บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนต่อขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานในประเทศไทย[1]

บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนต่อขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานในประเทศไทย[1]

นภาพร อติวานิชยพงศ์ 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสังคมไทย 3 ขบวนการใหญ่ ๆ คือ ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนา ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519    ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้ง 3 กลุ่มต้องยุติบทบาทการต่อสู้อย่างด้วยสันติวิธีลงชั่วคราว  ผู้นำการเคลื่อนไหวของทั้ง 3 ขบวนการ ได้เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทหารของรัฐบาลในพื้นที่ป่าเขาในชนบท

อย่างไรก็ตาม ระบอบการปกครองแบบเผด็จการขวาจัดหรืออนุรักษ์นิยมสุดขั้วหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519  ดำเนินอยู่ได้เพียง 1 ปี รัฐบาลก็ถูกยึดอำนาจและการเมืองไทยกลับสู่การปกครองในระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้งหนึ่ง  ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและแรงงานที่ต่อสู้ด้วยสันติวิธีฟื้นตัวขึ้นใหม่  แต่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญเหมือนในยุคก่อนเกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

องค์กรพัฒนาเอกชนเติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ในภาวะที่อุดมการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมในแนวทางของลัทธิมารกซิสต์ล่มสลายลงภายหลังจากที่ผู้นำนักศึกษา กรรมกรและชาวนาได้ถอนตัวจากการเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ขององค์กรพัฒนาเอกชนในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยซึ่งเคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อนเกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519  มาก่อน โดยคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นผู้ที่ยังคงมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อสังคม และไม่ต้องการเข้าสู่การทำงานอาชีพในสายงานธุรกิจหรือข้าราชการ  จึงได้มาเข้าร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอชนที่เกิดขึ้นมากมายในขณะนั้น

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานในช่วงทศวรรษ 2520 มีอยู่จำนวนไม่มาก องค์กรที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีฝ่ายส่งเสริมสิทธิกรรมกรที่ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อุตสาหกรรมย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ในเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม  องค์กรพัฒนาเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่มีบทบาทเด่นในช่วงนี้คือ กลุ่มเพื่อนหญิง (ปัจจุบันคือ มูลนิธิเพื่อนหญิง) ซึ่งมีโครงการแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม ทำงานส่งเสริมสิทธิของแรงงานหญิงในภาคเอกชน และได้ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งสำนักงานเพื่อทำงานกับแรงงานในพื้นที่อ้อมน้อย อ้อมใหญ่  ใช้ชื่อสำนักงานว่า “ศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมคนงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่”

นอกเหนือจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและกลุ่มเพื่อนหญิงแล้ว องค์รพัฒนาเอกชนด้านแรงงานในยุคแรกนี้ได้แก่ ศูนย์เยาวชนพลัดถิ่น  คณะกรรมการยุติธรรมและสันติ  งานที่องค์กรพัฒนาเอกชนทำได้แก่ งานการช่วยเหลือและบริการด้านกฎหมาย เช่น การฟ้องคดีให้กับคนงานที่ไม่ได้รับความยุติธรรม การรับเรื่องราวร้องทุกข์ของคนงานที่ไม่ได้รับความยุติธรรม งานด้านการจัดตั้ง เช่น สนับสนุนให้คนงานมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สหภาพแรงงาน กลุ่มกองทุนสุขภาพ กลุ่มพัฒนาด้านแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น โดยผ่านการจัดโครงการศึกษาและอบรม ความรู้ด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การเจรจาต่อรองกับนายจ้าง สิทธิแรงงาน ฯลฯ

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 ได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานเกิดขึ้นใหม่คือ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่นายอารมณ์ พงศ์พงัน อดีตผู้นำแรงงานในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516  ต่อมาได้ถูกจับกุมหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นหนึ่งใน 19 จำเลยคดี 6 ตุลาคมที่ถูกจำคุกร่วมกับผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอยู่ 2 ปี    หลังจากถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในปี 2521  อารมณ์ พงศ์พงัน ได้กลับมาทำงานให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานในช่วงสั้น ๆ จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้รับการจดทะเบียนในปี 2526  แต่ในระยะแรกยังไม่มีกิจกรรมมากนัก เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำ  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์ พงัน เริ่มมีบทบาทชัดเจนตั้งแต่ปี 2530  ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 2550 จึงเริ่มมีบทบาทน้อยลง  ในช่วงต้นทศวรรษ 2530  จนถึง พ.ศ.2540  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มีความโดดเด่นในด้านการทำงานวิชาการให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานในรูปแบบของการทำงานข้อมูลด้านสิทธิและขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงาน  การจัดเวทีแลกเปลี่ยนสัมมนาปัญหาแรงงาน และการจัดอบรมความรู้ด้านขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานให้แก่ผู้นำของสหภาพแรงงานต่าง ๆ

ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 – 2540 องค์กรพัฒนาเอกชนมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและประสบการณ์การทำงานร่วมกัน  และร่วมมือกับองค์กรของคนงานในการรณรงค์เคลื่อนไหวปัญหาแรงงานโดยจัดประชุมร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง จัดตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ประกอบด้วย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  มูลนิธิเพื่อนหญิง กลุ่มเยาวชนคนงาน (YCW) มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท  ศูนย์กรรมกรก่อสร้าง คณะกรรมการยุติธรรมและสันติ  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานอพยพหญิง  ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างองค์กรแรงงานองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ และหน่วยงานรัฐ  มีผลงานที่สำคัญคือ การรณรงค์ให้เกิดพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  ผลักดันกฎหมายลาคลอด 90 วันในปี 2534  ผลักดันให้รัฐบาลยอมยกเลิกการจ้างงานลูกจ้างเอกชนในรูปแบบสัญญาจ้างชั่วคราว  ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน  รณรงค์ให้มีการจัดตั้งสถาบันสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในปี2537 เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 2530-2540 การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานถูกทำให้หยุดชะงักลงเป็นเวลาสั้นๆ หลังจากเกิดการรัฐประหารในปี 2534 ซึ่งมีการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของแรงงานภาคเอกชน ต่อมาเมื่อมีการเคลื่อนไหวของประชาชนในเดือนพฤษภา 2535 ซึ่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานจึงสามารถกลับมาทำงานสนับสนุนแรงงานอีกครั้ง

ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา บทบาทของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เริ่มลดน้อยลง สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณและขาดแคลนบุคลากรในการทำงาน  ในขณะเดียวกัน ได้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเติบโตและมีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน  คือมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2539 โดยผู้นำแรงงานและมีองค์กรระหว่างประเทศบางแห่งให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณ มีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานไทย ผ่านการจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์แรงงาน และต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมด้านฝึกอบรมสัมมนา การเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำแรงงาน การจัดทำสื่อเผยแพร่บทบาทของสหภาพแรงงานให้แก่องค์กรแรงงานต่าง ๆ  ทั้งนี้ผู้ปฏัติงานทั้งหมดของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นอดีตผู้นำสหภาพแรงงาน ในขณะที่คณะกรรมการประกอบด้วยผู้นำแรงงานในปัจจุบันและนักวิชาการ มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือเมื่อเปรียบเทียบกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันแล้ว ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงาน เป็นอดีตผู้นำสหภาพแรงงาน  แตกต่างจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่มีผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย

กล่าวโดยสรุป ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า ในแต่ละทศวรรษได้ปรากฎองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทเด่นแตกต่างกันไปในการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานให้สามารถทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานตามบริบทของสังคมและปัญหาของแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถ้าจำกัดเฉพาะองค์กรที่ทำงานกับแรงงานในสถานประกอบการหรือแรงงานในระบบ สามารถสรุปได้ว่า:

ในทศวรรษ 2520-2530 องค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทในด้านการทำงานจัดตั้งแรงงานในภาคอุตสากรรม โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภออ้อมน้อยจังหวัดสมุทรสาคร และในอำเภออ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม องค์กรที่มีบทบาทเด่นชัดในยุคนี้คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลุ่มเพื่อนหญิง

ในทศวรรษ 2530 -2550 องค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทในด้านการทำงานข้อมูลและวิชาการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงาน องค์กรที่มีบทบาทเด่นชัดคือมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

ในทศวรรษ 2550 –ปัจจุบัน องค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทในการทำงานด้านวิชาการและงานสื่อสารสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงาน

องค์กรที่มีบทบาทเด่นชัดคือ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอโครงการวิจัยที่ผู้เขียนจะดำเนินการในปี 2568