แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ ฉบับที่ 42 (389) ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
เริ่มต้นจากปัญหาฝุ่น P M 2.5 และหมอกควันที่ทำให้อากาศเป็นพิษในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนจนที่ไม่ค่อยมีทางเลือกในชีวิตที่จะหลบเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ ตามมาด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก โดยในประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้ว 82 ราย มีผู้เสียชีวิตเป็นคนไทย 1 ราย (ณ 14 มี.ค.63) ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจเข้ามาซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่มีอยู่ก่อนแล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวและอาชีพที่ต้องพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวลดฮวบลงอย่างน่าตกใจจากการหายไปของนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยกะทันหัน และในอนาคตอันใกล้นี้ยอดการสั่งซื้อผลไม้ยอดนิยมของคนจีนเช่น ทุเรียนและมังคุด ก็คงจะลดลงอย่างมากเช่นกัน
ในขณะที่ประชาชนต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดอากาศที่เป็นพิษและเชื้อโรค ก็มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาหน้ากากอนามัยที่ผลิตไม่ทันไปหลายเท่าตัว ทำให้โอกาสในการเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นในชีวิตของคนจนๆน้อยลง จนต้องยอมเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพเพราะไม่สามารถซื้อหน้ากากอนามัยที่มีราคาแพงได้ นับเป็นตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง
ข่าวการแพร่ระบาดของโรคร้ายถูกแทรกด้วยข่าวอาชญากรรมสะเทือนขวัญ กรณีการกราดยิงด้วยอาวุธสงครามโดยนายทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งที่ห้างเทอร์มินอล21 ที่โคราช จนมีผู้เสียชีวิตทั้ง 30 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อสืบสาวไปก็พบว่า สาเหตุสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นายทหารชั้นผู้น้อยเกิดคุ้มคลั่งฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก มาจากการถูกฉ้อโกงโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งอาศัยระบบการจัดสวัสดิการภายในสถาบันกองทัพที่ขาดการบริหารอย่างโปร่งใสมาเอาเปรียบลูกน้อง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นความหละหลวมในการจัดเก็บอาวุธสงครามของกองทัพบกจนกลายมาเป็นอาวุธที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นคือการที่พื้นที่การต่อสู้ในเวทีรัฐสภาของผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองได้ถูกจำกัดลงโดยกระบวนการที่ถูกตั้งคำถามถึงความเที่ยงธรรมหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ท่ามกลางความสงสัยของคนจำนวนมากที่ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตีความของกฎหมายแบบหลายมาตรฐานโดยไม่ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่มีการใช้หลักรัฐศาสตร์
ท่ามกลางสถานการณ์รอบด้านที่ก่อให้เกิดความหดหู่ใจต่ออนาคตของบ้านเมือง แรงงานยังคงต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดต่อไปในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกและในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่การจ้างงานในอนาคตจะลดน้อยลงอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สหภาพแรงงานต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ในการปรับตัวเพื่อการเป็นพลังนำในสังคม ติดตามอ่านได้ในบทความและรายงานพิเศษของแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้
สุดท้ายนี้ขอเชิญผู้อ่านเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์” ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง” ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ที่ใกล้จะมาถึงซึ่งจะมีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล นำโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับองค์กรแรงงานและองค์กรเครือข่ายผู้หญิงทั่วประเทศ
แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ กุมภาพันธ์ 2563