โหวตนโยบายย้ายถิ่นรัฐบาลตู่”ร่วง” การคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ชายแดนไร้ประสิทธิภาพ จวกปี60 แรงงานหลุดกว่า 8 แสนคน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ  โหวต “ร่วง” หลังจัดเกรดนโยบายย้ายถิ่นรัฐบาลตู่ หลายฝ่ายประสานเสียงครม.ตู่สอบตกร่วงทุกประเด็น ระบุการคุ้มครองแรงงาน ในพื้นที่ชายแดนไร้ประสิทธิภาพ ห่วงกระบวนการต่อใบอนุญาตทำงานปี 63 อาจล่าช้าซ้ำรอยปี 60 จนส่งผลให้แรงงานข้ามชาติหลุดออกจากระบบมากถึง 811,437 คน จี้รัฐเร่งออกอนุบัญญัติ-ระเบียบ เพื่อนำไปสู่การบังคับกฎหมาย พร้อมให้สัตยาบันเปิดทางสิทธิในรวมตัวต่อรอง เพิ่มการมีส่วนร่วมแบบไตรภาคี ขณะที่เด็กข้ามชาติยังไม่พ้นวิกฤต ปิด10 ศูนย์การเรียนรู้จังหวัดระนองทำเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา

เมื่อวันที่18 ธันวาคม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แถลงข่าว “จัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลตู่” รุ่งหรือ ร่วง เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี2562 (International Migrants Day 2019) UNTAPPED POWER: MIGRATION REDEFINED, WORKERS REUNITED ปลดปล่อยพลัง ผูกใจคนใช้แรงงานเป็นหนึ่งเดียว

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ สรุปสถานการณ์การย้ายถิ่นและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ในปี พ.ศ.2562 ว่า แม้ว่าในปี 2561 ไทยประสบความสำเร็จในการยุตินโยบายการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่ยังมีสถานะหลบหนีเข้าเมือง ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย และเน้นการนำเข้าตามระบบ MOU ได้มากขึ้น แต่ในปี 2562 พบว่ามีการจับกุมขบวนการนำพาคนข้ามชาติผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซียมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีการจับกุมไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง มีผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติที่ถูกจับกุมมากกว่า 100 คน นอกจากนี้ยังพบว่า กลไกการคุ้มครองตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และ พ.ศ.2562 ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และไม่ตอบสนองต่อหลักการใหญ่ของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในมากนัก เช่น ระบบประกันสังคมของแรงงานในกิจการประมงทะเล ที่ขาดมาตรการในการเข้าถึงการคุ้มครองของแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน ขณะเดียวกันในการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีความก้าวหน้าใดๆ ทั้งมาตรการการคุ้มครองแกนนำแรงงานที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก รวมถึงการคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ชายแดนให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความถดถอยของการมีมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทยเช่นกัน

ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีสัญชาติในระบบการศึกษาของไทย ซึ่งพบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ขณะเดียวกันการจัดตั้งศูนย์การเรียนก็ยังมีอุปสรรคในการดำเนินการจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนในปีที่ผ่านมามีการปิดศูนย์การเรียน และทำให้เด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพวกเขาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน ซึ่งมีความเสี่ยงหรือเป็นที่จับตามองว่าสถานการณ์การเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าวจะผลักให้เด็กกลับไปสู่วงจรการใช้แรงงานเด็กได้หรือไม่

“การขาดความใส่ใจ กลไกที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติ ทำให้กฎหมายและนโยบายที่ดีของไทยขาดประสิทธิภาพ ความล่าช้าในการดำเนินการตามกฎหมายนโยบายกลายเป็นโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งการได้รับการคุ้มครองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติทั้งหมด การพยายามเล่นเกมส์การเมืองโดยการมองข้ามความสำคัญของสิทธิในการรวมตัวต่อรอง และกลไกสำคัญในการให้แรงงานทุกคนในประเทศไทยได้ปกป้องและคุ้มครองตัวเองซึ่งทำให้ทิศทางเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานเข้าสู่ภาวะตกต่ำ และยังเป็นพันธนาการที่ผูกมัดแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยให้ถูกละเมิดซ้ำ ๆ ดังนั้นประเทศไทยแม้จะดูมีความพยายามแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์สอบตกในเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติ”นายอดิศรระบุ

เตือนต่อใบอนุญาตทำงาน มีปัญหาซ้ำรอยปี60

ขณะที่เวทีแถลงข่าว “จัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลตู่”รุ่งหรือร่วงผ่านการให้เกรดคะแนนรัฐบาลโดยองค์กรเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติในประเด็นต่างๆนั้น นายอดิศรได้ระบุในเวทีจัดเกรดในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามตามมาตรฐานสากลว่า ตนขอให้เกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วง เพราะกรณีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งดำเนินอยู่ในขณะนี้และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีต่ออายุใบอนุญาตทำงานในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งพบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่หายไปจากกลุ่มจำนวนตัวเลขเป้าหมายที่ต้องได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวนสูงถึง 811,437 คน นอกจากนี้ยังมีการกีดกันแรงงานข้ามชาติจากการก่อตั้งสหภาพแรงงานของตนเองขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการ ดังนั้นแล้วเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการ ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ออกกฎหมายอนุบัญญัติและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่บังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด และควรให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และ อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองอย่างเร่งด่วน รวมทั้งดำเนินการพิจารณาหากลไกในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ถือเอกสารจ้างงานชายแดนในเร็ววัน โดยในทุกประเด็นที่กล่าวมาควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใสตามหลักการ‘ไตรภาคีบวก’

“ มีความเป็นห่วงว่า การต่อใบอนุญาตการทำงานในอีกไม่กี่เดือนนี้ จะซ้ำรอยปี 2560 เพราะสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีความพร้อมใดๆในการพัฒนาระบบการต่ออายุ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ารัฐบาลมีการดำเนินการสองส่วนโดยในส่วนของระบบออนไลน์ที่ค่อนข้างล้มเหลว ระบบล่มไม่สามารถดำเนินการต่อได้ อีกทั้งหากต้องการเปลี่ยนนายจ้าง จะต้องให้อดีตนายจ้างมาเซ็นรับรอง ทำให้ต่อไปแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย อาจจะกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายทันทีหากเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีแรงงานนับแสนคน จะหลุดออกจากระบบในการต่ออายุปี 2563 นี้”นายอดิศรระบุ

“วิกฤตปิด10 ศูนย์การเรียนรู้จังหวัดระนองทำ เด็กข้ามชาติขาดโอกาสทางการศึกษา”

ด้าน น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนบท ได้ร่วมจัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลชุดนี้ในประเด็นเรื่องการปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติและการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในสถานศึกษา (เด็กติด G) โดยน.ส.ลัดดาวัลย์กล่าวว่า ตนขอให้เกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วงด้วยเช่นกัน เนื่องจากการปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติและการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในสถานศึกษานั้น ปัจจุบันมีเด็กข้ามชาติรวมถึงเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นๆ ได้รับการศึกษาประมาณ 160,000 คน แต่ยังมีเด็กข้ามชาติกว่า 200,000 คน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาใดๆ ขณะที่การศึกษาในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ หรือ MLC จำนวน128 แห่งใน 18 จังหวัด ซึ่งมีเด็กข้ามชาติเข้าเรียนจำนวน 19,410 คน มีครูผู้สอนจำนวน 962 คน ทั้งครูไทยและครูเมียนมา แต่ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ทำให้สถานะนักเรียน หลักสูตรที่ใช้ ไม่ได้รับการรับรองตามไปด้วยส่งผลให้เด็กไม่สามารถใช้วุฒิการศึกษาในการทำงาน และการเรียนต่อได้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้สถานะของครูผู้สอน ยังเป็นการจ้างงานไม่ตรงกับประเภทงานที่รัฐอนุญาตให้ทำ จนนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์กวาดจับผู้สอนในศูนย์การเรียนบางแห่งในจังหวัดระนอง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีใบอนุญาตทำงานผิดประเภทการจ้างงาน ส่งผลให้ศูนย์การเรียนทั้ง 10 แห่งในจังหวัดระนองต้องปิดตัวลง กระทบต่อเด็กในศูนย์การเรียนที่ต้องถูกปิดลงจำนวน 2,856 คน ต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษา

“แม้การย้ายเด็กเข้าไปเรียนในโรงเรียนไทยทั้งหมดจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติพบว่า มีเด็กจากศูนย์การเรียนเพียงประมาณ 300 คนเท่านั้น ที่เข้าไปเรียนในโรงเรียนไทย ขณะนี้ปัญหาใหญ่คือ เด็กกว่า 2,000 คน ยังคงอยู่ในชุมชน และกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ยังทำงานอยู่ในไทย ดังนั้น ควรหาช่องทางการปรับสถานะและคุณภาพของศูนย์การเรียน โดยที่ศูนย์การเรียนสามารถเปิดดำเนินการได้ นอกจากนี้ควรให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ชัดเจนทั้งในทุกระดับ และกระทรวงแรงงาน ควรพิจารณากำหนดประเภทอาชีพที่อนุญาตให้คนต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน ให้สามารถเข้ามาทำงานเพื่อสอนหนังสือให้กับเด็กข้ามชาติในศูนย์การเรียนรู้ได้” น.ส.ลัดดาวัลย์ระบุ

น.ส.ลัดดาวัลย์ ยังกล่าวถึง การแก้ไขปัญหาเด็กติด G ในสถานศึกษา ว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่วันนี้สามารถกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักของกระทรวงมหาดไทยให้เด็กเพื่อให้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ไม่ถึงร้อยละ10 หรือเพียง 3,400 คน จากจำนวนเด็กนักเรียนรหัส G ปีการศึกษา 2559 ทั่วประเทศ จำนวน 92,749 คน ขณะเดียวกันยังพบว่าอาจมีเด็กบางส่วนตกหล่นในการสำรวจ เช่น มีการกำหนดรหัสขึ้นต้นด้วยอักษรอื่น ๆ ในสถานศึกษาสังกัดอื่น ๆ เช่น รหัส P หรือ รหัส 0 ด้วย รวมถึงควรประสานไปยังต้นสังกัดสถานศึกษาให้ครบทุกสังกัด และเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติฯ การติดตาม ช่วยเหลือสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“ เรียกร้องรัฐให้มีมาตรการคัดกรองผู้ลี้ภัยที่เป็นสากล”

ขณะที่น.ส. รวิสรา เปียขุนทด ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวถึงนโยบายคัดกรองและคุ้มครองผู้ลี้ภัย “ความหวังที่ยังมาไม่ถึง” พร้อมให้คะแนนรัฐบาลชุดนี้ในการบริการจัดการผู้ลี้ภัยซึ่งมีความก้าวหน้าไปในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามยังคงต้องการการจับตามองจากภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด จึงให้เกรดอยู่ระหว่างกลางรุ่งหรือร่วง โดยน.ส.รวิสราระบุว่า ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเทศไทยรองรับผู้ลี้ภัยประมาณ 93,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ซึ่งอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” ประมาณ 6,000 คนจากกว่า 40 ประเทศ รวมถึงปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย จีน และประเทศอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการขอการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากในปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่ได้รับรองสถานะการแสวงหาที่ลี้ภัยของกลุ่มดังกล่าว ผู้ลี้ภัยจึงมักถูกจับกุมตามความผิดข้อหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรืออยู่เกินกำหนด และถูกกักตัวโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด

น.ส.รวิสรา กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดทำร่างระเบียบการคัดกรองและบริหารจัดการประชากรผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งองค์กรที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยในไทย 13 แห่ง เรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำระเบียบที่ครอบคลุมเนื้อหาเพื่อประกันการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการส่งกลับไปยังประเทศที่อาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2550 รวมทั้งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ให้จัดทำเนื้อหาของระเบียบฯ ที่สอดคล้องกับนิยามของคำว่าผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงกลไกการขอสถานะผู้ลี้ภัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เข้าถึงสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งโดยศาลที่เป็นอิสระ เข้าถึงการมีผู้แทนด้านกฎหมาย เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และประกันสุขภาพ เข้าถึงโอกาสในการศึกษา โอกาสในการทำงานและความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ

“ผู้ลี้ภัยทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ บุคคลที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง สามารถเข้าถึงทนายความที่มีความสามารถ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีล่ามที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีหลักประกันในขั้นตอนปฏิบัติ ได้รับโอกาสที่จะสามารถนำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นกับตน นอกจากนี้ผู้เข้ารับการคัดกรองต้องได้รับแจ้งผลการตัดสินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นคำวินิจฉัยที่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะสามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้หากต้องการ และที่สำคัญคือข้อมูลรวมทั้งการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ต้องอยู่บนหลักการของการของการเก็บรักษาความลับเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการคัดกรอง” น.ส.รวิสรา ระบุ

“เผยแรงงานข้ามชาติ 42 เปอร์เซ็นต์ ไร้ระบบประกันสุขภาพ”

ด้านนายชูวงค์ แสงคง ผู้จัดการพันธกิจโครงการพิเศษ มูลนิธิศุภมิตรแห่งประเทศไทย จัดเกรดรัฐบาลในเรื่องการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติในประเทศไทย ได้ กล่าวถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ โจทย์ที่ยังตีไม่แตก พร้อมทั้งจัดเกรดรัฐบาลชุดนี้ นายชูวงศ์ระบุว่า ความสำเร็จของนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ทำให้เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งควร จะมีแรงงานที่เข้าสู่ประกันสังคมเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในระดับปฏิบัติการ ทั้งแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่เข้ามาทำงานตาม MOU และผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ยังไม่เข้าใจในเรื่องของระบบประกันสังคมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติว่าแรงงานกลุ่มไหนจะต้องเข้าสู้ระบบประกันสังคม แล้วต้องทำอย่างไร ทำให้มีการเหลีกเลี่ยงให้แรงงานเข้าระบบประกันสังคม ทำให้แรงงานกลุ่มนั้นไม่มีหลักประกันสุขภาพ เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ หรือแม้นแต่แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วก็ตาม การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ การไปใช้สิทธิ ตามที่มีให้ประกันสังคมก็ยังกระทำอยู่ในวงที่จำกัด คือแรงงานที่สามารถใช้สื่อออนไลด์ได้ เข้าใจภาษาไทยก็จะเข้าถึงข้อมูล ซึ่งก็เป็นคนส่วนน้อย นอกจากนั้นระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างชาติและยังส่งผมกระทบในเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงรุก คือการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังไม่สามารถดำเนินโดยระบบประกันสังคม และนอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวด้วย

“จากเดิมที่ระบบหลักที่ดูแลด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ คือกระทรวงสาธารณสุข โดยการขายบัตรประกันสุขภาพนำเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี ต้องกลายมาเป็นกองทุนที่ดูแลแรงงานข้ามชาติจำนวนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อตัวกองทุนและสถานพยาบาลที่ขายประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ การเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามกฎหมายทำให้แรงงานข้ามชาติมีตัวเลือกของสถานพยาบาลในการรับบริการด้านสุขภาพที่มากขึ้น แต่โจทย์ที่สำคัญของระบบประกันสุขภาพก็คือการมีแนวทางการบริหารจัดการกองทุน และระบบบริการด้านสุขภาพที่ยังมีความสำคัญกับกลุ่มประชากรข้ามชาติอีก 30 เปอร์เซ็นต์อย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบต่อระบบบริการรวมถึงสถานพยาบาล และยังสามารถรักษามาตรฐานในการบริการให้ครอบคลุมถึงงานส่งเสริมสุขภาพ งาน ป้องกันโรคไว้ได้ด้วย”

นายชูวงค์ กล่าวว่า เมื่อนำข้อมูลจาก 3 แหล่ง มาเทียบกัน ( กรมจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว) พบว่ายังมีประชากรข้ามชาติอีกจำนวนมาก ถึง 42 % ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันใด ๆ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะต้องมีมาตรการในเรื่องนี้ นอกจากนี้เห็นว่าคนที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จำเป็น ต้องทบทวนเรื่องกฎหมายให้เรื่องการให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพมีสถานะเป็นกฎหมายด้วย และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดตนจึงขอจัดเกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วงด้วยเช่นกันเพราะถึงแม้นโยบายบางส่วนจะดีแต่การนำมาปฏิบัติยังร่วงอยู่

รัฐล้มเหลว ไร้การดูแล แรงงาน -นักปกป้องสิทธิถูกฟ้องปิดปาก

นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผอ.สมาคมนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้มาตรการฟ้องคดีปิดปากต่อนักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน [SLAPP] ว่า การฟ้องคดีปิดปาก คือการฟ้องคดีเพื่อระงับ ยับยั้ง ไม่ให้ประชาชนหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีอิสระ เป็นการสร้างภาระทางคดี ทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องยุติไปหรือทำได้น้อยลง พร้อมยกตัวอย่างกรณีแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ในฟาร์มเลี้ยงไก่ จังหวัดลพบุรี ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าได้มีการละเมิดกฎหมายสิทธิแรงงานหรือไม่ เพราะฟาร์มไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทั้งเรื่องค่าแรง ชั่วโมงการทำงาน วันหยุดพักผ่อน และวันพักร้อน ซึ่งการกระทำของแรงงานเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในที่สุดเมื่อเจ้าพนักงานพบว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานจริง จึงสั่งให้ฟาร์มไก่จ่ายค่าชดเชยให้แรงงาน แต่เจ้าของฟาร์มกลับฟ้องแรงงานข้ามชาติที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งนักกิจกรรมด้านแรงงาน และสื่อมวลชน ภายหลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นข่าวสาร

“กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าการฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการฟ้องคดีเพื่อยุติการมีส่วนร่วมในประโยชน์สาธารณะ ที่น่าเศร้าก็คือ แม้เอกชนรายนี้จะได้ดำเนินคดีกับแรงงาน นักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการรวมกันเกือบ 20 คดีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขการฟ้องปิดปากเช่นนี้ ถือว่ารัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงานไปในคราวเดียวกัน นอกจากนี้เห็นว่าจะต้องมีการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก เพื่อให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะไม่ต้องถูกฟ้อง เพราะคนเหล่านี้กำลังช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาอยู่ “นางณัฐาศิริ ระบุ

ผู้เข้าร่วมงานแฉมีแม่ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้นำหมู่บ้านเพื่อแลกกับการทำบัตรประจำตัวให้กับลูก พร้อมระบุนโยบายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการรับรองทำบัตรเปิดโอกาสให้เกิดการคอรัปชั่นและเรียกรับผลประโยชน์

ทั้งนี้ในเวทีการแถลงข่าว นางศุภาญจน์ตา สุขไผ่ตา เจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้สะท้อนปัญหาในกลไกของรัฐ ที่แม้ว่าจะมีกฎหมายและนโยบายที่ดีแต่การปฏิบัติจริงกลับมีปัญหาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ เช่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะต้องให้ผู้นำหมู่บ้าน พาลูกของแรงงานข้ามชาติไปทำบัตรประชาชน ตามนโยบายของรัฐว่าเด็กทุกคนที่เกิดในไทยอายุ 5 ปีจะต้องมีบัตรประจำตัว แต่พบว่าเป็นช่องว่างในการเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับผู้นำหมู่บ้าน มีแม่บางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศเพื่อแลกกับการให้ผู้นำหมู่บ้านไปดำเนินการ ขณะเดียวอำเภอก็ระบุชัดเจนว่า จะต้องให้ผู้นำหมู่บ้านนำมาเท่านั้น ทั้งที่เด็กเหล่านั้นมีใบเกิดถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีประเด็นแรงงานก่อสร้าง ที่แรงงานข้ามชาติทำได้เพียงการก่อสร้างเท่านั้น ทาสี หรือ โบกปูน ไม่สามารถทำได้ ซึ่งก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น และเรียกรับส่วยจากเจ้าหน้าที่ และประเด็นการลงทะเบียนแรงงานจนถึงอายุ 55 ปีเท่านั้น ในขณะที่แรงงานไทย เกษียณอายุ 60 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานนอกจากจะมีเวทีแถลงข่าว “จัดเกรดนโยบายการย้ายถิ่นของรัฐบาลตู่” รุ่งหรือ ร่วงแล้วยังมีเวทีเสวนาเรื่อง“การคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยกับมาตรฐานสากลในบริบทการค้าโลก วิทยากรเข้าร่วมเสวนามากมายในประเด็นนี้อาทิ อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยานักวิชาการด้านแรงงานที่พูดถึง มาตรฐานการคุ้มครองแรงงานกับการค้าระหว่างประเทศ และการคุ้มครองแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ , คุณชาลี ลอยสูง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พูดถึงการคุ้มครองแรงงานในการรวมตัวต่อรอง GSP + 87 และ 98 คุณสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรที่พูดในประเด็นทิศทางปฏิรูปกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไทย , และคุณปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายที่พูดในประเด็นแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในแรงงานประมงอีกด้วย
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร นส. คอรีเยาะห์ มานูแช โทรศัพท์ เบอร์ 091-838- 6265