ALCT ควง คสรท. เรียกร้องรฟท.ยุติการการบังคับคดี 7 ผู้นำสหภาพรถไฟ

2 องค์กรแรงงานเอกชน เข้าพบรฟท. ยื่นหนังสื่อให้ยุติการการบังคับคดี 7 ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ด้านผู้แทนรฟท.แจงเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการรอข้อมูลจากฝ่ายกฎหมาย ย้ำไม่ได้นิ่งนอนใจเข้าใจถึงความเดือนร้อนของทุกคน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประทศไทย (ALCT) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภา ALCT  กับนายลาเร่ อยู่เป็นสุข เลขาธิการคสรท. ได้ขอเข้าพบทางประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย(นายกุลิศ  สมบัติศิริ) เพื่อขอให้ยุติการการบังคับคดีกับผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยสรุปเนื้อหาหนังสือที่ยื่นทั้ง 2 องค์กรแรงงานเอกชนมีดังนี้ เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)ได้มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขบวนรถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นเหตุมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของรถจักรที่ใช้ทำขบวน ซึ่งผลจากการการสอบสวนภายในที่การรถไฟฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเองรวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญา จนเป็นเหตุให้พนักงานขับรถต้องติดคุกและต้องออกจากงานเมื่อศาลอาญาเห็นว่า นำรถจักรที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวน ซึ่งต่อมาผู้เสียหาย

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลก็มีคำพิพากษาให้พนักงานขับรถและการรถไฟฯจ่ายค่าเสียหายให้แก้ผู้ฟ้อง เนื่องจากนำรถจักรที่ไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวนจนเกิดเหตุร้ายแรง

แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในส่วนของต่างประเทศ ITF,ITUC ได้นำเรื่องร้องเรียนต่อ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)และผลการสรุปก็ออกมาในลักษณะที่เห็นว่าสภาพแรงงานรถไฟและผู้นำกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพแรงงานและได้ส่งคำวินิจฉัยมายังรัฐบาลไทยเพื่อยุติและคืนสิทธิให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ

จากผลที่สรุปออกมาชี้ให้เห็นถึงการกระทำของสหภาพแรงงานรถไฟและผู้นำสหภาพที่ได้กระทำการที่เป็นประโยชน์แก่การรถไฟฯเองรวมทั้งเพื่อความปลอดภัยสาธารณะของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ทางการรถไฟฯได้ฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อขอเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟจำนวน 7 คนในส่วนกลางและถูกเลิกจ้างไปในปี 2554 พร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงมากรวมทั้งเลิกจ้างผู้นำสหภาพรถไฟที่หาดใหญ่อีก 6 คน และถูกเลิกจ้างไปตั้งแต่ปี 2552 จึงเป็นเหตุให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศร่วมกันรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลไทยและการรถไฟฯยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพรถไฟฯและให้รับทั้งหมดเข้าทำงานและให้คืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ถูกออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ ซึ่งต่อมาการรถไฟฯก็รับผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้งหมดกลับเข้าทำงานในปี 2557 และได้จ่ายเงินและสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานคืนให้แก่ผู้นำ 6 คนที่สาขาหาดใหญ่แต่ผู้นำส่วนกลาง 7 คนแม้จะได้กลับเข้าทำงานแต่ก็ยังไม่ได้รับคืนสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานโดยที่การรถไฟฯอ้างว่ามีค่าเสียหายที่ทั้ง 7 คนต้องจ่ายให้กับการรถไฟฯซึ่งต้องรอคำพิพากษาของศาลฎีกา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ผู้นำสหภาพรถไฟทั้ง 7 คนจ่ายค่าเสียหายให้แก่การรถไฟฯเป็นเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาทและทราบว่าภายหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาการรถไฟฯได้เริ่มดำเนินการหักเงินจากผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟฯทั้ง 7 คนแล้ว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561จากจำนวนยอดเงินตามคำพิพากษา โดยจำนวนเงินที่ต้องถูกหักชดใช้ค่าเสียหายต้องใช้เวลากว่า 10 ปี จึงจะครบตามจำนวน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและครอบครัว ซึ่งผู้นำบางคนขณะนี้ได้เกษียณอายุแล้วและต้องเอาเงินยังชีพ(บำนาญ)หลังเกษียณมาชดใช้ค่าเสียหายทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งๆที่การกระทำดังกล่าวเกิดจากการดำเนินการตามมติที่ประชุมของสมาชิกสหภาพแรงงานรถไฟฯในปี 2552 ในเรื่องของความปลอดภัย โดยการดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้การรถไฟฯในฐานะนายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเพื่อมิให้พนักงานการรถไฟฯในฐานะลูกจ้าง ต้องปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงอันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และเพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของการรถไฟฯและพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ดังนั้น จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังท่านประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฯได้โปรดพิจารณาดำเนินการงดการบังคับคดี ยุติการหักเงินชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด และคืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้ง 7 คน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาตามคำร้องขอต่อไป

ทั้งนี้ทางการรถไฟได้มอบหมายให้นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า เป็นผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย มารับหนังสือ

นายสุจิตต์ กล่าวถึงการดำเนินการของการรถไฟฯว่า ทางการรถไฟฯไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นดังกล่าว มีการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ตอนนี้รอข้อมูลจากฝ่ายกฎหมายอยู่ และคิดว่าอีกไม่นานน่าจะได้ข้อมูล เพื่อสรุปร่วมกัน ซึ่งในส่วนของคุณสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯก็ตามทุกครั้งที่ประชุมในคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งทางผู้บริหารก็เข้าใจถึงความเดือดร้อนของพนักงานทั้ง 7 คนอยู่ คิดว่าอีกไม่นานนาจะมีทางอกร่วมกัน การมาของขบวนการแรงงานทุกท่านวันนี้ก็ถือว่าเป็นตัวเร่งที่จะให้ทางการรถไฟต้องรีบดำเนินงาน

รายงานโดย วาสนา ลำดี