เร่ง ครม. พิจารณากฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ทำงานไม่เกิน 8 ชม. / วัน จ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และลาคลอดได้ 98 วัน หลัง รมต.พิพัฒน์ ส่งเข้า ครม.แล้ว
นับตั้งแต่ปี 2555 ที่กระทรวงแรงงาน มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้ลูกจ้างหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน มีวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน โดยได้รับค่าจ้าง มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน ทำงานโดยได้รับค่าจ้าง และห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นต้น
เห็นได้ว่าสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านจึงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพียงบางเรื่อง ยังไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานสากล รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ดี สิทธิที่เกี่ยวกับการทำงานอื่นๆ ที่แรงงานทั่วไปได้รับภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ยังมีข้อยกเว้นสำคัญ เช่น สิทธิในการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ไม่มีสิทธิลาคลอด ไม่มีการคุ้มครองลูกจ้างหญิงที่จะไม่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุมีครรภ์ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 มีการประชุมร่วมกัน ระหว่างนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ,นายมนัส โกศล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเกษมสันต์ เครือเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ,นายเอกภพ บุญถม นิติกรชำนาญการ กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับคณะทำงานจากโครงการพัฒนาข้อเสนอนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ กับหลักประกันทางสังคมของแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล นำโดย ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมด้วยนางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย , นางสาวภัคชนก พัฒนถาบุตร องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และนักพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชนจากหน่วยงานต่างๆ รวมกว่า 20 คน ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้ลงนามในหนังสือที่ รง 0505 /3760 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงานบางส่วนแก่นายจ้าง ซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ.. ซึ่งขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างที่ทำงานบ้านได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับเดิมตามขั้นตอน จนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ได้มีการแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงเป็น “ร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงานบางส่วนแก่นายจ้าง ซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ..” และได้มีการปรับแก้เนื้อหาของร่างกฎกระทรวงฯ ให้มีความเหมาะสม
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ทำให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบัน จำนวน 11 เรื่อง ดังนี้
💥 ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานให้ลูกจ้างวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (มาตรา 23)
- ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (มาตรา 27 วรรคหนึ่ง)
- ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน (มาตรา 34)
- ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในเวลา 22.00 –06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด (มาตรา 39/1 วรรคหนึ่ง)
- ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน (มาตรา 41)
- ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ (มาตรา 43)
- นายจ้างต้องแจ้งการจ้าง และแจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน (มาตรา 44 (1) (3) และวรรคสอง)
- ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ และการทำงานปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน โดยได้รับค่าจ้าง (มาตรา 52)
- นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน (มาตรา 59)
- ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 76)
- นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (มาตรา 90)
ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ในระหว่างจัดส่งร่างกฎกระทรวงฯ ให้หน่วยงานต่างๆเพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “สถานการณ์การจ้างงานมีความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เมื่อการคุ้มครองไปอยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ต้องบอกว่าวันนี้มีข้อจำกัดในการคุ้มครองแรงงานบางกลุ่ม เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน หรือลูกจ้างภาคเกษตรเองก็ตาม แทนที่กฎหมายจะคุ้มครองแรงงานกลับถูกยกเว้น ตัวบทกฎหมายยังไม่ปรับให้เท่าทันบริบทที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นก็ต้องมาทบทวนว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ติดขัดตรงไหน อย่างไร ทั้งในข้อกฎหมาย หรือจากปัญหาใด ต้องมองในระยะยาวว่า เมื่อสถานการณ์การจ้างงานเปลี่ยนไปจากเดิม อาจต้องปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายที่ยกเว้นอยู่ ต้องทำประมวลกฎหมายแรงงานทั้งระบบ ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายควบคู่กันไปด้วย”
ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล หัวหน้าโครงการพัฒนาข้อเสนอนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานมาตั้งแต่ปี 2564 สมัยอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายและกลไกคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านขึ้นมา ผ่านการประสานงานจากนายมนัส โกศล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีการทำงานต่อเนื่องมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน และนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 ทางโครงการฯก็ได้มีการจัดงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน , สสส. และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) นำเสนอข้อเสนอนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ การจัดสวัสดิการ สุขภาวะที่เท่าเทียมทางสังคมที่จำเป็นต่อลูกจ้างทำงานบ้าน
ผศ.ทรงพันธ์ กล่าวอีกว่า “อย่างไรก็ตามแม้ว่าทางกระทรวงแรงงานจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 เดิมให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว แต่อีกประเด็นสำคัญที่ทางโครงการยังต้องขับเคลื่อนต่อไป คือ การแก้ไขให้คนทำงานบ้านสามารถเข้าถึงการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผ่านมาต้องเข้ามาตรา 40 ซึ่งเป็นการสมทบเงินฝ่ายเดียวแบบสมัครใจที่ให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่า หลายคนจึงเลือกที่จะไม่เป็นผู้ประกันตน ส่งผลให้ไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคมในหลายกรณี ยิ่งไปกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองคนทำงานบ้านยังมีช่องว่างสำคัญคือ ไม่มีการจดทะเบียนนายจ้าง เว้นแต่จะเป็นการจ้างลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทำให้ยากที่จะรู้ว่าบ้านไหนบ้างที่มีคนทำงานบ้าน และกลไกการตรวจสอบกำกับดูแลของรัฐก็ยากจะเข้าไปถึงสถานที่ส่วนบุคคลที่เป็นพื้นที่รโหฐาน”