แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 383 เดือนมิถุนายน 2562

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่ 36 (383) ประจำเดือนมิถุนายน 2562 แม้จะผ่านพ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศมาใกล้จะครบ 3 เดือนแล้วแต่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศ อีกทั้งภาวะความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองก็ไม่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้งดังที่คาดหวังไว้

แม้ว่าการเมืองจะยังไม่ปรากฏสัญญาณที่น่ายินดีเท่าไรนัก แต่ปัญหาของประเทศชาติไม่อาจรอคอยได้ หลังเกิดกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องชำระเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยจากการยกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย)จำกัด เป็นเงินรวมราว 25,000ล้านบาท ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมทั้งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลเปิดเผยสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และมีข้อเสนอเรื่อง “ระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้” ติดตามอ่านรายละเอียดได้ในแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้

ในด้านปัญหาของคนงาน แรงงานปริทัศน์กลับมานำเสนอประเด็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มาจากนโยบายการผลิตที่ตอบสนองการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อปีที่แล้วขบวนการแรงงานมีการจัดอบรมและถกเถียงเรื่อง”การเปลี่ยนผ่านที่ธรรม”กันอยู่ระยะหนึ่ง

สำหรับผู้ติดตามงานด้านกฎหมายแรงงานของทนายความชฤทธิ์ มีสิทธิ์  ในฉบับนี้เป็นการนำเสนอเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ(ที่ไม่เป็นจริง) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรรับรู้ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงานที่ต้องการรักษาอำนาจการต่อรองในฐานะองค์กรตัวแทนผลประโยชน์ของแรงงานในสถานประกอบการ แรงงานข้ามชาติที่ต้องรู้สิทธิแรงงานตามกฎหมายไทยเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง และนายจ้างที่ต้องการให้แรงงานข้ามชาติทำงานให้ท่านอย่างราบรื่นและมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

สุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ขบวนการแรงงานไทยได้ตระหนักถึงประเด็นความปลอดภัยในสถานประกอบการ ซึ่งได้แก่เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์อินดัสเตรียล(ไทยแลนด์)จำกัด ที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ผู้นำแรงงานรุ่นใหม่จำนวนมากอาจไม่ทราบว่า ในอดีตก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงงานเคเดอร์ฯ ประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญที่ขบวนการแรงงานและสังคมไทยให้ความ       สนใจในการรณรงค์ขับเคลื่อนระดับนโยบาย แต่ภายหลังเกิดโศกนาฎกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ฯ จึงได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเด็นความปลอดภัยในสถานประกอบการถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นการณรงค์ที่มีความชอบธรรมและได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง

แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ มิ.ย.62