ILO CFA เปิดรายงานการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องแก้กฎหมายแรงงาน

คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO CFA) เรียกร้องแก้กฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยกตัวอย่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์2518 และกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคม ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization- Committee on Freedom of Association- ILO CFA) ได้ออกรายงานหลังการประชุม ILO Conference ครั้งที่ 108 ประจำปี 2019 โดยสรุปถึงความคืบหน้าของ เคสต่าง ๆ ที่ รัฐบาลแต่ละประเทศเคยถูกร้องเรียนเรื่องกฎหมายและหลักปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO ด้านเสรีภาพการสมาคม จัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรองร่วม โดย ILO CFA ได้กล่าวถึงเคสที่รัฐบาลไทยถูกร้องเรียนกับ ILO  CFA สองเคสตามนี้

  1. เคสที่ IndustriALL Global Union ร้องเรียนกับ ILO CFA เมื่อปี 2015 ถึงการกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ (พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543) ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO และได้ยกตัวอย่างคดีที่มีการทำลายสหภาพแรงงานและไม่ให้การปกป้องคุ้มครองลูกจ้างที่มีการรวมตัวและต่อรองกับนายจ้าง รวม 18 คดีโดย ILO CFA ได้มี recommendation ออกมาในปี 2016 ให้รัฐบาลไทย 1) แก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO เรื่อง เสรีภาพการสมาคมและสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม และ 2) แก้ไขปัญหาการทำลายสหภาพแรงงานในประเทศโดยด่วน

ในรายงานปี 2019 ILO CFA ได้กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลไทยจะอ้างว่า การแก้ไข พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และ พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543ได้มีการขยายกาคุ้มครองการเลือกปฏิบัติกับสหภาพ ฯ และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่ ILO CFA ยังไม่เห็นความคืบหน้าในการปฏิรูปกฎหมายแรงงานไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO  ทั้งที่ ILO CFA ได้มีความเห็นไปตั้งแต่ ปี 1991

ILO CFA เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO ด้านเสรีภาพการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมโดยด่วน และให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้ากับ ILO CFA อย่างสม่ำเสมอ

  1. เคสที่ International Transport Workers Federation (ITF) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร้องต่อ ILO CFA ถึงกรณีที่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก ผู้นำ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เป็นจำนวนกว่า 300 ล้านบาท ด้วยข้อกล่าวหาว่า ผู้นำ ฯ ทั้ง สี่คน ทำผิดข้อห้ามที่ไม่ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ ชุมนุมนัดหยุดงาน (strike) และทำให้บริษัท ฯ เสียหายจากภาพเหตุการณ์ที่พนักงานกว่าพันคนทำการประท้วงที่บริษัท ฯ ไม่ยอมตกลงให้มีการขึ้นเงินเดือนและจ่ายโบนัสแก่พนักงาน (หลังจากผลประกอบการปี 2012 ชี้ว่าบริษัทมีกำไร ซึ่งก่อนหน้านี้ พนักงานยอมไม่รับโบนัสและไม่มีการขึ้นเงินเดือนในปีที่บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน)

รายงานของ ILO CFA ปี 2019 ได้ชี้ว่า ข้อห้ามนัดหยุดงานสำหรับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับมาตรฐานด้านเสรีภาพการสมาคมของ ILO อย่างชัดเจน และค่าปรับจำนวนมหาศาล (กว่า 300 ล้านบาท โดยผู้นำสหภาพทั้ง 4 แพ้คดีในศาลแรงงานชั้นต้นและยังรอคำตัดสินของศาลฎีกา)เป็นการกระทำที่เหมือนจงใจให้ผู้นำสหภาพ ฯ เกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าประกอบกิจกรรมใด ๆ ของสหภาพ ฯ หลังจากนี้

ILO CFA ยังได้แสดงความเสียใจที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างล่าช้า และเรียกร้องให้รัฐบาลส่งข้อสรุปของ ILO CFA (ที่มองว่าข้อห้ามเรื่องการนัดหยุดงานและค่าปรับจำนวนมหาศาลเป็นสิ่งที่ขัดกับมาตรฐานแรงงานสากลและเป็นเสมือนการข่มขู่ให้ผู้นำสหภาพ ฯ เกิด ความหวาดกลัวที่จะประกอบกิจกรรมสหภาพ ฯ) ไปเพื่อให้ศาลฎีกาแรงงานพิจารณาในการตัดสิน