“2 ปี การปฏิรูประบบประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร”

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย เพื่อพัฒนานโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะและการมีหลักประกันทางสังคมสำหรับคนทำงาน (คสปค.) ได้จัดเวทีสาธารณะ 2 ปี พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 “2 ปี การปฏิรูประบบประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร”ขึ้นมา

นางพรพรรณ ศุภนคร ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558  ว่า 27 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อผู้ประกันตน การปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อผู้ประกันตน ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันทางสังคมเพื่อคนทำงานและครอบครัว ให้การปฏิรูปประกันสังคมเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อยกระดับลูกจ้างให้ได้รับการเข้าถึงสิทธิที่มีความเหมาะสม ขณะนี้ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วยในการบริการสำหรับผู้ประกันตนในการลดการทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือในกรณีของการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมฉบับที่ 4 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส ถือว่า เป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการ นอกเหนือจากการปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มขึ้นแล้ว เช่น การปรับสิทธิประโยชน์ด้านการคลอด หรือมีคณะกรรมการตรวจสอบสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น

ทั้งนี้ในปี 2561 สำนักงานประกันสังคมจะเพิ่มการสงเคราะห์บุตรเป็นจำนวนเงิน 600 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาระบบดิจิตอลเข้ามารองรับการบริการมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านระบบ smart phone , การสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ด้วยตนเองผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ เหล่านี้จึงคือความพยายามของสำนักงานประกันสังคมในการปฏิรูประบบประกันสังคมมาโดยตลอด

ต่อมาได้มี การอภิปราย “ฟันธง 2 ปี การปฏิรูปประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร”

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา ถ้าผู้ประกันตนได้ติดตามอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่ามีกฎหมายลำดับรอง 19 ฉบับที่ต้องออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 แต่กลับมีการออกกฎหมายเหล่านี้ที่เรียกว่า “กฎหมายลูก” ออกล่าช้า ประเด็นที่ 1. เรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปที่สำคัญมาก ในประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน คือ

หนึ่ง กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ดูแลคนที่เกี่ยวข้อง 4 ล้านกว่าคน มีงบประมาณสนับสนุน 70,000 กว่าล้านบาท โดยที่ข้าราชการไม่ต้องจ่ายงบประมาณแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้ผ่านภาษีประชาชน

สอง กองทุนประกันสังคม เกิดมาเมื่อปี 2533 ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีชาติชาติ ชุณหะวัณ จากมติ 333 เสียงที่ผ่านรัฐสภาในยุคนั้นอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยปีแรกมีสิทธิประโยชน์แค่ 4 กรณีเท่านั้น และตอนแรกก็ไม่มีเงินบริหารจัดการ ต้องไปนำเงินจากกองทุนเงินทดแทนมาบริหารก่อน

ตอนนี้ที่กองทุนประกันสังคมมีขนาดใหญ่โตขึ้น เพราะมาจากเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง คนละ 5 % ส่วนรัฐสมทบ 2.75 % ครอบคลุม 7 สิทธิประโยชน์ สำหรับกรณีสุขภาพโดยตรงนั้น คิดเป็นเงินสมทบ 0.88 % เท่านั้น มีเงินในกองทุน 1.83 ล้านล้านบาท ดูแลลูกจ้าง 13 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2533-2558 เน้นแต่เรื่องการรักษาเท่านั้น แต่พอรัฐบาลชุดนี้เข้ามา กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ในการดำเนินการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ มีการบรรจุเรื่องการส่งเสริมและป้องกันโรคเข้ามา เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสิทธิประโยชน์ที่มีการเพิ่มขึ้นมาในกฎหมายฉบับนี้ เรียกได้ว่า เป็นการปฏิรูปรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการบริหารงานที่ดี มีมืออาชีพ จะทำให้เกิดการสร้างสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อผู้ประกันตนได้มากขึ้น

สาม  กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่พบว่าสมัยช่วงที่เกิดขึ้นมาแรกๆ จะมีการรวมกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่ผมและเครือข่ายไม่เห็นด้วย ออกมาคัดค้าน เพราะรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น งบประมาณกองทุนนี้มาจากภาษีประชาชน เฉลี่ยคนละ 508 บาทต่อคน แต่พบว่าประชาชนที่เป็นผู้ประกันตนจะไม่สามารถไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพนี้ได้

ดังที่พบตอนนี้ คือ กรณีคนพิการที่พบปัญหาเรื่องการใช้สิทธิ และนำมาสู่การแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้ทั้ง 2 สิทธิได้ คือ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเช่นเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกันตน

ประเด็นที่ 2 ในเรื่องของกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง พบว่า ออกมาล่าช้ามากและส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้ประกันตน เช่น เรื่องการตรวจสุขภาพพบปัญหาหลายประการต่อการเข้าถึงบริการ ดังนั้นต้องไปพิจารณาว่า การปฏิรูประบบประกันสังคม เช่น ในเรื่องสุขภาพ ตอบโจทย์ไหม กรณีการฝากครรภ์ผู้ประกันตนผู้หญิง มีสิทธิได้รับบริการไหม กรณีการตรวจต่อมลูกหมาก ที่ถือเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพ ต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานประกันสังคม ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเข้ามาในเรื่องการส่งเสริมและป้องกันโรค ที่สอดคล้องกับบริบทที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

การใช้สิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ ตามกฎหมายเมื่อรับสิทธิดังกล่าวนี้แล้ว สิทธิสุขภาพต้องถูกโอนไปยังสิทธิหลักประกันสุขภาพทันที ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป เพราะถือว่า สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว ทำอย่างไรผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิต่อจากตรงนี้

ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ “ส่งเสริมสุขภาพ” กับ “ตรวจสุขภาพ” ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันไหม ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ เพราะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ต้องมีการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น และต่อมาเมื่อตรวจเจอโรคแล้ว จะมีแนวทางวิธีการในการแก้ไขอย่างไร เช่น การสร้างระบบโภชนาการในโรงงานขึ้นมาใหม่ เป็นต้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการปฏิรูปประกันสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจึงสำคัญมาก

ประเด็นที่ 3 การให้ความสำคัญกับหลักการปฏิรูปประกันสังคม สิ่งที่เครือข่ายคปค.ดำเนินการและมีการขับเคลื่อนส่งต่อให้รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง คือ แนวทางการปฏิรูปประกันสังคมในด้านต่างๆ พบว่า ตั้งแต่มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อมาด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ก็พบว่ายังไม่มีการหยิบยกเรื่องหลักการปฏิรูปประกันสังคมเข้าไปพิจารณา โดยเฉพาะเรื่อง “โปร่งใส ยืดหยุ่น บูรณาการ ครอบคลุมทุกกลุ่ม” นี้คือสาระสำคัญในการปฏิรูป ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการเหล่านี้

ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ คือ กรรมการประกันสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีมาแล้วรวม 13 คณะ มีความมืดมน คือ มีฐานะแค่ที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่มีความหลากหลายในกลุ่มผู้ประกันตน คนที่มีอำนาจจริง คือ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่มาจากข้าราชการโดยตรง ซึ่งมีตัวอย่างสำคัญที่สะท้อน เช่น การให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลรับรองสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายเหมาค่ารักษาเป็นรายปีให้ แต่ประสิทธิภาพที่ผู้ประกันตนได้มายังขาดความคุ้มค่า หรือการขาดแพทย์ในสาขาต่างๆที่ไม่ครอบคลุมโรคต่างๆ เป็นต้น

จากทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมา เมื่อถามว่า 2 ปี ผู้ประกันตนได้อะไร คือ ได้รับการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ต่างๆให้เอื้อกับผู้ประกันตนในเรื่องต่างๆให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายการขับเคลื่อนของ คปค. คือ การทำงานคู่ขนานกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปรับฐานเงินสมทบตามฐานค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน, การขยายหรือปรับฐานเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นและสามารถให้ตกทอดถึงทายาทได้เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต, การไม่กำหนดจำนวนครั้งในการคลอดบุตร ฯลฯ

มีข้อสังเกตสำคัญสำหรับในเรื่องการจัดเวทีเรื่องขยายอายุรับบำนาญที่ทางสำนักงานประกันสังคมจัดโดยตรง ทางสภาองค์การลูกจ้างฯไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานดังกล่าวนี้ ดังนั้นนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องหารือในการดำเนินการร่วมกันต่อไป

น.พ.อำนวย กาจีนะ คณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับในเรื่องการจัดระบบบริการทางการแพทย์ ประกันสังคมนั้น ก็ต้องมองกลับไปที่หลักการสำคัญประกันสังคม คือ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างและขยายสิทธิประโยชน์ทางด้านสังคมให้ครอบคลุมทุกด้าน แม้ว่าปัจจุบันจะมีแค่ 7 ด้านก็ตาม แต่โดยหลักการต้องครอบคลุมทุกด้านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์นั้นๆ การเข้าถึงบริการ คุณภาพ ประสิทธิภาพของการจัดการที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นให้มีสิทธิประโยชน์ทางด้านสังคมที่ครอบคลุมทุกด้านให้เป็นจริงให้ได้ และพยายามพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ

ภายใต้หลักการดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมก็ได้นำกรอบนี้มาพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะทางการแพทย์ คือ ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ที่ประเทศไทยมี 3 ระบบ ซึ่งระบบประกันสังคมต้องไม่ด้อยกว่าอีก 2 ระบบที่มีอยู่

ทิศทางการทำงานของคณะกรรมการการแพทย์ได้มีการประกาศ มีมาตรการต่างๆออกมา โดยใช้ประชาชนเป็นเป้าหมายในการทำงาน ไม่ใช่ให้สถานบริการเป็นเป้าหมายอย่างที่ผ่านมา ถือว่าให้ผู้ประกันตนเป็นเป้าหมายสำคัญเรียกว่า “people focus” โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงใน 2-3 ปีหลังที่ผ่านมานี้ เพื่อให้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงระบบการเงินการคลังของกองทุน และระบบสุขภาพโดยภาพรวมเช่นเดียวกัน

สำหรับในตัวของกฎหมายฉบับ 2558 เรื่องที่สำคัญ คือ การส่งเสริมและป้องกันโรค กับอีกเรื่องคือ การได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อได้รับความเสียหายจากการได้รับบริการทางการแพทย์ ที่ผ่านมามองว่าใน 2 เรื่องนี้ ระบบประกันสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงสิทธิเหมือนกองทุนอื่น จึงได้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามีความล่าช้าในการดำเนินงาน แต่ก็มีความพยายามในการแก้ไขให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิให้ได้จริงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การสื่อสารให้ผู้ประกันตนเข้าใจถึงสิทธิที่มี จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ที่น่าสนใจเรื่องสุขภาพ เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกจากโรคต่างๆ ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด แต่มาวันนี้สำนักงานประกันสังคมก็มีการปรับเปลี่ยนงบประมาณในการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับวิทยาการทางการแพทย์มากขึ้น ที่ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้น ขยายเพดานในการเบิกจ่ายงบประมาณในหลักล้านขึ้น

หรือในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีกฎหมายประกันสังคมรองรับการดำเนินการที่เป็นอิสระของตนเอง ก็มีการปรับให้เท่าเทียมกันกับระบบสุขภาพอื่นๆ บางอุปกรณ์ก็มีความก้าวหน้ามากกว่าอีก 2 ระบบเช่นกัน

ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกันตนในสิทธิที่ได้รับโดยตรง และต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ใช่การรอแต่นโยบายรัฐเท่านั้น การสะท้อน การส่งเสียง การช่วยกันคนละไม้คนละมือจะช่วยให้การทำงานคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ไปได้ดี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางบริหาร แต่ก็เป็นเรื่องปกติทั่วไป

เป้าหมายของสิทธิประโยชน์นี้ คือ การให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสดูแลตนเองเป็นสำคัญ รวมถึงมีการผลักดันให้มีคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคโดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้จริง มีนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา เป็นประธานอนุกรรมการฯดังกล่าว ทั้งนี้ในระยะยาวจะมีการดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้ เช่น การตรวจช่องปาก การฝากครรภ์ การตรวจมะเร็งต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการฯ

ส่วนในเรื่องเงินช่วยเหลือทางการแพทย์จากการรับบริการแล้วเกิดความเสียหายนั้น ความก้าวหน้า คือ คณะกรรมการประกันสังคมได้ให้ความเห็นชอบในทางหลักการแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการวางแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง  โดยให้นำเงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้โรงพยาบาลมาดำเนินการในส่วนนี้ โดยให้พิจารณาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่วางแนวปฏิบัติเรื่องนี้ไว้อยู่แล้วเป็นบรรทัดฐาน

ประการต่อมาในเรื่องการจัดระบบการให้บริการ พบว่า มีการนำเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในการจัดระบบบริการให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

กล่าวได้ว่าการดำเนินงานปัจจุบันจึงเป็นลักษณะการบริการแบบ value base พุ่งเป้าไปที่ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ คำนึงเรื่องการร้องเรียนจากผู้ประกันตนเพื่อการแก้ไขปัญหาให้เกิดคุณภาพที่มากขึ้น

นางสาวอรุณี  ศรีโต กรรมการประกันสังคม กล่าวว่า เวทีนี้จะมาพูดเรื่อง 2 ปี ปฏิรูปประกันสังคม ถ้าไม่มีการปฏิรูป คงไม่ได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการประกันสังคม เพราะนึกถึงตนเองที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ และเมื่อเข้าไปเป็นกรรมการเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว ก็เห็นได้ว่า ยังไม่มีการคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายเท่าใดนัก ทั้งๆที่ผู้ประกันตนจำนวนมากเป็นผู้หญิง เพราะกฎหมายก็ได้กำหนดเรื่องสัดส่วนหญิงชายในกรรมการประกันสังคมไว้

2 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ภายหลังจากที่เข้าไปเป็นกรรมการประกันสังคม แน่นอนแม้ว่า จะทำหน้าที่เป็นแค่ที่ปรึกษาก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาตนเองเคยทำงานสหภาพแรงงานมาก่อน เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจก็จะมีการโหวตหรือยกมือลงคะแนน แต่ในบอร์ดคณะกรรมการประกันสังคมเวลาจะตัดสินใจเรื่องใดๆ จะใช้ข้อมูลเนื้อหาในการพิจารณา หาจุดสมดุล หาจุดลงตัว จึงแตกต่างจากการทำงานสหภาพแรงงาน และต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาที่ยาวนานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อต้องนำไปใช้ต่อไป ทำให้ประกาศหรือระเบียบต่างๆจึงออกมาล่าช้า ไม่ใช่การนิ่งนอนใจแต่อย่างไร

การปฏิรูป คือ การเปลี่ยนแปลง แปลว่าต้องมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น เช่น การคลอดบุตร ที่เปิดกว้างแก้ไขให้มากกว่า 2 คน คือ 3 คน สอดคล้องกับภาวะเด็กเกิดน้อยและเป็นสังคมสูงวัย สัดส่วนคนทำงานในอนาคตจะน้อยลง แต่ยังจำกัดแค่ 3 คน ทางคณะกรรมการฯก็จะรับไปดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขต่อไป

อีกเรื่องคือ การสงเคราะห์บุตร ที่ปรับเปลี่ยนเงินเป็นจำนวน 600 บาท ที่ตอนนี้บอร์ดได้เห็นชอบในหลักการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มว่าอาจจะขยายอายุเด็กเป็น 8 ขวบ

ขณะเดียวกันมียังมีการวางยุทธศาสตร์เรื่องการปฏิรูปประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ ทำงานอย่างรวดเร็วขึ้นในการพิจารณา ทางสำนักงานประกันสังคมก็ได้มีการศึกษาและวางแนวทางในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจด้วยว่าการตัดสินใจของกรรมการประกันสังคมไม่ได้เป็นอิสระโดยลำพัง การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอยู่เช่นเดียวกัน

อีกทั้งตอนนี้มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม จะเป็นฉบับที่ 5 เสนอว่า “รื้อทั้งทีอย่าให้เสียของ อีก 20 ปีข้างหน้ายังทันสมัย ใช้ได้ต่อไป” ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องยาก ใช้เวลานาน ดิฉันคาดหวังว่าอยากให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้

กรณีเช่น การใช้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องจากการรักษาพยาบาลเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนให้สามารถใช้สิทธิในระบบประกันสังคมได้ต่อไป นอกจากสิทธิรักษาพยาบาลแล้ว ยังรวมถึงเงินค่าทำศพ และทุพพลภาพ อยากให้คงไว้จนกว่าจะเสียชีวิตแม้ว่าจะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วก็ตาม นี้เป็นอีกประเด็นที่ควรต้องได้รับการแก้ไขในตัว พ.ร.บ. ประกันสังคม โดยตรง

หรือกรณีการที่ผู้ประกันตนออกจากมาตรา 33 มาสู่มาตรา 39 ก็พบปัญหาเรื่องการรับบำนาญตามมาตรา 39 ที่ใช้ฐานเงินสมทบจำนวนนิดเดียว ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นตอนอยู่ในมาตรา 33 ได้ส่งเงินสมทบจำนวนสูงกว่ามาตรา 39 มาโดยตลอด เพราะมาตรา 39 คิดที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาทเท่านั้น ทำให้ได้เงินบำนาญเพียงเฉลี่ย 1,200 บาทต่อเดือนเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าอย่างไรก็ตามเงินบำนาญที่ได้มาจึงไม่พอการยังชีพและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก

การปฏิรูปจึงต้องเป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น นี้คือหลักการสำคัญ และต้องไม่ฝากความหวังไว้ที่สำนักงานประกันสังคมเท่านั้น ต้องทำงานคู่ขนานในกลุ่มผู้ประกันตนควบคู่กันไปด้วย มีเวทีแสดงความคิดเห็นสะท้อนต่างๆมายังสำนักงานประกันสังคมด้วย

ขณะนี้กระทรวงแรงงานว่างเว้นรัฐมนตรี อยากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในเรื่องนี้ในการจัดสรรตำแหน่งที่ควรเป็นนักปฏิรูปมา จะเป็นทหารก็ได้แต่ต้องเข้าใจเรื่องการปฏิรูปไม่ใช่แค่มารับฟังเรื่องเดิมๆประเด็นเดิมๆที่ขับเคลื่อนกันมาก่อนแล้ว ต้องทำการบ้านมาก่อนมารับตำแหน่ง ก่อนมาเข้าบริหาร จะได้ไม่เสียเวลา ต้องเป็นคนเก่ง กระฉับกระเฉง เพื่อทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความสุข และนำมาสู่การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ รวมถึงการปฏิรูประบบประกันสังคมต่อไป

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เข้ามาร่วมผลักดันเรื่องประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2531 ตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กว่า 30 ปี ที่ร่วมขับเคลื่อน มีการอดอาหารร่วมกับผู้ใช้แรงงานในสมัยนั้นเพื่อให้เกิดกฎหมายประกันสังคมออกมา ผมมองว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ดียิ่งขึ้นเป็นระยะๆ แม้ว่ากฎหมายหลักประกันฯจะออกมาภายหลังกฎหมายประกันสังคมก็ตาม

บทบาทการทำงานของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานหรือ คปค. ได้เกิดมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นส่วนสำคัญของหลายๆฝ่ายที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) , สภาองค์การลูกจ้างต่างๆ, องค์กรแรงงานต่างๆ, องค์กรพัฒนาเอกชน ถือได้ว่าเป็น 7 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ 2 ปีเท่านั้น

                โดยเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมี 4 ประการ คือ

  • เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานที่รวม 17 องค์กรเข้ามาทำงานร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นกลไกภาคแรงงานที่สำคัญในการสะท้อนความคิดเห็นไปยังสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ตลอดจนการติดตามและผลักดันให้เกิดนโยบายใหม่ๆ
  • สำนักงานประกันสังคมเกิดการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เน้นการป้องกันมากกว่าตั้งรับเท่านั้น ดังที่พบในเรื่องการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งในเรื่องนี้
  • การตระหนักร่วมกันถึงหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประกันสังคมให้เกิดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เช่น การที่คณะกรรมการประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้งเท่านั้น ทำให้ผู้ประกันตนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนประกันสังคมมากขึ้น ในเรื่องนี้ก็มีการกำหนดไว้ในกฎหมายประกันสังคมฉบับที่ 4 ในมาตรา 8 นี้
  • การปรับสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อผู้ประกันตนกลุ่มต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตน ซึ่งต้องนำส่งเงินประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้รับ 7 สิทธิประโยชน์ แต่ด้วยเงื่อนไขระยะเวลาการอยู่อาศัยในประเทศไทยที่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไว้แล้ว ทำให้การรับสิทธิประโยชน์บางอย่างมีปัญหา เช่น บำนาญชราภาพ ก็มีการแก้ไขเป็นบำเหน็จชราภาพแทน และทำให้แรงงานข้ามชาติก็มีสิทธิได้รับเงินก้อนนี้กลับไปยังประเทศบ้านเกิด

อย่างไรก็ตามก็ยังพบปัญหาเรื่องการใช้สิทธิที่มีรายละเอียดในเชิงปฏิบัติอยู่ แต่ผมเข้าใจดีว่านี้คือ การปฏิรูป เป็นการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ ไม่ใช่การปฏิวัติที่พลิกฝ่ามือสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลยทันที ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีเรื่องการสนับสนุนเรื่องศูนย์เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรมที่ควรนำเงินกองทุนประกันสังคมมาสนับสนุนก็ยังไม่เกิดขึ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกันอีกประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสไปทำงานกับผู้หญิงในชุมชนมากขึ้นและพบปัญหาเรื่องผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง มีการรับภาระดูแลเด็ก ผู้สูงอายุเป็นหนี้จากการกู้ยืมในชุมชนให้บุตรตนเองที่ไปทำงานในเมือง ดังนั้นการมีเงินรายเดือนดูแลผู้สูงอายุแบบระบบ “บำนาญ” จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรับเงินก้อนที่เรียกว่า “บำเหน็จ”

นายอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมีประกันสังคม คือ การสร้างความมั่นคงให้กับคนงานในประเทศไทย สิ่งที่นายจ้างคาดหวัง คือ เงินที่จ่ายไปแล้วจะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล, บำนาญต่างๆในยามชราภาพในการดูแลตนเองหลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน ผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตอย่างไร เงินประกันสังคมจะเข้ามาดูแลตรงนี้อย่างไร

2 ปี การปฏิรูปประกันสังคม เห็นว่า มีการปรับปรุงแก้ไขหลายประการ แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ การเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น กรณีการตรวจสุขภาพ ก็พบว่ายังมีการเข้าถึงหรือรับบริการน้อยมากอยู่ นี้ไม่นับว่าในหลายสถานประกอบการก็ได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพแต่ละแห่งอยู่แล้ว สำนักงานประกันสังคมควรประสานกับสถานประกอบการดีกว่าหรือไม่ อย่างไร เพราะการตรวจสุขภาพตามระบบประกันสังคม คนงานต้องลางานไป เกิดการเสียเวลาและเสียสิทธิต่างๆ เช่น ค่าจ้าง เป็นต้น ทำอย่างไรจึงจะจัดร่วมกันได้จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

เรื่องต่อมา คือ การบริการตามระบบต่างๆที่ไม่ควรเหลื่อมล้ำ เช่น การรักษาพยาบาล พบว่า ถ้าใช้สิทธิประกันสังคมจะมีความแตกต่างกับสิทธิประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตอย่างมาก ทำให้ผู้ประกันตนก็ยังเข้าไม่ถึงอยู่ดีแม้มีการกำหนดการบริการไว้ตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นจริง ทำให้เงินที่จ่ายไปจึงถูกใช้ไม่คุ้มค่าแต่อย่างใด

หรือกรณีการจ่ายเงินชดเชยรายได้ระหว่างลาคลอด 45 วัน ส่งผลสะเทือนต่อรายได้ของคนทำงานที่หายไป เมื่อเทียบกับรายได้ชดเชยที่ได้รับมา ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของเงินเดือนของผู้ประกันตนแต่ละคนด้วย

สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมในการพิจารณา ดังเช่นตอนนี้มีข่าวเรื่องการเก็บเงินสมทบเพิ่ม นายจ้างต้องมีการเตรียมตัว ปรับสภาพต่างๆ คำนวณเงินต่างๆที่ต้องใช้จ่าย เพื่อนำไปวางแผนการบริหารเงินได้ถูกต้อง ที่ต้องคำนวณเงินแบบข้ามปี โอกาสจะเกิดแรงต้านก็จะน้อยลง

ในเรื่องการบริหารกองทุนประกันสังคม ทีมงานควรเป็นมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ไกล แต่ด้วยระบบราชการที่เป็นแบบบังคับบัญชาทำให้การบริหารงานยังเป็นลำดับชั้น ทำให้มุมที่มองจึงแคบลง ประกันสังคมต้องไม่ใช่การที่นายจ้าง ลูกจ้างจ่ายเงิน แต่ลูกจ้างกลับไปใช้การบริการระบบอื่น เช่น ระบบประกันชีวิต, เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมอย่างมาก ทั้งนี้กลไกจะเป็นอย่างไรต้องมาลงรายละเอียดกันต่อไปว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

กล่าวได้ว่าวิสัยทัศน์ในการบริหารกองทุนประกันสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ต้องครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ที่ต้องอาศัยความหลากหลายของการดูแลแรงงานกลุ่มต่างๆที่มีบริบทแตกต่างกันในการดำเนินการ จำเป็นต้องแยกกองทุนแรงงานแต่ละกลุ่มในการดำเนินการหรือไม่ อย่างไร เพื่อการบริหารงานและความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

หลังจากนั้นช่วงบ่ายได้มีการการอภิปราย “เหลียวหลังแลหน้า มาตรา 63 (2) มาตรา 8 และมาตรา 40”

นายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า นึกย้อนไปตอนที่มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ตนเองมีความดีใจมาก เพราะเปรียบเทียบกับตอนแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เมื่อมีการแก้ไขแล้วไม่ดี ระหว่างขับเคลื่อนก็มีความเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง

ตัวอย่างที่ดีเช่น กรณีการฆ่าตัวตาย เดิมประกันสังคม มองเป็นเรื่องของการทำร้ายตนเอง ประกันสังคมก็ไม่จ่าย แต่ตอนนี้ได้แก้ไขให้จ่ายเงินแล้วในการดูแลหากฆ่าตัวตายแล้วไม่เสียชีวิต หรือกรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เดิมเป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคมทำเรื่องการรักษาอย่างเดียว แต่ตอนหลังมีการแก้ไขเรื่องนี้ขึ้นมาให้ครอบคลุมมากขึ้น

แต่หากมองในภาพรวม ความคิดเห็นส่วนตัว มองว่า “ไม่ผ่าน” โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมและป้องกันโรค เดิมมีการกำหนดเป็นข้อๆออกมาเลย แต่พอถึงการปฏิบัติจริงกลับยังเข้าไม่ถึง และบางรายการยังไม่สอดรับกับวิถีผู้ประกันตนเท่าใดนัก เช่น การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ มีการกำหนดอายุในการเริ่มตรวจ ที่พบว่าเป็นปัญหามาก หรือบางรายการเป็นรายการที่ไม่ได้ลงทุนเท่าใด เช่น การตรวจสายตาด้วยวิธีการมองแผ่นภาพไกลๆแล้ววัดสายตาแทน หรือการคัดกรองการได้ยินผ่านวิธีการนั่งตรงข้ามกับหมอ แล้วหมอเอานิ้วกลางกับนิ้วโป้งถูกัน และถามว่าได้ยินไหม เป็นต้น

นี้ไม่นับการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพ ที่ผู้ประกันตนยังเข้าถึงได้น้อยมากอยู่ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ที่น้อยหรือผู้ประกันตนยังไม่เห็นความสำคัญก็เป็นไปได้ รวมถึงหลักเกณฑ์เรื่องการชดเชยบริการค่าเสียหายจากการบริการรับการแพทย์ ที่ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทำให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงทั้งๆที่เกิดความเสียหายแล้วทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

ต่อมาในมาตรา 40 นั้น ที่เป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เห็นว่ามาถูกทางแล้ว แต่ทำอย่างไรจะให้แรงงานนอกระบบเข้ามาในระบบให้ได้จริง เพราะยิ่งอยู่นอกระบบยิ่งต้องดูแล โดยมีการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์มากขึ้น

ส่วนมาตรา 8 มองว่า การออกแบบเรื่องการเลือกตั้งที่ให้ได้ทั้งบอร์ดระดับชาติและระดับจังหวัดเป็นเรื่องที่ท้าทาย สำคัญ คือ คนที่จะเข้ามาทำงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องต่างๆที่หมักหมมมานาน ต้องสามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกันตนในแต่ละพื้นที่ให้ได้

สำหรับอนาคตข้างหน้า ที่สำคัญคือ การทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินในประโยชน์ทดแทนด้านสุขภาพอยู่ รัฐต้องเข้ามาสมทบในส่วนนี้แทนเพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำกับระบบสุขภาพอื่นๆที่รัฐจ่ายเงินสนับสนุนอยู่แล้ว และนำเงินส่วนสุขภาพไปสมทบในส่วนบำนาญชราภาพแทน

นายภาคภูมิ สุกใส ผู้จัดการโครงการ คสปค. ในเรื่องมาตรา 63 (2) โดยตรงนั้น ต้องย้อนไปว่าสมัยก่อนไม่มีสำนักงานประกันสังคม ทำให้แรงงานจึงออกมาต่อสู้ขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มา เพราะ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ไม่มี มีแต่สิทธิข้าราชการเท่านั้น ที่มีระบบประกันสุขภาพ ทำให้แรงงานจึงเสนอให้มีระบบประกันสุขภาพด้านแรงงานโดยตรง มีการเสนอให้เก็บเงินเพื่อมาจัดบริการ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริงกลับพบปัญหาในการเข้าถึงอย่างมากด้วยระบบราชการที่เข้ามาบริหารงานระบบประกันสังคม กระทั่งมีคำกล่าวในช่วงแรกๆว่า “กองทุนประกันสังคมจะไปไม่รอดหรือมีอายุไม่เกิน 10 ปี แต่รัฐบาลก็จะออกมากล่าวว่า เพราะมีรัฐบาลในการปกป้องดูแลกองทุน กองทุนจึงไม่ล้ม”

จากแรกๆที่มีเพียง 4 สิทธิประโยชน์ และมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆจนกลายเป็น 7 สิทธิประโยชน์ในปัจจุบัน ก่อนหน้าที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ พบว่า ระบบประกันสังคมดูแลคนงานได้ดี แต่พอมีหลักประกันสุขภาพขึ้นมา กลับพบว่ากองทุนประกันสังคมดูแลได้ถดถอยลง ทั้งๆที่มีเงินจากผู้ประกันตนโดยตรงในการบริหารงาน แตกต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพที่ใช้ภาษีประชาชนโดยตรง

นี้ไม่นับว่าการมีขีดจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ที่เวลาคนงานเจ็บป่วยไม่มีขีดจำกัดในโรคที่เจ็บป่วย แต่กองทุนประกันสังคมยังมีการกำหนดตรงนี้ และยังไม่มีการนำเงินมาบริหารจัดการใหม่ เพื่อไม่ให้คนงานเจ็บป่วย เป็นต้น

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การให้เงินเหมาจ่ายไปกับโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมโดยตรง แล้วโรงพยาบาลนำเงินไปใช้ในเรื่องอื่นๆ แต่พอเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลโดยตรงก็ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม

ต่อมาในมาตรา 40 นั้น เห็นว่าไม่ควรไปจำกัดสิทธิ ใครๆก็ควรสมัครเข้ามาตรานี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองให้ได้จริงมากกว่า ไม่ควรมีกฎหมายไปจำกัดสิทธิคนกลุ่มต่างๆในการเข้าถึงสิทธิ

ส่วนมาตรา 8 เป็นผลมาจากการที่สำนักงานประกันสังคมได้ถูกครอบงำจากคนบางกลุ่ม มีสหภาพแรงงานที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมเพียง 500 กว่าแห่งเท่านั้นจากผู้ใช้แรงงานหลายสิบล้านคน ทำให้ส่งผลต่อการกำหนดทิศทางและปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ไม่มีความยุติธรรมในการดำเนินงาน ทำให้จึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขเรื่องนี้ที่ให้มีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมโดยตรงขึ้นมา

ทางเครือข่ายฯมีการจัดทำสูตรการเลือกตั้งเพื่อเป็นทางเลือกให้สำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาเรื่องนี้ร่วมด้วย แน่นอนมีการท้วงติงเรื่องการใช้เงินหลักหลายร้อยบาท ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯก็ได้จัดทำแบบการเลือกตั้งขึ้นมาและใช้เงินจำนวนไม่มาก แต่ทางสำนักงานประกันสังคมยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด

สูตรที่ทางเครือข่ายฯเสนอ คือ ทุกคนไปลงคะแนนที่เดียวกัน ใช้บัตรประชาชนเป็นตัวกำหนดการใช้สิทธิ และเลือกตัวแทน 7 คนขึ้นมา ส่วนคนที่เหลือก็สามารถปรับไปเป็นอนุกรรมการจังหวัดต่างๆได้ต่อไป

สำหรับอนาคตข้างหน้า มองว่า ในเรื่องสุขภาพรัฐต้องเข้ามาดูแลโดยตรงไม่ใช่แค่อุดหนุนเรื่องการรักษาเท่านั้น ต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆดู เช่น การจัดซื้อยา รวมถึงการส่งเสริมเรื่องการออมภาคประชาชนภายหลังเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว ไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน

นางสุจิน  รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ถ้าเริ่มด้วยการมองเรื่องมาตรา 63 (2) ก่อน เห็นว่า กฎหมายประกันสังคมได้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แรงงานในระบบตามมาตรา 33 กับแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 และพบว่าสิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน ถ้าถามว่ามีความสุขไหม ก็มีบ้างไม่มีบ้าง เพราะหลายเรื่องแรงงานนอกระบบก็ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ สำหรับในเรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกันสังคมยังขาดในเรื่องนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากอาชีพต่างๆที่ต้องตรวจสุขภาพก่อนเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามในระบบหลักประกันสุขภาพก็ไม่มีเช่นเดียวกัน

แรงงานนอกระบบมีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพและการใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เช่น ส่งงานจากในโรงงานมาให้แรงงานที่บ้านทำ ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านต่างๆโดยขาดความรู้ให้เข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ก็มีการพยายามขับเคลื่อนรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบเข้าใจเรื่องนี้

หรือกรณีเสียชีวิต ค่าทำศพในระบบได้รับ 40,000 บาท แต่แรงงานนอกระบบได้เพียง 20,000 บาท สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตแรงงานมีคุณค่าไม่เท่ากัน “ตายแล้วอย่าให้โดนด่าตามหลัง ด่ากระทั่งตอนเป็นวิญญาณ” ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่เพียงการปรับเงื่อนไขเพื่อให้ได้ ซึ่งยากลำบากกับแรงงานนอกระบบมากยิ่งขึ้นไปอีก

หรือความแตกต่างกรณีการสมทบของรัฐ กรณีแรงงานในระบบ รัฐสมทบเป็น % แต่แรงงานนอกระบบ รัฐสมทบเพียง 50-100 บาท เท่านั้น

ต่อมาในมาตรา 40 นั้น แม้หลักการประกันสังคมคือเรื่องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ดังนั้นการปฏิรูปประกันสังคม ก็ต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ถ้าเงินในกองทุนไม่พอก็ควรนำเงินภาษีเข้ามาช่วย เพื่อจัดสิทธิประโยชน์ให้เท่ากัน เช่น ค่าชดเชยจากการขาดรายได้ , ค่าจัดการศพยามเสียชีวิต รวมถึงในเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้แรงงาน โดยเฉพาะในชุมชนในพื้นที่ได้เข้าใจสิทธิประโยชน์ต่างๆที่แรงงานจะได้รับด้วย ตลอดจนการอธิบายข้อจำกัดและความแตกต่างในทางเลือกต่างๆ ว่าทางเลือกไดเหมาะกับอาชีพใดบ้าง

อีกประการสำคัญ คือ ช่องทางการจ่ายเงินของแรงงานนอกระบบที่ยังมีข้อจำกัดในการจ่ายเงินสมทบอยู่ และสถานที่จ่ายเงินอยู่ไกลจากครัวเรือน ทำให้แรงงานนอกระบบจึงไม่อยากสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน

ส่วนมาตรา 8 เป็นเรื่องสำคัญเพราะเกิดการกระจายอำนาจ จะช่วยทำให้แรงงานนอกระบบเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานกองทุนประกันสังคมได้จริง

สำหรับอนาคตข้างหน้า อยากเห็นเรื่องสุขภาพระบบเดียวกันที่เท่าเทียมกันและสิทธิเท่ากัน ต้องสร้างระบบทั้งการเข้าถึงบริการและให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานด้านต่างๆ ส่วนด้านสวัสดิการควรยังอยู่ที่ประกันสังคมแต่ก็ต้องทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน มีความยั่งยืนในแรงงานทุกกลุ่ม

ทันตแพทย์หญิงมาลี  ศิริวันทนา เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข กล่าวว่ามารู้จักเครือข่ายกลุ่มนี้กรณีที่สำนักงานประกันสังคมจะปรับยอดเงินในการจ่ายด้านทันตกรรมแล้วพบปัญหาในการเบิกจ่ายอย่างมาก จึงได้มีการเชื่อมโยงและมาขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ในโรงพยาบาลของรัฐ หมอฟันจะดูคนทั้ง 4 กลุ่ม คือ ข้าราชการ ใช้ระบบจ่ายตรงได้ , บัตรทอง ไม่ต้องจ่ายเงิน สามารถทำฟันไปได้เรื่อยๆ , ประกันสังคม ได้เพียง 300 บาท แต่แตกต่างจากที่อื่นคือ ใช้สิทธิโรงพยาบาลเอกชนได้ , แรงงานข้ามชาติ ใช้ตามระบบบัตรทอง เมื่อมองมาทั้ง 4 กลุ่มก็จะเห็นว่า ประกันสังคมเป็นสิทธิที่ไม่เท่าเทียมที่สุด

จากการขับเคลื่อนมาร่วมกัน ที่เห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น การปรับวงเงินในทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ที่เสนอไป คือ รักษาตามจริงแบบบัตรทอง แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากอยู่ ได้เพียง 900 บาท, ไม่ต้องสำรองจ่าย เพราะคนงานมีรายได้ต่ำ การที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากทำฟัน บางรายการหลักพันบาท ทำให้คนงานไม่ยอมไปรักษาฟัน , การตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีละ 1 ครั้ง เช่น มีฟันผุไหม มีหินปูนไหม การรีบจัดการจะช่วยให้แก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จต้องขับเคลื่อนต่อไป , การได้รับฟันเทียมตามสิทธิโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เป็นอีกเรื่องต้องแก้ไขเช่นกัน

ต่อมาในมาตรา 40 นั้น ต้องสารภาพว่าก่อนหน้านั้นตนเองไม่รู้จักคำว่าแรงงานนอกระบบเลย มารู้จักตอนที่เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และแรงงานนอกระบบสามารถใช้สิทธิดังกล่าวนี้ได้ แต่แน่นอนก็ยังมีข้อจำกัดในการบริการอยู่ที่ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพต่อไป

สำหรับอนาคตข้างหน้า เห็นว่าการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นผู้ประกันตนต้องเข้าใจการดูแลตนเองในเรื่องนี้ และต้องได้รับความร่วมมือทั้งลูกจ้างและนายจ้างในสถานประกอบการร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมผ่านการมีความรู้ต่อไป

นางสาวอำพันธ์  ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมมีเจตนารมณ์ในการทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิตนเอง แต่บางสิทธิไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ สำหรับกรณีมาตรา 63 (2) ที่เป็นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพโดยตรง  เจตนารมณ์คือ การป้องกันโรคหรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแล้วสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ในเบื้องต้นต้องเรียนว่าหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพ ทางสำนักงานประกันสังคมได้ยกแพคเกจมาจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ในเรื่องการตรวจสุขภาพในเรื่องที่จำเป็นและเหมาะสม หลักการเรื่องการตรวจสุขภาพ คือ ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลตามสิทธิ

ขณะนี้มีผู้ประกันตนไปตรวจสุขภาพเพียง 4 แสน 5 หมื่นกว่าคนเท่านั้น  ประกันสังคมจ่ายเงินไปประมาณ 243 ล้านบาทเศษ ในโรงพยาบาล 239 แห่ง พบว่าที่คนไปน้อยอยู่ คือ โรงพยาบาลที่คนงานไปใช้สิทธิมีผู้ใช้บริการมาก ต้องรอคิวนานมาก ทำให้ทางสำนักงานประกันสังคมจึงแก้ไขปัญหาด้วยการจัดทำโครงการสถานพยาบาลต้นแบบ ทั้งนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุฯพัฒนาด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพิจารณา รวมถึงการนำเสนอให้มีการแก้ไขทั้งในเรื่องของตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจและฝากครรภ์ (เดิมคือจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย 13,000 บาทไปในช่วงคลอดบุตรเลย) การปรับช่วงอายุผู้ประกันตน ตลอดจนการออกแบบสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพแบบใหม่ๆ เป็นต้น

ดังนั้นหลักการสำคัญ คือ สำนักงานประกันสังคมจึงมุ่งเรื่องลดความเหลื่อมล้ำในแรงงานทุกกลุ่ม แต่ก็ต้องอาศัยเวลาและต้องเข้าใจข้อจำกัดสำนักงานด้วยเช่นกัน ไม่ได้ละเลยกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่คำนึงอย่างยิ่ง เช่น การปรับทางเลือกต่างๆให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เข้าถึงให้ได้มากที่สุด และปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ

ต่อมาในมาตรา 40 นั้น ทางสำนักงานประกันสังคมได้ออกไปเจอผู้ประกันตนทุกเดือน ไม่ได้ละเลยหรือทอดทิ้ง ที่ผ่านมาสิ่งที่สำนักงานทำ เช่น การแก้ไขคุณสมบัติการเป็นผู้ประกันตน , อัตราเงินสมทบ , สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตามเงินสมทบ

และสุดท้ายมาตรา 8 ทางสำนักงานประกันสังคมได้จัดทำร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. …. ซึ่งได้จัดส่งให้รัฐมนตรีพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน สาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีเขตเลือกตั้ง , ให้นายจ้าง ผู้ประกันตนมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งพร้อมกัน , กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง , กำกับดูแลการลงคะแนนนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้ง

สำหรับอนาคตข้างหน้า ความมุ่งมั่นในการบริหารเงินกองทุนให้เกิดความยั่งยืนและตอบสนองต่อผู้ประกันทั้งในวันนี้และอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูประบบให้บริการต่างๆด้านดิจิตอล เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไป

สรุปโดย : นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์