คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (16) “แรงงานข้ามชาติสิทธิขั้นพื้นฐาน ค่าจ้างขั้นต่ำ ห้องน้ำสะอาด ความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองที่ไม่เป็นจริง”

“แรงงานข้ามชาติในฐานะคนทำงาน สิทธิขั้นพื้นฐาน ค่าจ้างขั้นต่ำ ห้องน้ำสะอาด ความปลอดภัยในการทำงาน  การคุ้มครองที่ไม่เป็นจริง”

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

ในครั้งนี้ ผู้เขียนจะนำสถานการณ์ปัญหา และประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและชนเผ่าในประเทศพม่า ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ครับ

ในช่วงปี 2545 ถึงปี 2550 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิแรงงาน  นอกจากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานทั่วไปที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดที่ 1) แล้ว  ยังมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

กล่าวคือ จากเรื่องร้องเรียนดังกล่าว  พบว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายด้านหรือหลายมิติ ได้แก่

สิทธิพื้นฐานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541)  เช่น จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ  ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด แต่ไม่ได้รับค่าจ้างหรือค่าทำงานถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ถูกหักค่าจ้างโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  หักค่าจ้างตามอำเภอใจ เลิกจ้างก็ไม่จ่ายค่าชดเชย

สิทธิในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และการขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน กรณีแรงงานข้ามชาติเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน

สิทธิตามกฎหมายด้านแรงงานสัมพันธ์ (พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518) หากแรงงานข้ามชาติเข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อจัดทำ หรือปรับปรุงสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์  แรงงานก็จะถูกเลิกจ้าง   ถูกขึ้นบัญชีดำ กล่าวคือ ธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้ทำข้อตกลงเครือข่ายการทำธุรกิจร่วมกัน ได้แจ้งเวียนข้อมูลและภาพถ่ายของแกนนำแรงงานข้ามชาติไปยังธุรกิจในเครือข่าย เพื่อมิให้ธุรกิจหรือนายจ้างในเครือข่ายรับแรงงานข้ามชาติดังกล่าวเข้าทำงาน

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิ และเสรีภาพในความเป็นส่วนตัวและการเดินทาง  ถูกกักขังบังคับให้ทำงาน ถูกทำร้ายทุบตี ถูกกระทำทารุณ รวมทั้งการค้ามนุษย์

ดังจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องของแรงงานข้ามชาติที่เรียกร้องต่อนายจ้าง ได้สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตที่เลวร้ายของแรงงานข้ามชาติ เช่น

— ให้คืนบัตรอนุญาตทำงานให้แก่แรงงาน เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่นายจ้างออกให้ก่อนครบถ้วนแล้ว

— ขอให้จ่ายค่าจ้างให้ตรงเวลา

— ขอให้มีวันหยุด ขอให้จัดที่ทำงานให้สะอาด เนื่องจากเหม็นมากและให้มีความปลอดภัย เนื่องจากอยู่กลางทุ่งนา ไม่มีรั้วกั้น

— ขอให้คนงานมีตัวแทนของตน เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแรงงานในการเจรจาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับนายจ้าง

–ขออย่าได้บังคับให้แรงงานทำงาน และเลิกบังคับคนงานให้ข้อมูลเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาตรวจโรงงานว่า หากเจ้าหน้าที่มาสอบถามให้แรงงานตอบเจ้าหน้าที่ว่า ได้รับค่าจ้างและสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว  เป็นต้น

นั่นคือสถานการณ์ปัญหาการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เฉพาะในส่วนที่มาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในช่วงปี 2545 ถึงปี 2550

อย่างไรก็ตาม ณ ปี 2560 ถึงปี 2562 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ และหนุนเสริมการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในฐานะคนทำงานและในฐานะเพื่อนมนุษย์สามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานตามที่กฎหมายให้การคุ้มครองไว้

ในช่วงปีเศษที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานกันดังกล่าว พบว่า สถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด ยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ไม่แตกต่างจากที่เคยปรากฏเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ผู้เขียนได้รับการยืนยันจากผู้ปฏิบัติงาน และล่าม ขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติตรงกันว่า การจ้างงานแรงงานข้ามชาติที่อำเภอแม่สอด ยังมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานหลายเรื่อง นับตั้งแต่ ไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ทำงานโดยไม่ได้หยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปี(พักร้อน) และไม่ได้หยุดในวันหยุดประเพณี และในวันดังกล่าวที่นายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงาน นายจ้างก็มิได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย นายจ้างให้ทำงานจนถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนในแต่ละวัน แต่ก็ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมายแต่อย่างใด  อย่างไรก็ตามในแต่ละเดือน ลูกจ้างจะได้หยุดพักหนึ่งวันในวันที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ และมีนายจ้างบางรายยอมให้ลูกจ้างกลับบ้านที่ประเทศพม่า ราว 2 สัปดาห์ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์  แต่ไม่จ่ายค่าจ้างให้

สถานการณ์ปัญหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่พัฒนาให้ดีขึ้นคือ ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับแรงงาน  กล่าวคือ  ห้องน้ำห้องส้วมไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น และไม่เพียงพอ น้ำดื่มไม่สะอาด บางแห่งใช้วิธีรองรับน้ำฝนให้คนงานดื่ม ห้องพักที่นายจ้างจัดให้คนงานพักโดยคิดค่าเช่าหรือค่าบริการ ก็แออัดยัดเยียด

อีกประการหนึ่งเป็นปัญหาที่นับได้ว่าฉกรรจ์อยู่พอสมควร ซึ่งปัญหานี้นายจ้างเคยใช้หรือปฏิบัติกับลูกจ้างคนไทยเมื่อหลายสิบกว่าปีที่ผ่านมา  นั่นก็คือ นายจ้างกำหนดค่าจ้างแบบรายชิ้น หรือที่กฎหมายเรียกว่า ค่าจ้างตามผลงาน ซึ่งกรณีแบบนี้พบว่า เนื่องจากนายจ้างมีเครือข่ายการตลาดที่กว้างขวาง ต้องการผลผลิตจำนวนมาก จึงใช้วิธีการคิดค่าจ้างตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ที่พูดกันติดปากว่า ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย  แต่ในระบบรายชิ้นนี้ หากนายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานปกติวันละ  8 ชั่วโมง  เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 8 ชั่วโมงแล้ว  หากคำนวณค่าจ้างรายชิ้นของลูกจ้างแต่ละคน ปรากฏว่า ค่าจ้างรายชิ้นที่ได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ  นายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายค่าจ้างรายชิ้นให้แก่ลูกจ้างคนนั้นเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

แต่เรื่องฉกรรจ์ที่ผู้เขียนกล่าวถึงก็คือว่า นายจ้างไม่มีประกาศ หรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างรายชิ้น  ซึ่งแต่ละชิ้นงานหรือประเภทของงาน มักจะมีค่าจ้างไม่เท่ากัน  เมื่อเป็นเช่นนี้ลูกจ้างแต่ละคนจะคิดคำนวณค่าจ้างรายชิ้นของตนเองว่าถูกต้องครบถ้วนตามที่ตกลงกันหรือไม่ ได้อย่างไร และข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างรายชิ้นถือว่าเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการจ้างงาน

อย่างนี้จะถือว่า นายจ้างปกปิดข้อมูลอันสำคัญที่ควรแจ้งให้ลูกจ้างทราบหรือไม่พูดกันชัดๆ ว่า อย่างนี้เท่ากับนายจ้างหลอกลวงหรือปกปิดความจริงที่ควรแจ้ง แล้วลูกจ้างก็หลงทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหวังจะได้เงินค่าจ้างรายชิ้น อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง หรือไม่ หรือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นการเอาเปรียบแรงงานหรือทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับความเดือดร้อนเกินควรหรือไม่

ซึ่งหากเป็นเช่นว่านั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรือเป็นปัญหาเชิงหลักการ และนโยบายแห่งรัฐ  กระทบและเกิดผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในทางสากล  ทำให้สังคมโลกอาจเข้าใจประเทศไทยผิดว่า รู้เห็นเป็นใจ หรือปล่อยปละละเลยให้มีการจ้างงานในรูปแบบที่เลวร้าย และปล่อยให้นายจ้างเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติทั้ง ๆ ที่ พวกเขายากลำบากและเดือดร้อนมากพออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรพัฒนาเอกชนเห็นตรงกันว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนนี้  แรงงานข้ามชาติขาดความรู้ความเข้าใจต่อหลักกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทย ดังนั้น ก่อนที่แรงงานข้ามชาติจะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างและการทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเพื่อความเป็นธรรมของแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติจะนัดหมายกันไม่ทำงาน หรือหยุดงาน แล้วจึงจะยื่นข้อเรียกร้องของนายจ้าง หรือในแบบที่เมื่อแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างแล้ว แรงงานส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะพร้อมใจกันรอคำตอบหรือรอผลการเจรจากับนายจ้าง โดยจะยังไม่เข้าทำงาน เหมือนกับว่า จะรอฟังคำตอบจากนายจ้างเดี๋ยวนั้นเลย หากนายจ้างให้คำตอบ และแรงงานพอใจ หรือแกนนำพอใจ เรื่องก็จะยุติและทั้งหมดก็จะกลับเข้าทำงานตามปกติ หากได้คำตอบหรือผลการเจรจาที่แรงงานไม่พอใจ ก็จะไม่เข้าทำงาน หรือออกจากงานไปเลย

ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ หากพิจารณาตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยแล้ว เห็นได้ว่าลูกจ้างทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย  สถานการณ์ตรงนี้ขึ้นกับมุมมอง แนวคิดของนายจ้างและที่ปรึกษากฎหมายของนายจ้าง หากคิดจะตอบโต้ โดยมองเพียงว่าลูกจ้างทำผิดกฎหมาย จึงยอมไม่ได้ และจะต้องจัดการและดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด การจ้างงานก็จะยุติลงทันทีโดยนายจ้างจะเลิกจ้าง

ในขณะที่ความเป็นจริง นายจ้างต้องการผลผลิต ต้องการประกอบการต่อไป แต่พอเจอเหตุการณ์แบบนั้น ก็คิดได้เพียงเลิกจ้างช่องทางเดียว  แทนที่จะหาทางพูดคุย ทำความเข้าใจ และหาข้อยุติหรือข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะก็ควรทำความเข้าใจหรือพุดคุยกับแกนนำหรือองค์กรต่างๆที่มีส่วนให้คำปรึกษาแก่แรงงานข้ามชาติ ให้เคารพและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และรับรองหรือให้หลักประกันว่า จะไม่ทำผิดกฎหมายอีก ซึ่งหากทำผิดก็จะต้องมีมาตรการลงโทษหรือมาตรการอื่น ๆ รองรับ

เหตุใดไม่ตั้งวงคุยกัน หาแนวทางร่วมกัน ทำข้อตกลงร่วมกัน มองทั้งมุมนายจ้าง มุมลูกจ้าง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมที่แม่สอดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จะไม่ดีกว่าหรือ เพราะการเลิกจ้างและดำเนินคดีกับลูกจ้างแล้ว ปัญหาดังกล่าวมันหมดสิ้นไปอย่างนั้นหรือ ก็ตอบโต้กันไปมาด้วยวิธีทางกฎหมายและการดำเนินคดีมาหลายสิบปีแล้วมิใช่หรือ ความเปลี่ยนแปลงพัฒนามันได้สัดส่วนกันไหมกับต้นทุนและความสูญเสีย โดยเฉพาะหากคำนึงถึงการวางรากฐาน การพัฒนาระบบ และความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลองนำไปพิจารณาไตร่ตรองดูด้วยเถิด

ที่กล่าวเช่นนี้  ก็เพราะว่า ยังมีพยานหลักฐานสำคัญบ่งชี้ว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติเขารวมตัวกัน และดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์   โดยพยายามเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ กลับถูกกระทำต่าง ๆ นานา เช่น ถูกไล่ออกจากหอพักในทันที นายจ้างยกเลิกสวัสดิการด้านการหุงหาอาหาร และต่อมาก็ถูกห้ามเข้าไปทำงานในโรงงานและนายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้างให้  ซึ่งตามกฎหมายถือว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว

ผู้เขียนขอเรียนว่า แรงงานข้ามชาติได้พยายามเรียนรู้และปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทย  ทั้งนี้ ก็โดยการประสานความร่วมมือและการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ระหว่างแกนนำหรือผู้แทนแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนพม่า และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติประเทศไทย ซึ่งได้ทุ่มเทในการทำงานกันอย่างหนัก  ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติการร่วมกัน  กลไกดังกล่าวนี้ ถือเป็นกลไกในส่วนของแรงงาน ที่นับว่ามีความสำคัญมาก  เนื่องจากกลไกดังกล่าวนี้จะเป็นรากฐานการพัฒนาในส่วนของแรงงานข้ามชาติ  และสามารถเชื่อมประสานกับกลไกภาครัฐ สถาบันด้านแรงงาน ตลอดจนสถาบันทางสังคม หรือชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย คราวหน้าเราค่อยมาคุยกันต่อนะครับ/