23 ม.ค.นี้ ผู้นำแรงงานเตรียม ค้านมาตรการอุ้มนายจ้าง –ยื่นปรับค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

นักวิชาการชี้ลดภาษีหนุนปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้แต่ต้องปรับการเก็บภาษีเป็นแบบก้าวหน้า กรณีผู้ประกอบการที่มีผลกำไรและมีขนาดใหญ่ ส่วนผู้นำแรงงานเตรียมค้านมาตรการลดการจัดเก็บสมทบประกันสังคมให้นายจ้าง รัฐอย่าใช้การช่วยแบบเหมารวม ควรทำให้ตรงกลุ่ม พร้อมยื่นค้าน และเรียกร้องค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

วันที่ 21 มกราคม 2561 รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นมาตรการของรัฐหลังการประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนเมษายน 2561 ว่า การที่กระทรวงแรงงาน หรือรัฐหามาตรการในการที่จะช่วยลดภาระให้กับนายจ้างหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ในส่วนของการลดหย่อนภาษี หรือว่า การที่จะลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมนั้น อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงหลักความเป็นจริง และอาจต้องดูรอบด้านมากขึ้น เพราะส่งผลกระทบกับเงินที่เข้สู่กองทุนประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเองก็กล่าวเสมอเงินกองทุนเริ่มมีปัญหาเมื่อแรงงานเข้าสู่วัยเกษียณอายุและรับสิทธิบำนาญชราภาพ และพยายามคิดหามาตรการหาเงินเข้ากองทุนอยู่

เรื่องการลดหย่อนการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคม รัฐจะทำก็ได้แต่รัฐบาลต้องสมทบเพิ่มให้กับส่วนที่หายไปที่ลดหย่อนให้กับนายจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับกองทุนประกันสังคม ที่ตอนนี้รัฐออกมาประกาศว่าเงินกองทุนมีปัญหาง่อนแง่นเต็มที เรื่องความไม่มั่นคง หลังจากผู้ประกันตนเริ่มรับสิทธิกรณีบำนาญชราภาพเมื่อเกษียณอายุ และประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย มีการทยอยเกษียณอายุของแรงงาน เข้าสู่ระบบบำนาญชราภาพแล้ว และรัฐได้เปิดเผยว่าเงินในกองทุนลดลงและอาจหมดไปในไม่ช้า หากไม่มีมาตรการในการเพิ่มเงินเข้าสู่กองทุนฯ ซึ่งหากรัฐช่วยนายจ้างด้วยการลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมกองทุนจะกระทบแน่นอน  ซึ่งจะลดการเก็บเงินจากนายจ้างได้ หากรัฐจ่ายเงินสมทบเพิ่มในส่วนที่ลดนั้น

ในประเทศแถบยุโรปนั้น การประกันสังคมของเขานั้นไม่มีประเทศไหนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบน้อยกว่าลูกจ้างเลย ด้วยมุมมองด้านการจัดสวัสดิการให้กับแรงงาน ซึ่งประเทศไทยนั้นการจัดเก็บเงินสมทบตามหลักกฎหมายคือ ร้อยละ 5 เท่ากันไม่ว่านายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ซึ่งน้อยอยู่แล้ว แต่รัฐก็แก้กฎหมายให้ตนเองจ่ายน้อยกว่าลูกจ้าง และนายจ้างอีก ซึ่งเงินที่หายไปจึงส่งผลกระทบกับกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว หากมาลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของนายจ้างแม้ว่าเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 1 ปี ก็ถือว่าเป็นปัญหากับกองทุนแน่นอน นอกจากรัฐบาลจะมาจ่ายสมทบเข้ามาเพิ่มเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทดแทนเงินที่หายไป

ซึ่งประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ทุกวันนี้นายจ้างก็ได้ประโยชน์เพราะไม่ได้เป็นค่าจ้างตามหลักสากล ที่ว่า ค่าจ้าง 1 คนเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นเพียงค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนทำงานหนึ่งคน นี่เป็นประเด็นที่รัฐเองก็หนุนช่วยนายจ้างผู้ประกอบการอยู่แล้ว ซึ่งควรใช้มาตรการที่จะช่วยลูกจ้าง หรือนายจ้างสถานประกอบการเล็กๆที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ โดยรัฐควรส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการ ที่จะช่วย เรื่องลดค่าครองชีพให้กับลูกจ้าง เช่น การให้ที่พักอาศัย เป็นหอพักใกล้ที่ทำงาน เพื่อลดภาระการเดินทาง ซึ่งทำให้แรงงานอยู่ได้นายจ้างอยู่ได้ ไม่ใช่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำแล้วลูกจ้างต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงกว่ารายได้ ก็ต้องเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐก็หามาตรการดูแลนายจ้าง โดยไม่คิดเรื่องลดภาระลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างที่มีค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำที่อยู่ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ตรงนี้นายจ้างก็อาจช่วยเรื่องค่าครองชีพให้ลูกจ้างเพื่อเป็นสวัสดิการในการดำรงชีวิตด้วย ส่วนมาตรการที่รัฐโดยกระทรวงแรงงานเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงาน แลกกับการปรับลดภาษีให้ และรัฐควรต้องเพิ่มมาตรการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อให้สถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ได้ผลกำไรมากก็ต้องจ่ายภาษีมากด้วย ไม่ใช่จ่ายเท่ากันกับสถานประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง นี่คือประเด็นที่หนึ่ง รัฐควรดูประเทศที่เขาเจริญแล้วที่มีการจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าจะส่งผลดีในการบริหารจัดการด้านงบประมาณและการบริหารของรัฐในการพัฒนาด้านต่างๆ

ประเด็นที่สองเรื่องปรับลดเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้าง ก็ทำได้แต่รัฐต้องจ่ายสมทบเพิ่มเข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับกองทุนประกันสังคมเพราะเงินส่วนนี้นำมาเพื่อจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย กองทุนประกันสังคมก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้วรัฐควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนประกันสังคมไม่กระทบ

ด้านนายสมพร ขวัญเนตร รองประธานความกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การที่ภาครัฐไปเสนอมาตรการช่วยเหลือนายจ้างหลังมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 308-330 บาท ด้วยการลดหยอนภาษี หรือลดการจัดเก็บเงินสมทบให้นายจ้างนั้น มองว่า รัฐไม่ควรใช้แนวคิดแบบเหมารวมใช้มาตรการเดียวกันในการช่วยเหลือนายจ้างต่อประเด็นได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐควรมีการแยกให้ออกว่า กลุ่มไหนที่ได้รับผลพวงได้รับผลกระทบจริง อย่างบริษัทที่ตนทำงานอยู่นั้นนายจ้างจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ซึ่งสถานประกอบการขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เขาจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการประกาศปรับขึ้น จึงเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วมาตรการลดภาษีรัฐควรทบทวนว่าจะแก้ปัญหาตรงจุดได้อย่างไรไม่ใช่ใช้มาตรการวานแห่ ประเด็นต่อมาเรื่อง ลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมเพื่อช่วยนายจ้างนั้น รัฐก็ทราบดีว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้างผู้ประกันตน การลดการจัดเก็บเงินสมทบก็จะกระทบต่อสวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้รับในอนาคตแน่นอน ซึ่งในฐานะลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ยอม และไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ หยุดใช้มาตรการแบบเหมารวมในการช่วยเหลือนายจ้าง

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ว่า นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ได้ให้สัมภาษณ์ลงเดลินิวส์ออนไลน์ ว่า  “ไม่เห็นด้วยกับการไปลดสัดส่วนการเก็บเงินสมทบของนายจ้าง และลูกจ้างฝ่ายละ ละร้อย 1 เพื่อแลกกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ไปลดลงเงินสมทบเช่นนี้ก็กระทบกับเงินออมชราภาพของผู้ประกันตนอยู่แล้ว แม้จะลดแค่ 1 ปีก็เป็นเงินจำนวนเยอะอยู่ และที่ผ่านมาในการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 เมื่อปี 2558 กรณีนายจ้าง ลูกจ้างเกิดเหตุสุดวิสัย ให้ไปใช้กองทุนว่างงานได้ 180 วัน ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการไปลดการส่งเงินสมทบโดยไม่มีเหตุ  มันมีเหตุผลของมันอยู่ ดังนั้นเราขอคัดค้านเต็มที่ไม่ว่าจะลดไม่ถึงร้อยละ 1 ตามที่ขอมาก็ตาม เราคัดค้าน”

โดย นางเพชรรัตน์ สินอวย โฆษก และรองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้แถลงชี้แจง ว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้พิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว ทั้งลักษณะเศรษฐกิจ การลงทุน ท่องเที่ยว เกษตรกรรม เป็นต้น จึงเคาะเป็นตัวเลขออกมาอย่างที่เห็นและใช้เวลาในการพิจารณานาน ส่วนประเด็นการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่านั้น เป็นข้อเสนอของฝั่งนายจ้าง ซึ่งทุกฝ่ายในคณะกรรมการค่าจ้างต่างก็เห็นด้วย โดยการลดหย่อนภาษีนั้นจะคิดเฉพาะต้นทุนในส่วนของค่าจ้างแรงงานเท่านั้น สำหรับเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลดีต่อแรงงานต่างด้าวมากกว่าคนไทยนั้น ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ประมาณ 4 ล้านคน จากลูกจ้างในระบบประกันสังคมทั้งหมด 11 ล้านคน ซึ่งจะได้รับประโยชน์ และแรงงานนอกระบบก็ได้รับประโยชน์ด้วย รวมถึงแรงงานเดิมในระบบก็ได้ประโยชน์ด้วยจากกรณีที่บอร์ดค่าจ้างมีมติให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป จะต้องประกาศโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจนว่าการขึ้นค่าจ้างแต่ละปีเป็นเท่าใด ซึ่งแนวทางวางแผนส่งให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ผลักดันต่อ โดยการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ต่อไป

กรณีเสนอให้ลดการจ่ายเงินสมทบลงร้อยละ 1 ข้อเสนอนี้เป็นของฝั่งนายจ้าง ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างทุกฝ่ายก็เห็นด้วย คิดว่าอาจมีผลกระทบกับเงินออมชราภาพบ้างแต่ไม่มาก เพราะแค่ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งตามปกติแล้วสำนักงานประกันสังคมก็ต้องมีมาตรการอื่นมารองรับ โดยมีการคำนวณตัวเลขก้อนเงินจากผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นต่อปีเป็นเท่าไหร่ และคำนวณจากกรณีที่สถานประกอบการที่มีแรงงานมากกว่า 50 คนขั้นไปต้องปรับโครงสร้างเงินค่าจ้างใหม่นั้นต้องจ่ายไปเท่าไหร่ ซึ่งพบว่ามีสถานประกอบการขนาดกลาง และขนาดใหญ่มากเกือบร้อยละ 50 คูณกับจำนวนแรงงานซึ่งพบว่าเป็นจำนวนมาก แค่ 7 จังหวัด กทม.และปริมณฑล รวมถึงฉะเชิงเทรา ก็เกือบร้อยละ 40 ของแรงงานในระบบ ทั้งหมดจึงเป็นก้อนเงินที่โตพอสมควร

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า อยากถามว่า “ใช้อะไรคิด ที่จะลดภาษีนายจ้าง 1.5 เท่ายังไม่พอ ยังจะลดเงินสมทบประกันสังคมอีก 1% ทั้งที่ไม่ควรไปแตะต้องเงินกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตน ที่ทุกวันนี้รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบกว่า 5 หมื่นล้าน การปรับค่าจ้างที่ผ่านมาไม่เคยมีการอุ้มนายจ้างมากขนาดนี้ จึงไม่ต้องป้อนกันจนเต็มปาก ค่าจ้างขั้นต่ำ 308 – 330 บาท ไม่ได้ทำให้แรงงานพออยู่พอกิน สุดท้ายคนที่ได้ไม่ใช้แรงงาน แต่เป็นนายจ้าง คสรท. ยังยืนยันให้ปรับค่าจ้างอัตราเดียวกันทั่งประเทศ และจะมีมาตรการออกมากดดันก่อนจะมีการนำค่าจ้างเข้า ครม. ในวันอังคารที่ 23 ม.ค.61 โดยเฉพาะเงินสมทบประกันสังคม ถ้าไปแตะต้องเพื่ออุ้มนายจ้าง ภาคแรงงานไม่ยอมแน่นอน”

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง กล่าวว่า มาตรการที่รัฐออกมาหลังประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นมาตรการอุ้มนายจ้าง ที่กล่าวเช่นนี้ ทุกคนต้องเข้าใจนะว่า ค่าจ้างยังไม่ได้มีการปรับขึ้นต้องรอเดือนเมษายน 2561สิ่งที่มาก่อน คือ ค่าครองชีพที่สูง ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งรัฐไม่เคยมีมาตรการในการที่จะช่วยเหลือประชาชนคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย แต่เมื่อมีการประกาศจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐเตรียมมาตรการต่างๆในการที่จะช่วยเหลือนายจ้าง ทั้งมาตรการลดภาษีให้ และยังมาขอลดเงินสมทบประกันสังคมให้อีก อันนี้คือมาตรการที่ช่วยกลุ่มน้อยคือนายทุนแต่ส่งผลกระทบต่อคนจนส่วนใหญ่ สิ่งที่รัฐเสนอมาไม่ใช่มาตรการที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างมาตรฐานให้คนได้กินดีอยู่ดี มีสวัสดิการรองรับ รัฐควรหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดมาใช่แบบรูปหน้าปะจมูกแบบนี้

รายงานโดย วาสนา ลำดี