คสรท.สรุปงานพร้อมวางแผนงานปี 2561

นักวิชาการร่วม “ประเมิน วิเคราะห์ สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง แรงงาน ขบวนการแรงงาน ปี 2560 และแนวโน้ม 2561” อุตสาหกรรม 4.0 รัฐเอื้อต่อทุนมากกว่าแรงงาน หวั่นการจ้างงานมีปัญหา การเมือง ทำเศรษฐกิจแย่ ขบวนการแรงงานไม่เข้มแข็ง มีความเหลื่อมล้ำจะสูง

เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2561สัมมนาวางแผนงานประจำ 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ณ ศูนย์การพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  กล่าวเปิดงานว่า งานที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯวางไว้ในเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี ผ่านมาแล้ว 5 ปี การทำงานที่ผ่านมาต้องอาศัยการทำงานร่วมกันไม่เสร็จได้ด้วยคนคนเดียวในการทำงาน แต่ละยุทธศาสตร์ และบางเรื่องบางราวก็ต้องมีการก้าวข้ามให้ได้ แต่หากก้าวข้ามไม่ได้ก็ต้องกลับมาปรึกษาหารือกัน สถานการณ์การปรับเปลี่ยนของสังคม การเมืองที่เกิดขึ้น การจ้างงานแรงงานมีความเปลี่ยนแปลงไป การที่มีการขับเคลื่อนของแรงงานทำให้เกิดเวที วิวาทะกันทางสังคม เช่น กรณีการปรับขึ้นค่าจ้าง เมื่อมีการกำหนดตัวเลขว่าค่าจ้างที่จะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวเพื่อให้ทันต่อค่าครองชีพ ค่าจ้างที่ควรเป็นคือ 700 บาทเป็นต้น  ซึ่งการกล่าวถึงค่าจ้างก็ต้องกล่าวถึงเรื่องความมั่นคงในการทำงาน เศรษฐกิจ การเมือง สังคมด้วย เพราะมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งบทบาทคสรท.ต้องมีการกล่าวถึงในฐานะขบวนการแรงงาน ซึ่งต้องดูแนวทางการขับเคลื่อน ความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยว่ามีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในส่วนของขบวนการแรงงานโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นอย่างไร และส่วนของขบวนการแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างไร ทิศทางคสรท.ควรมีการก้าวไปข้างหน้าอย่างไร และจังหวะก้าวของขบวนการแรงงาน คสรท.จะมีการทำงานงานเพื่ออนาคต เป็นการปรับปรุงทิศทางการทำงานเพื่อเดินหน้าต่อไป ปี 2561 จะมีปรากฏการทำงานเชื่อมร้อยขบวนการแรงงานได้อย่างไร ภายใต้สถานการณ์ปัญหาแรงงาน อย่างกรณีแรงงานมิตซูบิชิแอร์ที่เกิดขึ้นจะมีการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ร่วมกันอย่างไร

นายโรเบิร์ตไพคอฟสกี ผู้อำนวยการโซลิดาริตี้ เซ็ตเตอร์ ประเทศไทย (SC) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ประเด็นขบวนการแรงงาน ก็เกิดขึ้นในขบวนการแรงงานทั่วโลกด้วยเช่นกัน เรื่องความเข้มแข็ง และทางSC มีความเชื่อมั่นในคสรท. แม้ว่า จะมีการถูกโจมตีจากสื่อโซเซียลมีเดียในประเด็นการต่อสู้เรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเป็นการเรียกร้องเพื่อให้คนงาน และการที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงย่อมมีศัตรู  ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะมีการทำลายอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน ที่ทำหน้าที่เรียกร้องเพื่อจัดสวัสดิการ สิ่งที่ทำอยู่ของสหภาพแรงงานนำมาซึ่งความเข้มแข็ง หากไม่มีสหภาพแรงงานชีวิตจะย้ำแย่แค่ไหน สหภาพแรงงานจะมาจำกัดการทำงานอยู่แต่เพียงสถานประกอบการไม่ได้ต้องมีการขยายการทำงานร่วมกันเพราะสหภาพแรงงานมีประเด็นที่ขับเคลื่อนกระทบกับคนส่วนใหญ่ แต่หลายๆคนไม่ทราบ ซึ่งต้องมีการทำให้เขาเข้าใจว่าการลงทุนที่สร้างผลกำไรนั้น ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นมากจากคนทำงาน และควรต้องปั่นผลกำไรนั้นมาสู่คนทำงานด้วยเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคม

โดยวันที่ 27 ได้มีการจัด “ประเมิน วิเคราะห์ สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง แรงงาน ขบวนการแรงงาน ปี 2560 และแนวโน้ม 2561” ดำเนินรายการ โดย นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคสรท.

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่เฟื่องฟูด้วยการไว้ทุกข์ในปีที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถจัดงานรื่นเริงได้ แรงงานนอกระบบก็สะท้อนปัญหาผลกระทบการตัดเย็บเสื้อผ้าก็ต้องเป็นสีดำ ไม่มีการผลิตงานใหม่ๆได้ และปัญหาต่อมาที่ส่งผลกระทบกับแรงงานคือ เรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งการเลือกตั้งไม่เลือกตั้งซึ่งก็กระทบกับเศรษฐกิจ สังคมด้วย ยังมีเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และคสรท.ก็มีการออกแถลงการณ์สนับสนุนชาวบ้านที่ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ว่าทางสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)กับออกแถลงการณ์สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งตรงนี้คิดว่า ขบวนการแรงงานอาจต้องมีการคุยกันให้ชัดเจนมากขึ้นในการที่จะกำหนดท่าที และประเด็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม การเคลื่อนไหวการเคลื่อนไหวก้าวคนละก้าว ของตูน บอดี้สแลม(นายทิวา คงมาลัย) ที่มีการเคลื่อนไหวได้เงินแล้วบริจาคช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล และจบไป ก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคม หากแต่ว่าคุณตูนมีการเคลื่อนไหว แล้วทำให้สังคมเข้าใจว่าการเข้าถึงสวัสดิการ การรักษาพยาบาลต้องให้ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม หากเป็นประเด็นนี้จึงจะถือว่า การเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ใช่เพียงได้เงินมาให้ทางโรงพยาบาลแล้วจบ ซึ่งการกล่าวนี้ไม่ได้ตำหนิการเคลื่อนไหว แต่ประเด็นที่มีการกล่าวแบบแพร่หลายในคำว่า การเคลื่อนไหวทางสังคม เกิดในเวทีประกวดนางงามจักรวาล ที่มีการตั้งคำถามต่อผู้ประกวดที่เป็นสาวไทย ซึ่งถูกมองว่า ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น แต่ว่า กลับทำให้สังคมเข้าใจคำนี้และมีการช่วยตอบประเด็นดังกล่าวจำนวนมากขึ้นก็เป็นการดีเป็นการให้ความรู้กับสังคม

ส่วนในประเด็นแรงงาน เป็นที่สนใจของสังคม เมื่อมีข่าวการแถลงของคสรท. ประกาศว่า ค่าจ้างต้องปรับขึ้นอย่างน้อย 700 บาท ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงของสังคม รัฐ นายจ้าง นักวิชาการถึงตัวเลขที่มีการนำเสนอ และยังมีการทำข้อมูลเชิงสอบถามเพื่อหาข้อมูลในการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยมีองค์ประกอบเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพสินค้าอุปโภคบริโภคนำมาถึงการเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบไม่เท่ากันออกมาแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจล่าสุดสื่อมวลชนที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีกว่า 30 จังหวัดที่อนุกรรมการค่าจ้างเสนอไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถามว่าทำไม? และทางองค์กรนายจ้างเองก็มีทิศทางว่า จะยื่นคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย ดูแล้วเหมือนการใช้พระราชบัญญัติ(พรบ.)แรงงานสัมพันธ์ในการยื่นข้อเรียกร้องสวนกับลูกจ้าง และการขับเคลื่อน ต่อมาคือเรื่องการเกษียณอายุที่บำนาญไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเคลื่อนไหวโดยคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคสรท.และพวก ซึ่งตรงนี้หากคสรท.ทำก็จะได้มวลชนเพิ่มในส่วนชนชั้นกลาง สิ่งที่เห็นการเคลื่อนไหวของคสรท.ที่มีการขับเคลื่อนอกจากวาระปกติอย่างวันกรรมกรสากล คือมีการจัดงานวันแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการมองข้ามเรื่องชนชาติ

ในมุมมองของตนต่อโครงสร้างการบริหารของคสรท.ที่มีการโครงสร้างต่างจากองค์กรแรงงานระดับชาติอื่นๆ และการที่ไม่เหมือนคือมีการกำหนดการทำงานที่ชัดเจน และขอมองเรื่องการทำงานต่อเนื่องคือประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำที่คิดว่า อาจต้องมองเรื่องทัศนคติของคนวงนอกด้วย ที่มากกว่าตัวเลขที่ประกาศ แต่คิดว่า ต้องช่วยกันทำให้คนนอกเข้าใจแม้ว่าจะมองว่า เป็นพวกที่ไม่เข้าโจมตีอย่างเดียว แต่คิดว่า มันสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจ ประเด็นต่อมาเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีการกล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยี ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน คนทำงานที่อาจไม่มั่นคงในอาชีพ

ประเด็นสุดท้ายที่มีการกล่าวถึงสถาบันกลางของแรงงานที่ทางพิพิธภัณฑ์แรงงานนำเสนอ จะเดินหน้ากันอย่างไร

อาจารย์สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรมวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่รัฐสนับสนุนทุน มีการกำหนดค่าจ้างที่ตอบสนองทุนจึงออกมาแบบค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่ากัน และอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นปัญหาที่เอื้อต่อทุนมากกว่าแรงงาน ในขณะที่ขบวนการภาคประชาสังคม และแรงงานต้องการที่จะสร้างสวัสดิการให้สังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้นแต่ว่า รัฐบาลก็มีแนวการแบ่งแยกผู้คนให้เป็นแบบสงเคราะห์นโยบายขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งตรงนี้การที่เรียกร้องสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมถูกตัดออกไป การมาของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีผลกระทบกับภาคประชาสังคมก่อน และจะกระทบกับแรงงานต่อมา ส่วนเรื่องการเมืองที่เป็นประเด็นการเลือกตั้งที่มีการกล่าวถึงว่า อาจเลื่อนไปคิดว่า คงไม่ได้เพราะว่ามีการประกาศไว้แล้ว

เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ชัดเจนของคสรท.ที่ยื่นให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ มีความชัดเจน คมชัดแล้ว การต่อสู้ของคนงานมิตซูบิชิแอร์ฯสร้างภาพของแรงงานที่ไม่ทิ้งกัน มีการเข้าไปช่วยเหลือกันดีอยู่ แต่ว่า อาจต้องมีการถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า เรื่องการขับเคลื่อนทางสังคมการที่ออกมาสนับสนุนการต่อสู้ของภาคประชาสังคมก็ชัดเจนอยู่เป็นภาพของขบวนการแรงงานที่ร่วมกับสังคม จุดเด่นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไปเคลื่อนเรื่องการเลิกจ้างคนท้อง ข้อเสนอเรื่องการลาคลอด การทำงานเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายมีความต่อเนื่องไม่ว่า จะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ ยังมีขบวนที่เดินมิตรภาพ ที่เดินกัน 4 คน เมื่อร้องศาลปกครอง ได้ให้มีการคุ้มครองชั่วคราว และตำรวจไม่มีสิทธิ์ปิดกั้น และรัฐต้องสนับสนุนการใช้สิทธิ ซึ่งตอนนี้สามารถทำให้กิจกรรมเดินมิตรภาพทำได้และในส่วนของประชาชนตอนนี้ออกมาเดินในส่วนของภาคใต้และอาจมีอีกหลายกลุ่มออกมาเดิน พระราชบัญญัติ (พรบ.)ชุมนุมจึงใช้ไม่ได้ แน่นอนว่า การต่อสู้แบบดื้อแพ่งทำอยู่แต่ก็ต้องใช้กฎหมายที่เอื้อกับเราด้วย

การทำงานเพื่อสนับสนุนภาคประชาชน การทำงานกับชนชั้นกลางต้องทำด้วย เพราะว่าการเคลื่อนไหวค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ผลที่เกิดขึ้นเป็นผลดีกับทุกคนในสังคมนี้ จึงอยากให้ขบวนแรงงานมีการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับภาคประชาสังคมด้วยเพื่อให้เกิดการสนับสนุนขบวนแรงงานด้วย

การเลือกตั้ง มีปัญหามากมายกับกฎหมายลูกที่ออกมาและมีผลกระทบกับประชาชน กลุ่มผู้หญิงก็มีการขับเคลื่อน ทั้งการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร(สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นปัญหาอย่างมาก มีผลกระทบกับกับแนวคิดที่ไม่มีสัดส่วนของแรงงาน กลุ่มผู้หญิง แต่ก็ต้องเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไข และต้องมีการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยกับการที่จะไม่เลือกตั้ง ซึ่งประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศบังคับใช้ อาจได้ไม่เท่ากันทั่วประเทศ แล้ว คสรท.จะเคลื่อนไหวต่อหรือไม่ ในการที่จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งคิดว่า คสรท.ต้องยืนยัน ต่อมาเรื่องอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ที่ต้องมีการเคลื่อนไหว ต้องให้ยกเลิกให้ได้ โดยนำข้อมูลที่เสนอไม่ปรับของ 35 จังหวัด การขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้ และมีการขับเคลื่อนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีการทำประชาพิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีการให้คนเข้าร่วมน้อยมาก ซึ่งยุทธศาสตร์ชาตินี้ จะกระทบกับทุกคนแน่นอนแม้แต่ผู้ใช้แรงงาน

อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ปรากฏการที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นทั่วโลก คือตอนนี้คือพรรคขวาจัดได้เข้าสภาครั้งแรก กระแสชาตินิยมเกิดขึ้น และทำให้ภาพของภาคประชาชน ขบวนแรงงานถูกทำให้หายไป และคนที่เป็นคนส่วนใหญ่ถูกทำให้มองไม่เห็น ซึ่งเป็นคนจน ซึ่งหากปล่อยให้กระแสแบบนี้เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะสูงขึ้น โลกอุตสาหกรรม 4.0 เกิดขึ้นทั่วโลก รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องไปต่อสู้กับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลง เอาที่ว่า เป็นประชาธิปไตยแต่ประชาชน ขบวนการแรงงานกับอ่อนแอ หากขบวนการแรงงานไม่เข้มแข็งความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับขบวนการแรงงาน

สิ่งที่รัฐบาลทำคือแบ่งแยกแล้วปกครองซึ่งเกิดขึ้นมาโดยตลอด สิ่งที่ประเทศไทยมีคือ ภาคประชาสังคมที่ถ่วงดุล แต่ 10 ปีที่ผ่านมาภาคประชาชนถูกทำให้เกิดความแตกแยกกัน ซึ่งไม่ว่าจะรู้หรือไม่ว่าน่าของรัฐบาลที่มาปกครองนั้นไม่ได้รูปหน้าเปลี่ยนไปจากกลุ่มทุนเดิมได้เลย การต่อสู้สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีการเรียกร้องกันเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันมันถอยไปกว่านั้นอีก ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเข้ามา ประชาธิปไตยก็ยังมาไม่ถึง ทั้งนักวิชาการมีการให้สัมภาษณ์ว่า ต้องลดถอยประชาธิปไตยซึ่งตนไม่เห็นด้วย และคิดว่าต้องไปให้ถึงความเป็นประชาธิปไตย วันนี้เราอยู่ในกรอบความคิดเสรีนิยมใหม่ และติดกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เราไม่คิดว่ารัฐต้องจัดการให้ การที่คนออกไปสนับสนุนจำนวนมากเป็นเพราะเราไม่เข้าใจว่า สวัสดิการนั้นเป็นสิทธิที่เราต้องได้ และเรายังคิดและเชื่อในแนวคิดอุปถัมภ์ว่า มีคนที่สูงกว่าเราเหนือกว่าเรา และเราต้องเข้าไปหาเขา เชื่อว่า จะได้ นั้นทำให้เราไปไม่ถึงฝัน ซึ่งคสรท.มีปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องชัดเจนว่าต้องเอาประชาธิปไตยกลับมา และต้องทำงานเชื่อมร้อยภาคประชาสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องมองข้ามสิ่งที่ผ่านมาเพื่อร่วมกันสร้างประชาธิปไตย ด้วยรัฐธรรมนูญนั้นวางกลไกที่จะอยู่กันยาว ประชารัฐที่วางไว้คืออำนาจรัฐกับทุนที่จับมือกันวางแผนไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ ซึ่งการที่จะสืบทอดอำนาจต่อตอนนี้สู่จุดเสื่อมถอยแล้ว และการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ยั่งยืนต้องสู้เรื่องหลักการ ปัญหายุทธศาสตร์ 1 ปี นั้นแม้ตัวชี้วัดจะต่ำแต่ว่ามันสามารถเดินหน้าได้ และคิดว่าระยะยาวสามารถทำให้เกิดขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งได้ และต้องมีการกลับมามุ่งมั่นในการทำงานยุทธศาสตร์ การที่ทำมาแล้วเป้าได้เพียงร้อยละ 10 ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าต้องทำ การจัดตั้งต้องปรับใหม่ และต้องหันมาจับมือภาคประชาสังคมในการทำงานสร้างระบบประชาธิปไตย และจับมือกันให้ไปถึงเป้าหมายนั้นจงเชื่อมั่นในการเดินหน้าต่อไป

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กล่าวว่าโลกวันนี้ระบบทุนพัฒนามา 4 ขั้นแล้วจากยุคอุตสาหกรรมที่ 1.0 มาถึงอุตสาหกรรมยุค 4.0 การพัฒนาของทุนก็เพื่อการกดขี่กรรมาชีพ ต้องชัดเจนในทางชนชั้น ตอนนี้ทุนนานก็กินทุนเล็ก แต่คนที่ถูกกินคือกรรมกร การที่จะขึ้นค่าแรงจึงมีการร้องกันหมด ค่าแรงขึ้นราคาค่าครองชีพก็ขึ้นค่าแรงขึ้น ต้องซื้อของได้มากขึ้น แต่ว่าหากค่าจ้างขึ้นซื้อของได้น้อยลงแสดงว่าค่าจ้างลดลง ตอนนี้การกดขี่ขูดรีดมาถึงสุดท้ายการจ้างงานจะลดลง ประเทศไทยจะมีการจ้างงานลดลงคนว่างงานมากขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งประเทศไทยก็อยู่อย่างนี้อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร และเอาใจทุน และอำนาจรัฐอยู่ในมือของทุน และทหารมานาน เพราะแรงงานบอกตัวเองตลอดว่าอย่าไปยุ่งไปเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งความชั่วร้ายเราอยู่ในความเป็นทาสทุน สังคมเละเลวร้ายสังคมสลับซับซ้อนมากขึ้น ในสังคมนี้มี 2 ชนชั้นคือชนชั้นผู้ขูดรีด กับผู้ถูกขูดรีด หากเราเป็นนักต่อสู้ก็ต้องสู้อย่าหยุด ดูอย่างค่าจ้างขั้นต่ำสุดท้ายประกาศปรับขึ้นค่าจ้างใครเป็นคนกำหนด ภาครัฐใช่หรือไม่ แล้วการเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างตัวเลข 700 บาทใครคัดค้าน และทำไมถึงค้าน เพื่อใคร แล้วใครเป็นคนออกกฎกำหนดสูตรว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ เราต้องเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับมา เพราะทรัพยากรมีเพียงพอกับมนุษย์ทุกคน และจะบริหารจัดการอย่างไรให้เพียงพอต่อคนทุกคนในประเทศนี้ แต่ว่านายทุนมีทรัพยากรมากมายจนล้นเกิน ซึ่งรัฐยังให้ทุนได้ประโยชน์ไม่ได้มีการจัดสรรทรัพยากรให้กับคนทุกคน เราต้องมองเรื่องรัฐสวัสดิการ เพื่อการจัดให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ สมกับศักดิศรีความเป็นมนุษย์

การต่อสู้ของแรงงานต้องมากกว่าสวัสดิการในโรงงานของตนเองเท่านั้นในโรงงานสามารถเรียกร้องได้ แต่การเคลื่อนไหวภายนอกก็ต้องขับเคลื่อนให้เกิดสวัสดิการที่เท่าเทียม กฎหมายแรงงานทุกฉบับที่มีนั้นไม่ได้ทำให้แรงงานมีชีวิตที่ดี มีการกดขี่ขูดรีดแรงงาน ไม่มีระบบคุ้มครองให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ค่าจ้างไม่พอกิน ต้องมองกันตั้งแต่เกิดจนตายจะมีความมั่นคงอย่างไร การเรียกร้องสิทธิเราไม่ใช่ขอทาน เรามีความเท่าเทียมกับทุน และต้องต่อสู้ทางการเมืองด้วย องค์กรนำระดับประเทศต้องคิดเรื่องระยะยาว หากปีนี้นัดชุมนุม 3 ครั้ง 4 เดือนเรียกร้องอะไร เป็นการซ้อมรบ เมื่อได้ตามนั้น คนงานก็จะออกมามากขึ้นขบวนการต่อรองก็จะตามมา

กฎหมายรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ไม่มีกลุ่มแรงงาน โดยเอาแรงงานไปรวมกับกลุ่มอื่นๆด้วย แต่มีกลุ่มกสิกรรม เกษตรกรยังมีกลุ่ม ทำให้เห็นว่า รัฐไม่เห็นหัวกลุ่มแรงงานเลย ซึ่งเผด็จการชุดนี้ทำให้เราสู่ความมืดสนิทแล้ว และคิดว่าไม่นานจะสู่ความรุ่งอรุณฟ้าใหม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เป้าหมายต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะทุน หรือทหาร เช่นการที่จะต้องมีการกำหนดให้เก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อปฏิรูปที่ดินให้ทุกคนมีที่ทำกิน ขบวนการแรงงานต้องเป็นขบวนการทางสังคม ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น สิ่งที่เราคิดไม่ได้ทำร้ายใคร เราเพียงต้องการสังคมเป็นธรรม เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้เกิดความเท่าเทียมกัน

จากนั้นได้มีการสรุปการดำเนินกิจกรรมและการทำงานยุทธศาสตร์ พร้อมการวางแผนขับเคลื่อนในปี 2561 ในวันที่ 28 มกราคม 2561 โดยมีการกำหนดทั้งหมด 14 ประเด็น

  1. ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูประบบประกันสังคม
  2. พระราชบัญญัติบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
  3. ขับเคลื่อนเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง
  4. ค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ
  5. รณรงค์เรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคง โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)
  6. รณรงค์การควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค
  7. ปัญหาการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ด้านการละเมิดสิทธิ
  8. รัฐต้องรับรองอุนสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
  9. รณรงค์เรื่อง การละเมิดสิทธิแรงงาน
  10. การรับรองพิธีสารอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ละ ฉบับที่ 12
  11. เรียกร้องเรื่อง รัฐสวัสดิการ เช่นการศึกษาฟรี และการรักษาฟรี
  12. เรื่องการขยายสิทธิประกันสังคมกรณีเกษียณอายุ ควรเป็น 55 ปี หรือ 60 ปี
  13. การสนับสนุนพรรคการเมือง เรื่องภาษี การรณรงค์การเลือกตั้งของแรงงาน
  14. การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการกลางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กลับไปทำเป็นข้อเสนอ เพื่อดูเรื่องความสำคัญก่อน และหลังต่อไป

รายงานโดย วาสนา ลำดี