แรงงานปริทัศน์ออนไลน์ฉบับที่23(370) เข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2561 ใกล้ครบรอบ 4 ปีของการอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการจัดงานวันกรรมกรสากลหรือที่ประเทศไทยเปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานแห่งชาติเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา ในส่วนกลางมีขบวนวันแรงงาน 2 ขบวน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 1 ขบวน และอีก 1ขบวนนำโดยสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ 1 องค์กร และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 1 องค์กร ขบวนที่นำโดยคสรท.มีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล ไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องใหม่ต่อรัฐบาล แต่เป็นการมาติดตามข้อเรียกร้องเดิมที่ยื่นไว้เมื่อวันแรงงานปีที่แล้ว 10 ข้อ ส่วนขบวนที่นำโดย 15 สภาองค์การลูกจ้างซึ่งจัดงานที่ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกทม. มีการยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ
นอกจากนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือมีการจัดงานวันกรรมกรสากลเช่นเดียวกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือในภาคเหนือมีสหภาพแรงงานที่ปรากฏในทะเบียนของกระทรวงแรงงานเพียง 2 สหภาพ ที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 สหภาพ และที่จังหวัดตาก 1 สหภาพ แต่กลับสามารถจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นมาได้ โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติและนักวิชาการในภาคเหนือ
ในขณะที่สังคมโลกและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขบวนการแรงงานจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้มีที่ยืนและรักษางานและอำนาจการต่อรองของแรงงานไว้ได้ มีการจัดเวทีสัมมนาเพื่อร่วมกันหาคำตอบเกี่ยวกับแนวคิดและการปรับตัวของสหภาพแรงงานยุค“ดิจิตอล”ดังปรากฏในรายงานข่าวของแรงงานปริทัศน์ฉบับนี้