สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ กว่า 90 องค์กร เรียกร้อง การฟื้นฟูแรงงานนอกระบบจากโควิด

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เพื่อเรียกร้อง การฟื้นฟูแรงงานนอกระบบจากโควิด โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

พวกเรา สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) ขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อเรียกร้องนโยบายแรงงานนอกระบบที่ดีกว่าเดิม

ทำไมจึงต้องให้ความสนใจกับแรงงานนอกระบบ

เพราะ แรงงานนอกระบบ คือแรงงานส่วนใหญ่ของโลกและของทุกประเทศ แรงงานนอกระบบ มีสัดส่วนร้อยละ 61 ของแรงงานทั่วโลก หรือมีจำนวนทั้งสิ้นสองพันล้านคน

โดยมีสัดส่วนเป็นจำนวนถึงร้อยละ 90 ในประเทศกำลังพัฒนา ร้อยละ 67 ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และร้อยละ 18 ในประเทศพัฒนาแล้ว ในประเทศไทย เรามีแรงงานนอกระบบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 ของแรงงานทั้งหมด

ความสำคัญของแรงงานนอกระบบต่อสังคม

  • ในเขตเมือง แรงงานนอกระบบ คือคนที่ทำงานสารพัดอย่าง เช่น การก่อสร้าง การทำงานบ้าน การผลิตที่บ้าน หาบเร่แผงลอย การขนส่ง การเก็บขยะ ฯลฯ กล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของเมืองไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่มีพวกเราแรงงานนอกระบบที่คอยแบกรับงานเหล่านี้
  • ในพื้นที่ชนบท แรงงานนอกระบบ คือ ผู้ผลิตอาหารให้แก่คนทั้งประเทศ โดยการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง การแปรรูปอาหารงานหัตถกรรมและการเก็บของป่า
  • ในช่วงการระบาดของโควิด -19 และการปิดเมือง แรงงานนอกระบบเป็นหนึ่งในแรงงานแนวหน้า (front line workers) ที่ทำงานรับความเสี่ยง และบรรเทาความเสี่ยงให้ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบและขายอาหาร มอเตอร์ไซค์รับจ้างและรถแทกซี่ที่รับผิดชอบการขนส่งและเดินทาง

ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อ แรงงานนอกระบบ

การระบาดของโควิด -19 และการปิดเมือง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแรงงานนอกระบบ

  • องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบ 1.6 พันล้านคน หรือร้อยละ 80 จะเลวร้ายลง เพราะมีงานทำน้อยลง
  • ธนาคารโลก กล่าวว่า แรงงานนอกระบบ 71-100 ล้านคน ถูกผลักให้อยู่ในฐานะยากจนข้นแค้นอย่างที่สุด ในปี 2020 นั่นคือ มีรายได้น้อยกว่าวันละประมาณ 60 บาท

ในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบ จำนวน 300 คน ในเขตกรุงเทพมหานคร และจำนวน 400 คน ในทุกภูมิภาค ของประเทศไทยและพบว่า

  • ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงปิดเมือง แรงงานนอกระบบมีรายได้ลดลง จนเหลือเพียงร้อยละ 0 -39 ของรายได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
  • ในเดือนกรกฎาคม หลังจากการกลับมาเปิดเมือง รายได้ของแรงงานนอกระบบกกลับคืนมาเพียง ร้อยละ 43-64 ของรายได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
  • เพื่อแก้ไขผลกระทบจากวิกฤต แรงงานนอกระบบจำนวนร้อยละ 83 ต้องอาศัยการกู้ยืมเงิน นำเงินออมมาใช้ ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน/ครอบครัว/เพื่อนบ้าน ขายหรือจำนำทรัพย์สิน หรือให้สมาชิกครอบครัวย้ายไปอาศัยที่อื่น และแรงงานจำนวนมากมีปัญหาในการจ่ายเงินจำนอง/ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค/ค่าเล่าเรียนบุตร รวมทั้งต้องขอผ่อนชำระหนี้

จากข้อค้นพบดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เพื่อฟื้นฟูชีวิตของแรงงานนอกระบบและครอบครัวให้ดำเนินต่อไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี และเพื่อสร้างผลิตผลทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง แรงงานนอกระบบต้องการเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ทั้งในลักษณะเงินอุดหนุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาทักษะอาชีพ การอบรมด้านธุรกิจเพื่อฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่หรือหาอาชีพใหม่ นอกจากนี้ยังต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินหรือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภคและค่าเล่าเรียนบุตร และสิทธิในการประกอบอาชีพ เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่จำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว

สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย)  จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1.พวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีการงานทำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้สามารถยืนอยู่บนขาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้

  • สนับสนุนให้มีกองทุนการประกอบอาชีพแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มได้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านทุนการประกอบอาชีพ โดย
    • ช่วยเหลือเป็นเงินกู้รายบุคคล ปลอดดอกเบี้ย โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน รายละ 50,000- 300,000 บาท
    • ช่วยเหลือเป็นเงินสนับสนุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของกลุ่ม องค์กรที่จดทะเบียน เป็นเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า เป็นจำนวน 100,000-1,000,000 บาท ต่อกลุ่ม
  • สำหรับกองทุนที่มีอยู่แล้ว เช่น กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ขอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การให้เงินกู้โดย
    • ช่วยเหลือเป็นเงินกู้รายบุคคล ปลอดดอกเบี้ยและยกเลิกเงื่อนไขคนค้ำประกัน รายละ 50,000-300,000 บาท
    • ช่วยเหลือเป็นเงินสนับสนุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของกลุ่ม องค์กรที่จดทะเบียน เป็นเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า เป็นจำนวน 100,000-1,000,000 บาท ต่อกลุ่ม
  • คืนพื้นที่ทางการค้าขายเพื่อการประกอบอาชีพให้แก่แรงงานนอกระบบ เช่น พื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอย ถนนคนเดิน ตลาดนัด ตลาดเขียว ตลาดในหน่วยงานราชการ
  • ให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการจ้างงาน workfare เพื่อจ้างงานแรงงานที่ทำงานบริการสาธารณะ เช่น การดูแลผู้ป่วยติดเตียง/หรือผู้สูงอายุในชุมชน การช่วยซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง เป็นต้น
  • ให้มีการประกันการมีงานทำแก่แรงงานนอกระบบ อย่างน้อย 10 วันต่อเดือน โดยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ
  • ให้รัฐรักษาการจ้างงานแรงงานในระบบกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด โดยอุดหนุนค่าจ้าง (ในลักษณะร่วมจ่ายแบบ Co-payment) ในกิจการขนาดเล็ก (SME) เพื่อป้องกันการผลักแรงงานออกมาเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น
  • ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ต้องจัดสรรโควตาให้แก่แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อย่างน้อยร้อยละ 30
  • ให้จัดสรรงบประมาณแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ ให้สามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสนับสนุนการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการขายสินค้าและบริการของแรงงานนอกระบบ
  • มาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐทุกมาตรการ ทั้งเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และอื่น ๆ ต้องครอบคลุมสินค้าและบริการของแรงงานนอกระบบ

2. พวกเราต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพในตลาดแรงงานใหม่หลังโควิดได้

  • จัดให้มีการยกระดับทักษะการผลิตสินค้าและการบริการเดิมของแรงงานนอกระบบให้พัฒนายิ่งขึ้น เช่น การดูแลเด็กเล็ก/ผู้สูงอายุ/คนพิการ
  • จัดให้มีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ในการค้าขายและงานบริการต่าง ๆ
  • การพัฒนาทักษะฝีมือ ต้องให้บริการฟรี และระหว่างการอบรมต้องมีค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมทั้งมีค่าชดเชยการขาดรายได้ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หลังการอบรมต้องติดตามส่งเสริมช่องทางการตลาด หรือหางานให้ทำด้วย

3. พวกเรา ต้องการการคุ้มครองทางสังคมที่เท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์วิกฤตจากโควิด 19 ครั้งนี้ รวมถึงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยรัฐต้อง

  • ให้สิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานแก่ผู้ประกันตน มาตรา 40
  • ต้องปรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกมาตราให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ ที่มีการบริหารโดยผู้ประกันตน และในคณะกรรมการมีสัดส่วนของผู้ประกันตนทุกมาตรา

 

4. ในการดำเนินการตามข้อเสนอทุกข้อ ต้องให้มีการมีส่วนร่วมและกำกับติดตามจากสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ภาคประชาสังคม และภาคีวิชาการ เพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะให้การสนับสนุนข้อเรียกร้อง เรื่อง การฟื้นฟูแรงงานนอกระบบจากโควิด เพราะผลที่ได้จากการนำข้อเรียกร้องนี้ไปดำเนินการ จะเป็นทั้งการช่วยให้แรงงานนอกระบบสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  และเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างความสมานฉันท์ที่แท้จริงในสังคมไทย

หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้ว เครือข่ายฯได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมพูดคุยกับรัฐมนตรีฯและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงานซึ่งได้ข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้

  1. กรมการจัดหางานจะมีการทบทวนกฎระเบียบกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้เข้าถึงง่ายขึ้นรวมทั้งขอให้มีการเพิ่มวงเงินเพื่อให้สามารถครอบคลุมผู้รับงานไปทำที่บ้านเพิ่มขึ้น สำหรับเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อแรงงานนอกระบบทุกอาชีพ ทางรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน รับเป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ บสย. และหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมประชุมปรึกษา หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งขึ้น โดยคาดว่าอาจจะจัดการประชุมได้หลัง 20 ธันวาคม ศกนี้
  2. ประเด็นพื้นที่ค้าขายของหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯมหานคร ทางกระทรวงแรงงานจะเร่งประสานงานกับกรุงเทพมหานครเพื่อเจรจาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
  3. ประเด็นที่แรงงานนอกระบบเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามายกระดับการประกอบอาชีพโดยการสนับสนุนการจัดทำแอฟพลิเคชั่น หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทางกระทรวงแรงงานจะประสานไปยังกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทสเพื่อ ขอคำปรึกษาให้เกิดการสนับสนุนต่อไป
  4. การประกันสังคมมาตรา 40 มีประเด็นที่จะต้องหารือกันหลายประเด็น เช่นเรื่องสิทธิประโยชน์การว่างงาน การมีสัดส่วนตัวแทนของแรงงานนอกระบบในคณะกรรมการประกันสังคม และการช่วยเหลือในช่วงโควิด ทางรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเห็นควรให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงฯ สำนักงานประกันสังคมและตัวแทนจากแรงงานนอกระบบ เพื่อมาพิจารณาหาทางออกในประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาร่วมกัน
  5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ เห็นสมควรให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ลูกจ้างทำงานบ้านสามารถเข้าร่วมประกันสังคมมาตรา 33 ดังเช่นแรงงานทั่วไปได้
  6. กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะหาแนวทางสนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ของแรงงานนอกระบบให้ทั่วถึงโดยจะนำข้อเสนอของกลุ่มแรงงานนอกระบบไปพิจารณา แต่เนื่องจากกรมฯมีงบประมารไม่เพียงพอ จึงจะทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก โครงการเงินกู้สี่แสนล้านเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป
  7. เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา และความต้องการของแรงงานนอกระบบ ทางกระทรวงแรงงานจะเชิญตัวแทนแรงงานนอกระบบประมาณ 10 คนจากอาชีพต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กล่าวกับตัวแทนแรงงานนอกระบบว่า ตนเองอยากเห็นแรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้หมด มีการจดทะเบียน มีข้อมูล เมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ รัฐบาลจะได้ช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์  และถ้าตนเองได้อยู่จนครบเทอมก็จะผลักดัน ให้เกิด3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง ส่งเสริมพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ  สองจัดตั้งกองทุนสำหรับแรงงานนอกระบบทุกอาชีพ และสามจัดทำข้อมูลและพัฒนาแรงงานนอกระบบแต่ละอาชีพ  สุดท้ายนายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวว่าจะหาของขวัญที่จะให้แก่แรงงานนอกระบบในช่วงวันขึ้นปีใหม่ที่จะถึงนี้  ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องการลดเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 ก็เป็นได้

จากผลการเจรจาครั้งนี้ ตัวแทนแรงงานนอกระบบต่างแสดงความยินดีที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมองเห็นปัญหาของแรงงานนอกระบบ และมีแนวทางที่จะเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบดีขึ้น หลังจากที่ปัญหาเหล่านี้ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขมาระยะหนึ่งแล้ว และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

ทั้งนี้ รายชื่อเครือข่ายที่ร่วม ลงชื่อ 98 องค์กร ดังนี้ 

1 สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) กรุงเทพฯ
2 สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กรุงเทพฯ
3 เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กรุงเทพฯ
4 สหกรณ์บริการชุมชนหมู่บ้านนักกีฬา กรุงเทพฯ
5 สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย(สจท.) กรุงเทพฯ
6 สหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร กรุงเทพฯ
7 สหพันธ์แรงงานธุรกิจ โรงแรมและบริการภูเก็ต ภูเก็ต
8 สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
9 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กรุงเทพฯ
10 สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา สมุทรปราการ
11 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กรุงเทพฯ
12 ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) ทั่วประเทศ
13 ชมรมช่างผม เสริมสวยเทศบาลนครปฐม จ.นครปฐม
14 กลุ่มผลิตข้าวหลามชุมชนพระงาน 2 จ.นครปฐม จ.นครปฐม
15 กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าถนนคนเดิน วัดพระงาม จ.นครปฐม
16 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสระยายโสม(ผลิตกล้วยอบม้วน) จ.สุพรรณบุรี
16 กลุ่มผลิตกล้วยฉาบ จ.ราชบุรี
17 กลุ่มผลิตปลาหวาน จ.ราชบุรี
18 กลุ่มตัดเย็บเครื่องหนัง ต.นางแก้ว จ.ราชบุรี
19 กลุ่มอาชีพแกะหอยแมลงภู่ชุมชนบางจะเกร็ง 2 จ.สมุทรสงคราม
20 ชมรมช่างตัดผมเสริมสวย สมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม
21 กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จ.สมุทรสงคราม
22 กลุ่มตัดเย็บชุดมุสลิมและผ้าคลุมผมสตรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
23 กลุ่มเพาะพันธุ์กล้าไม้ตำบลเตราะบอน  อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
24 กลุ่มบ่อยางปาเต๊ะ จ.สงขลา
25 กลุ่มปลูกผักไฮโดรโปนิค จ.สงขลา
26 กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จ.สงขลา
27 กลุ่มรถเร่แผงลอย จ.สงขลา
28 กลุ่มข้าวซ้อมมือนาลิงสองเกาะ จ.สงขลา
29 กลุ่มวิสาหกิจปิ่นโตข้าว จ.สงขลา
30 กลุ่มตาลโตนด ตำบลคลองรี จ.สงขลา
31 กลุ่มนวดแผนไทยวัด ดอนแย้ จ.สงขลา
32 กลุ่มแหอวน บ้านเหล่าเกวียนหัก จ.ขอนแก่น
33 กลุ่มเย็บผ้า บ้านหนองโน จ.ขอนแก่น
34 กลุ่มเจียระไนพลอย บ้านหนองทุ่ม จ.ขอนแก่น
35 กลุ่มทอผ้าแพรพรรณ จ.ขอนแก่น
36 กลุ่มเย็บผ้า ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น
37 กลุ่มรีไซเคิล ชุมชนเทพารักษ์ จ.ขอนแก่น
38 กลุ่มทำขนมดอกจอกชุมชนโนนทัน 1 จ.ขอนแก่น
39 กลุ่มทอผ้าฝ้ายชุมชนหนองแวงตราชู 4 จ.ขอนแก่น
40 กลุ่มแปรรูปอาหารชุมชนนาคะประเวศน์. จ.ขอนแก่น
41 กลุ่มแม่บ้านชุมชนโนนทัน 1 จ.ขอนแก่น
42 กลุ่มสร้างอาชีพชุมชนโนนทัน 1 จ.ขอนแก่น
43 กลุ่มสตรีพัฒนาโนนทัน 1 จ.ขอนแก่น
44 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไข่เค็มหอม โนนชัย จ.ขอนแก่น
45 กลุ่มอาชีพศรีฐานก้าวไกล จ.ขอนแก่น
46 กลุ่มตะกร้าสานพลาสติก ชุมชนโนนหนองวัด จ.ขอนแก่น
47 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสตรีบ้านโนนสะอาด จ.ขอนแก่น
48 ชมรมแต่งผมเสริมสวย จ.มหาสารคาม
49 กลุ่มเหรียญโปรยทาน ดอกไม้จันทน์ ชุมชนธัญญา จ.มหาสารคาม
50 กลุ่มขนมอบอุทัยทิศ จ.มหาสารคาม
51 กลุ่มผู้ค้าในตลาดห้าแยก จ.มหาสารคาม
52 กลุ่มซ่อมเสื้อผ้า ข้างโรงเรียนดุงนารี จ.มหาสารคาม
53 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าครามโนนเรือ จ.สกลนคร
54 กลุ่มปลูกผักปลอดสาร บ้านโนนเรือ จ.สกลนคร
55 กลุ่มเย็บผ้า บ้านโนนเรือ จ.สกลนคร
56 กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ บ้านโนนเรือ จ.สกลนคร
57 กลุ่มเลี้ยงปลานิล บ้านหนองไผ่ จ.สกลนคร
58 กลุ่มข้าวแตน/น้ำพริก ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา
59 กลุ่มทอผ้าไหมสวาย จ.สุรินทร์
60 กลุ่มทำรองเท้าบ้านตาด จ.สุรินทร์
61 กลุ่มทอผ้าพรรณไม้ จ.ร้อยเอ็ด
62 กลุ่มครกหินและผลิตภัณฑ์แกะสลัก จ.พะเยา
63 กลุ่มส่งเสริมอาชีพ บ้านฝั่งหมิ่น จ.พะเยา
64 กลุ่มเย็บปักถักร้อยชุมชนวัดหลวงราชสัณฐาน จ.พะเยา
65 กลุ่มเย็บปัก @พะเยา จ.พะเยา
66 กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จ.พะเยา
67 กลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้ว จ.พะเยา
68 กลุ่มกาละแม   ดอยนาง จ.พะเยา
69 กลุ่มทอผ้าไทลื้อ บ้านทุ่งมอก จ.พะเยา
70 กลุ่มทอผ้าตำบลเวียง จ.พะเยา
71 กลุ่มผ้าปิ้นเฮือน จ.พะเยา
72 กลุ่มผ้าด้นมือชุมชน วัดเมืองชุม จ.พะเยา
73 กลุ่มส่งเสริมอาชีพ บ้านร่องปอ จ.พะเยา
74 กลุ่มชุมชนผลิตกระเป๋าผ้าและเครื่องหนัง จ.พะเยา
75 กลุ่มส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะลอย จ.เชียงราย
76 กลุ่มแปรรูปอาหารพื้นเมืองชุมชนราชเดช จ.เชียงราย
77 กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า จ.เชียงราย
78 กลุ่มส่งเสริมอาชีพสตรีชุมชนราชเดช จ.เชียงราย
79 กลุ่มส่งเสริมอาชีพชุมชนหนองบัว จ.เชียงราย
80 กลุ่มส่งเสริมอาชีพชุมชนสันกลาง จ.เชียงราย
81 ชมรมร้านอาหารและหาบเร่แผงลอยตลาดไนท์บาซาร์ จ.เชียงราย
82 ชมรมผู้ประกอบการถนนคนเดิน(กาดเจียงฮายรำลึก) จ.เชียงราย
83 กลุ่มแม่บ้านเกษตรลำหินใต้ กรุงเทพฯ
84 กลุ่มเย็บผ้าฉลองกรุงโซน  6 กรุงเทพฯ
85 กลุ่มจักสานเคหะทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯ
86 กลุ่มตัดเย็บสตรี ส.ค.เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯ
87 กลุ่มเย็บผ้าลำหินใต้ กรุงเทพฯ
88 กลุ่มคนงานสมานฉันท์ กรุงเทพฯ
89 กลุ่มออมทรัพย์ชัยพัฒนาโคกแฝก กรุงเทพฯ
90 กลุ่มหัตถกรรมชุมชนประดิษฐ์โทรการ กรุงเทพฯ
91 กลุ่มแม่บ้านลำสาลีพัฒนา กรุงเทพฯ
92 กลุ่มออมทรัพย์หาบเร่แผงลอยทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯ
93 กลุ่มแม่บ้านลำพะอง กรุงเทพฯ
94 กลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพร ทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯ
95 กลุ่มปั้นสิบ บ้านขนมแม่สารภี กรุงเทพฯ
96 กลุ่มแม่บ้านลำแขก ดารุ้นนาซีฮะห์ กรุงเทพฯ
97 กลุ่มแม่บ้านเอื้ออาทร แก้วประดับ กรุงเทพฯ

98         สมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย                                    กรุงเทพฯ