แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 60 (407) ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 พบกันในยามที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เพราะไม่อาจทนกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหลังปิดประเทศมายาวนานได้อีกต่อไปแล้ว
ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ.2540-2543) ครั้งที่ 2 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (พ.ศ. 2551-2553) และครั้งที่ 3 คือวิกฤตโควิด-19 (พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน) การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือคนงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาคเกษตรในชนบทได้รับผลกระทบน้อย ทำให้แรงงานจากภาคอุตสาหกรรมในเมืองได้กลับบ้านในชนบทอาศัยเป็นที่พักพิงชั่วคราวในระหว่างที่ตกงาน แตกต่างจากวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบันที่แรงงานในเมืองและเกษตรกรในชนบทได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกันจนไม่มีใครเป็นที่พึ่งพิงของใครได้อีก
วิกฤตโควิด-19 ยังส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการที่ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางระดับล่างต้องยากจนลงอย่างเฉียบพลัน คนจนเข้าถึงวัคซีนและการรักษาพยาบาลได้ยากกว่าคนรวย คนทำงานใช้แรงงานไม่มีสิทธิ์ที่จะทำงานอยู่ที่บ้าน ลูกคนจนและเด็กที่อยู่ในชนบทห่างไกลเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาแบบออนไลน์ เราจึงพบว่าในปัจจุบันคนจนที่เคยมีบ้านอยู่อาศัยกลายเป็นคนไร้บ้าน ส่วนผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19ที่นอนตายอยู่ในบ้านเพราะไม่มีรถพยาบาลมารับไปรักษาส่วนใหญ่คือคนจน เด็กๆลูกคนจนจำนวนหนึ่งต้องหลุดออกจากการศึกษาในระบบโรงเรียน
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตทางการเมือง เมื่อคนจำนวนมากสิ้นหวังกับการบริหารประเทศของรัฐบาล ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอยู่เป็นระยะ การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลของคนบางกลุ่ม เช่น การชุมนุมที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงถูกมองว่าเป็นพวกก้าวร้าว นิยมความรุนแรงและถูกตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน โดยที่สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญกับสาเหตุที่ทำให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวด้วยการใช้ความรุนแรง
มีงานวิจัยของนักวิชาการคือผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พบว่าผู้ชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงแท้จริงแล้วส่วนใหญ่คือลูกหลานของคนชั้นล่างสุดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ พวกเขาเลือกใช้วิธีการต่อสู้แบบเผชิญหน้า ปะทะ และตอบโต้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะสิ้นหวังกับการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์และแนวทางสันติวิธีที่ทำมาก่อนหน้านี้แต่ผู้มีอำนาจไม่ได้ให้ความสนใจ
สุดท้ายนี้ได้แต่หวังว่าสังคมไทยจะพบทางออกจากวิฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้โดยเร็ว