นเมื่อได้อยู่ร่วมกันนาน ๆ มีโอกาสหรือพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม (social relations) ในรูปแบบต่างๆ จนทำให้จิตสำนึกของความเป็นชนชั้นแรงงาน (working class conscious) อยู่เหนืออคติด้านชาติพันธุ์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เคยมีในระยะแรก

  • การมีกฎหมายที่เป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพการพัฒนากฎหมาย

แรงงานให้เป็นธรรมต่อลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานได้แก่  พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน และ พ.ร.บ.ประกันสังคม ทำให้สหภาพแรงงานถือเป็นหลักการพื้นฐานที่จะปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ให้มีสภาพการจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งเท่ากับว่าสหภาพแรงงานเป็นกลไกที่ช่วยเหลือให้รัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่อาจปฏิเสธความจำเป็นที่ต้องจ้างแรงงานข้ามชาติ และสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานอย่างน้อยที่สุดคือ เป็นตัวแทนลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็นแรงงานในระบบ การที่สหภาพแรงงานมีบทบาทปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติย่อมทำให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีจริยธรรมในสังคมไทย  และทำให้สหภาพแรงงานสามารถรักษาบทบาทการเป็นองค์กรตัวแทนของชนชั้นแรงงานไว้ได้  ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีสหภาพแรงงานเป็นองค์กรนำ