คดีแรงงานเชิงนโยบาย : ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้ใช้สิทธิเรียกร้องและได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว มีสิทธิร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเพื่อขอกลับเข้าทำงานได้หรือไม่

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (34)

คดีแรงงานเชิงนโยบาย : ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้ใช้สิทธิเรียกร้องและได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว มีสิทธิร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเพื่อขอกลับเข้าทำงานได้หรือไม่

                                                                   ชฤทธิ์  มีสิทธิ์  (12 – 2567)

  1. ความเป็นมา

คดีนี้ลูกจ้างทั้งสี่คนเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา เป็นลูกจ้างของบริษัทผลิตกางเกงชั้นในผู้ชายยี่ห้อดังที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย โดยนายจ้างต่ออายุใบอนุญาตการทำงานคราวละ ๓ เดือน เมื่อครบกำหนด ๓ เดือนก็มีการต่ออายุการทำงานมาโดยตลอด

ลูกจ้างทั้งสี่ทำงานในกระบวนการผลิตอันมิใช่งานที่มีลักษณะครั้งคราวหรืองานชั่วคราว อันจะเป็นการจ้างงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ประกอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การบังคับใช้มาตรา 14 และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 64

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ลูกจ้างทั้งสี่ในฐานะแกนนำได้ร่วมกับลูกจ้างจำนวน ๒๒๐ คน เข้าชื่อยื่น        ข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ทำให้นายจ้างไม่พอใจจึงเลิกจ้างแกนนำ 5 คนโดยการไม่ต่ออายุการทำงาน แต่สาเหตุแท้จริงของการเลิกจ้างหรือไม่ต่ออายุการทำงานให้ เนื่องจากลูกจ้างทั้งสี่เป็นแกนนำและร่วมกับลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและปรับปรุงสถานที่ทำงาน       ที่พัก น้ำดื่มและสวัสดิการต่าง ๆ ให้เป็นธรรม ทั้งเป็นการถูกเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับก่อนที่ลูกจ้างเคยร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องมีผลใช้บังคับ ถือเป็นการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 (1) และมาตรา 123  ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างที่ถูกกระทำดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ถูกกระทำ โดยมีคำขอให้ ครส. มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานก็ได้

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากการสรุปบทเรียนของเอ็นจีโอด้านแรงงานข้ามชาติและองค์กรชุมชนชาวพม่าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด ต่อกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยเห็นว่าการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ ยังไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย นอกจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแล้ว ยังมีภาระด้านอื่นอีก เช่น ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีครอบครัวที่ต้องดูแล มีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยเจ็บต้องรับการรักษาพยาบาล  แกนนำก็ต้องเสียสละ และมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนนำในการดำเนินคดีกับนายจ้าง ทั้งการดำเนินคดีที่สะดวกกับแรงงานข้ามชาติคือการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเรียกร้องสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากลูกจ้างมีข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดตาก นอกจากนี้ การดำเนินคดีมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ชั้นพนักงานตรวจแรงงาน ศาลแรงงานชั้นต้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และอาจถึงขั้นตอนการขออนุญาตฎีกา คดีจึงกินเวลาหลายปี

ดังนั้นการใช้สิทธิดำเนินคดีจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การจัดประชุมองค์กรต่าง ๆ ร่วมกับแกนนำและลูกจ้าง รูปแบบการดำเนินคดีโดยการมีส่วนร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนลูกจ้างก็ต้องมีหน้าที่ มีการแบ่งงานกัน และร่วมคิดร่วมตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นภาระอย่างมากของแรงงานข้ามชาติและองค์กรที่ให้การช่วยเหลือ แต่องค์กรภาคีต่างๆ ที่มาร่วมกันทำงานก็ตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ด้วยหวังว่า การดำเนินคดีหนึ่ง ๆ จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย และหวังว่าจะไม่เกิดปัญหาซ้ำ จะได้ไม่มีข้อขัดแย้งหรือมาฟ้องร้องกันอีก ทั้งจะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศในส่วนนี้ แต่ในความเป็นจริงความมุ่งหวังดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยมากและช้ามาก

  1. การดำเนินคดีของลูกจ้างทั้งในชั้นพนักงานตรวจแรงงาน ชั้นครส. และในชั้นศาลแรงงานจนถึงชั้น

ศาลฎีกา

แกนนำแรงงานข้ามชาติจำนวน 4 คน โดยการสนับสนุนและช่วยเหลือทางคดีของมูลนิธิเพื่อสุขภาพและ

การเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ MAP และองค์กรชุมชนชาวพม่าในพื้นที่อำเภอแม่สอดได้ใช้สิทธิทางกฎหมาย และร่วมกันดำเนินคดีทั้งเพื่อเป็นการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย เพื่อการเรียนรู้ข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อน และเพื่อเป็นคดีตัวอย่าง อันจะส่งผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อคนงานในวงกว้างทั้งแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทยและการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน

กรณีนี้จึงมีการใช้สิทธิทางกฎหมายโดยเริ่มต้นยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เรื่องการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อมาดำเนินการในชั้นพนักงานตรวจแรงงานเพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ และได้ดำเนินคดีต่อมาในชั้นศาลแรงงานภาค 6  ชั้นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และในชั้นฎีกา กินระยะเวลาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงเดือนธันวาคม 2567 เป็นเวลาร่วมสี่ปีแล้ว

คดีที่ลูกจ้างทั้งสี่คนเรียกร้องค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับนายจ้างนั้น พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาอำเภอแม่สอด สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย แต่ไม่สั่งให้จ่ายค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า  อ้างเหตุว่าเนื่องจากเป็นการจ้างงานแบบมีกำหนดเวลาคราวละสามเดือน สัญญาจ้างจึงสิ้นสุดเองโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่มีสิทธิในเงินดังกล่าว (คำสั่งที่ 26/2563 วันที่ 12 ตุลาคม 2563)  ต่อมาฝ่ายลูกจ้างมีการฟ้องคดีต่อศาล และลูกจ้างทั้งสี่คนเป็นฝ่ายชนะคดี โดยศาลแรงงานภาค 6 ตัดสินว่า การจ้างดังกล่าวเป็นการจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา  กำหนดเวลาสามเดือนเป็นเรื่องการอนุญาตให้ทำงานมิใช่ระยะเวลาในการจ้าง และงานที่ลูกจ้างทำเป็นงานในกระบวนการผลิตมิใช่งานที่มีเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด ปรากฏว่าในส่วนนี้นายจ้างยอมยุติคดีในชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุด (คดีหมายเลขดำที่ ร. 1185-1188 พิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564)  จึงขอกล่าวถึงคดีของลูกจ้างสี่คน เรื่องการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมในรายละเอียด ดังนี้

2.1 คำสั่งของครส.

ครส. วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างลูกจ้างทั้งสี่กับนายจ้างเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน  และกรณีเป็นปัญหาว่าจะมีการต่ออายุการทำงานต่อไปหรือไม่ เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นในการบริหารจัดการของนายจ้าง และเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม (คำสั่งที่ 102-106/2562 วันที่ 12 ธันวาคม 2562)

ลูกจ้างยังไม่เห็นด้วยกับคำสั่งครส.  โดยเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากสัญญาจ้างระหว่างลูกจ้างทั้งสี่กับนายจ้าง เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เพราะไม่เข้าเงื่อนไขการจ้างงานตามมาตรา 64 ดังกล่าว อันเป็นการใช้สิทธิจ้างงานแรงงานข้ามชาติโดยไม่สุจริตและเป็นการเอาเปรียบ มีเจตนาหลบเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน อีกทั้งลูกจ้างทั้งสี่กับนายจ้าง มีเหตุขัดแย้งในเรื่องการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้าง แม้นายจ้างยอมทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ในที่สุดนายจ้างก็มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแต่อย่างใด ลูกจ้างทั้งสี่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประชุมลูกจ้างและทวงถามให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลง จึงเป็นเหตุให้นายจ้างกลั่นแกล้งเลิกจ้าง  จึงได้ฟ้องศาลแรงงานภาค 6 ให้เพิกถอนคำสั่งของครส. ดังกล่าว

2.2 คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 6

ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาโดยสรุปว่า “แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม  แต่ลูกจ้างจะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้  เพราะกรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการซ้ำซ้อนกัน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย  ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบถ้วนแล้ว  แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่เลือกที่จะรับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างแทนการรับกลับเข้าทำงาน  อันเป็นการเลือกถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว “ (คดีหมายเลขแดงที่ ร. 332-335/2564)

  • คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้โปรดมีคำพิพากษาว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

กับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518  กำหนดการเยียวยาให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกันและกฎหมายคนละฉบับ กล่าวคือ ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมทั้งเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 123 และมาตรา 124  โดยไม่จำต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างของนายจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518  มาตรา 121 และมาตรา 123 หรือไม่  เพราะหากการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วย ก็ไม่ตัดสิทธิลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518  มาตรา 124  ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น

ดังนั้น การที่ลูกจ้างนำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปยื่นคำร้องทั้งต่อพนักงานตรวจแรงงานและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงไม่ใช่การใช้สิทธิซ้ำซ้อน ทั้งยังไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างสละสิทธิหรือไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

ที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่า เมื่อคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของ ครส. หรือไม่  และนายจ้างต้องรับลูกจ้างทั้งสี่กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่  เพียงใด การที่ศาลแรงงานภาค 6 ด่วนวินิจฉัยโดยงดสืบพยานจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (1)  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 57 จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีต่อไป (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ 227-230/2565วันที่ 24 มีนาคม 2565)                                               

  • คำพิพากษาศาลฎีกา

ครส. และฝ่ายนายจ้างใช้สิทธิขอฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาแล้วพิพากษา ซึ่งผู้เขียนขอสรุปคำพิพากษา

โดยย่อ ๆว่า ไม่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน  แต่การที่ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันถือได้ว่าลูกจ้างไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างอีกต่อไปและไม่ถือเอาประโยชน์  ในส่วนของการขอให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ตาม แต่ลูกจ้างก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างเพราะเป็นคนละส่วนกัน เมื่อลูกจ้างร้องครส.และมีคำขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย  แสดงว่าลูกจ้างยังต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยและพิพากษาในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายเสียใหม่ให้ถูกต้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 3110-3113/2567 วันที่  25 กรกฎาคม 2567 อ่านเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567)

คดีจึงกลับมาเริ่มต้นที่ศาลแรงงานภาค 6 (พิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดแม่สอด) อีกครั้ง โดยการนัดพร้อม คู่ความในวันที่ 31 มกราคม 2568 ซึ่งมีทั้งฝ่ายลูกจ้างและทนายความ ฝ่ายครส.และพนักงานอัยการ  รวมทั้งฝ่ายนายจ้างและทนายความเพื่อไกล่เกลี่ย และหากไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจะได้นัดสืบพยานในเรื่องการเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือไม่ และลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด

3.คดีศึกษาและการเรียนรู้

3.1 กรณีแรงงานข้ามชาติที่มีการจ้างงานและต่อใบอนุญาตการทำงานคราวละสามเดือน ซึ่งมีการต่อใบอนุญาตการทำงานติดต่อกันมาหลายปีแล้วนั้น พนักงานตรวจแรงงานและครส. วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาคราวละสามเดือน

แต่เนื่องจากงานที่ลูกจ้างทำเป็นงานในกระบวนการผลิต มิใช่งานชั่วคราว แม้จะเป็นจ้างคราวละสามเดือน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20 บัญญัติให้นับระยะเวลาการจ้างทุกช่วงรวมเข้าด้วยกัน เพื่อการได้รับสิทธิตามกฎหมาย พนักงานตรวจแรงงานจึงสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างโดยนับระยะเวลาคราวละสามเดือนทุกช่วงรวมกัน แต่เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาคราวละสามเดือน สัญญาจ้างจึงสิ้นสุดเองตอนครบสามเดือนทุกคราว นายจ้างจึงไม่ต้องบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ส่วนครส.ก็ได้วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาคราวละสามเดือนเหมือนกับที่พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัย แต่ในเรื่องที่ฝ่ายลูกจ้างอ้างว่า นายจ้างไม่ต่ออายุสัญญาจ้างให้ เนื่องจากเหตุลูกจ้างเป็นแกนนำยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างนั้น ตลอดมานายจ้างก็ต่ออายุการจ้างมาโดยตลอด ครส.เห็นว่าปัญหาว่าจะมีการต่ออายุการทำงานต่อไปหรือไม่ เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นในการบริหารงานจัดการ และเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นว่าเป็นสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น ศาลแรงงานภาค 6 ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องจึงต้องจ่ายค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และคดีก็ถึงที่สุดโดยนายจ้างและพนักงานตรวจแรงงานหรือพนักงานอัยการก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์แต่อย่างใด

3.2 บทเรียนสำคัญคงเป็นเรื่อง การเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541และอาจเข้าข่ายการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ด้วย ซึ่งศาลฎีกาตีความว่าการได้รับค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างเท่ากับเป็นการสละประโยชน์การกลับเข้าทำงานหากเข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรม

คดีนี้ ศาลแรงงานภาค 6 ตัดสินว่าเมื่อลูกจ้างใช้สิทธิเรียกเงินค่าชดเชยและได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว เมื่อลูกจ้างร้อง ครส. เรื่องการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม โดยมีคำขอให้รับกลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหาย ถือเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน หรือรับประโยชน์สองทางที่ขัดแย้งกัน

ฝ่ายลูกจ้างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าไม่ซ้ำซ้อน ลูกจ้างยังมีสิทธิร้องครส. เพื่อขอกลับเข้าทำงานหรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายได้ตามสิทธิที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติไว้

ฝ่ายครส.หรือพนักงานอัยการและนายจ้างใช้สิทธิขออนุญาตฎีกา ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อได้รับค่าชดเชยแล้ว การร้องครส.เพื่อขอกลับเข้าทำงานจึงซ้ำซ้อน เพราะการได้รับค่าชดเชยเท่ากับสละประโยชน์ที่จะกลับเข้าทำงาน แต่ในส่วนค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่ซ้ำซ้อน

จากคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เรื่องการคุ้มครองการกระทำอันไม่เป็นธรรมในกรณีที่ลูกจ้างมีคำขอกลับเข้าทำงาน    เท่ากับว่า      หากลูกจ้างต้องการใช้สิทธิร้องครส.และขอกลับเข้าทำงาน  ลูกจ้างต้องไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้ง ๆ ที่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างในทันทีที่เลิกจ้าง หากลูกจ้างมิได้ทำผิดร้ายแรงตามที่มาตรา 119 บัญญัติไว้ หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยนายจ้างอาจต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 7 วัน ฐานจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หรืออาจถูกดำเนินคดีอาญาและรับโทษอาญากรณีเลิกจ้างแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยอีกด้วย ซึ่งเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นสิทธิตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง

เมื่อศาลฎีกาตีความเช่นนี้ ประชาชนไม่มีช่องทางที่จะร้องขอให้ศาลฎีกาทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน เพราะคดีเดินมาสุดทางแล้ว  ทางแก้ไขคงมีทางเดียวคือ การแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในส่วนการคุ้มครองการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีอำนาจออกคำสั่งตามกฎหมายแม้ว่านายจ้างได้จ่ายค่าชดเชย  หรือลูกจ้างได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและได้รับค่าชดเชยแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาช่องทางแก้ไขปัญหาช่องทางอื่นๆ เช่น องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ลูกจ้างนำเสนอความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายหรือปัญหาอันเกิดจากระบบกฎหมายด้านแรงงานต่อสำนักงานศาลยุติธรรม อันเป็นหน่วยงานด้านนโยบายของศาลยุติธรรม และหรือคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

กรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เจตนารมณ์สำคัญของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในการคุ้มครองลูกจ้างเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม คือการได้กลับเข้าทำงาน แต่จากระบบกฎหมายแรงงานที่เป็นอยู่ประกอบกับการตีความของศาลฎีกาดังกล่าว ประชาชนหรือลูกจ้างย่อมได้รับผลกระทบในการใช้สิทธิตามกฎหมายและเข้าไม่ถึงสิทธิการคุ้มครองของกฎหมาย อันเนื่องมาจากระบบกฎหมายแรงงานที่มีกฎหมายแยกเป็นหลายฉบับ และบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องเลิกจ้างมีปรากฏในหลายฉบับและไม่สอดรับกันหรือถึงขั้นตีกัน/.

 

@@@@@@@@@