สรส.ค้านการตั้งกองทุนTFF

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอคัดค้านการตั้งกองทุน TFF ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและขอเสนอแนวทางพัฒนาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วม

ตามที่รองนายกรัฐมนตรีได้มอบแนวนโยบายการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ระดมเงินลงทุนด้วยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF: Thailand Future Fund) เพื่อนำมาสร้างทางด่วนพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 16.92 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 32,000 หมื่นล้านบาท โดยจะนำรายได้จากค่าผ่านทาง ซึ่งประเมินไว้ 3 โครงการคือ ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-วงแหวนรอบนอก) ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เข้ากองทุนเป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่ง สคร. จะจ้างที่ปรึกษาการเงินมาประเมินรายได้และความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนการลงทุน และนำเสนอเพื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปลายปี 2560

ในการนี้ คณะกรรมการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องการระดมทุนผ่านกองทุน TFF ตามมติดังนี้

  1. ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ในการประเมินมูลค่าเบื้องต้นมูลค่าเบื้องต้นของทางพิเศษที่จะนำเข้ามาระดมทุนผ่านกองทุน TFF
  2. นำรายได้ของเส้นทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-วงแหวน รอบนอก) เข้ากองทุนอายุ 30 ปี มีสัดส่วนการโอนกระแสรายได้ในอนาคตไม่เกินร้อยละ 45 เข้ากองทุน TFF

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. มีองค์กรสมาชิกประกอบด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 42 แห่งและสหภาพแรงงานเอกชนอีก 3 แห่ง ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อจัดการเสวนา เป็นเวทีระดมสมองในการศึกษาข้อดีข้อเสียของการจัดตั้งกองทุน TFF และผลกระทบของการจัดตั้งกองทุนต่อการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งผลการเสวนา พบว่าการจัดตั้งกองทุน TFF จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผล ดังนี้

  1. ทำให้การดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีการก่อสร้างเส้นทางพิเศษมาแล้วหลายเส้นทาง โดยใช้วิธีการกู้พันธบัตร เนื่องเป็นแหล่งทุนที่มีต้นทุนถูก (อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนถูก) และสามารถชำระเงินกู้ได้โดยไม่เคยเป็นภาระแก่รัฐบาลเลย แต่การจัดตั้งกองทุน TFF จะทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ด้วยการจ่ายค่าดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนในกองทุน TFF สูงถึง ร้อยละ 8

หากจะเปรียบเทียบดอกเบี้ยของการกู้พันธบัตร จะเห็นได้จากเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2559 พันธบัตรรุ่นใหม่ มีผลตอบแทนดอกเบี้ยเพียง 1.91% สำหรับพันธบัตร 5 ปี และมีผลตอบแทนดอกเบี้ยเพียง 2.27% สำหรับพันธบัตร 10 ปีเท่านั้น

หรือหากพิจารณาพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “สุขกันเถอะเรา”ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2558 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 4 จะมีอัตราดอกเบี้ยสำหรับอายุพันธบัตร 10 ปีเท่ากับ ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3.0 ปีที่ 4-7 ร้อยละ 4.0 และปีที่ 8-10 ร้อยละ 5.0 หรือพันธบัตร 5 ปีแบบคงที่ร้อยละ 3.80

  1. การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องการใช้เงินลงทุนในการสร้างทางพิเศษดังกล่าวในแต่ละปี ดังนี้

ในปี 2560 ต้องการกู้ยืมเป็นจำนวนเงิน                                                    3,800.00ล้านบาท

ในปี 2561 ต้องการกู้ยืมเป็นจำนวนเงิน                                                    7,655.00ล้านบาท

ในปี 2562 ต้องการกู้ยืมเป็นจำนวนเงิน                                                    18,128.00ล้านบาท

ในปี 2563ต้องการกู้ยืมเป็นจำนวนเงิน                                                     15,236.00ล้านบาท

รวมเงินกู้ทั้ง 4 ปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น                                                           44,819.00 ล้านบาท

แต่กองทุน TFF จะส่งมอบเงินให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นก้อนเดียว จำนวนเงิน 45,093.85 ล้านบาท ทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องจ่ายเงินดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ปีแรกโดยไม่จำเป็น เป็นการวางแผนการใช้เงินกู้ยืมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพิ่มต้นทุนการดำเนินงานโดยไม่จำเป็น

  1. หากคิดอัตราผลตอบแทนร้อยละ 8 จากเงินกู้ของกองทุน TFF โดยมีระยะเวลา 30 ปี การทางพิเศษแห่งประเทศ จะมีรายการเงินนำส่งกองทุน TFF และเงินดอกเบี้ย รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 5 ดังนี้

จำนวนเงินต้น (ทุนที่ระดมได้ผ่านกองทุน TFF)                                   45,093.85 ล้านบาท

ยอดเงินดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตลอดระยะเวลา 30 ปี เป็นเงิน                     107,093.51 ล้านบาท

ยอดเงินที่ต้องนำส่งให้กองทุน TFF                                                    152,187.35 ล้านบาท

สัดส่วนเงินนำส่งกองทุน TFF เทียบกับเงินต้น คิดเป็น                    237.49 %

ผลตอบแทนที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะต้องจ่ายให้กองทุน TFF เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก มากกว่าการกู้ยืมเงินนอกระบบที่ผิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ

หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยใช้วิธีกู้เงินพันธบัตร โดยคิดอัตราดอกเบี้ยจ่าย 3% เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามที่เคยปฏิบัติมา รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 จะมีค่าใช้จ่าย ดังนี้

จ่ายดอกเบี้ยเพียง                                                                                            13,445.70 ล้านบาท

รวมจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย                                                                     58,264.70 ล้านบาท

ดังนั้น การระดมทุนด้วยวิธีกู้เงินพันธบัตร ทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นเพียง 93,922.65 ล้านบาทเท่านั้น (152,187.35 ล้านบาท – 58,264.70 ล้านบาท)

  1. การที่รัฐบาลอ้างว่า การกู้ยืมเงินจากกองทุน TFF ทำให้รัฐไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะ เป็นการลดภาระทางการคลังของรัฐบาล สรส. ขอเรียนให้ทราบว่า ภาระหนี้ที่รัฐวิสาหกิจกู้ยืมเป็นเหตุให้เกิดหนี้สาธารณะนั้น คิดเป็นสัดส่วน 16.51% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดเท่านั้น และหนี้จำนวนนี้รัฐวิสาหกิจมีกำลังจ่ายหนี้ได้ตามระยะเวลาการกู้เงิน ส่วนหนี้ที่รัฐบาลกู้หรือก่อหนี้เองมีจำนวน 59.58+15.71+0.33 = 75.62% ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก รัฐบาลเองต่างหากที่เป็นผู้ก่อหนี้สาธารณะของประเทศให้มีจำนวนสูงขึ้น มิใช่รัฐวิสาหกิจรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 7
  2. การที่รัฐบาลอ้างว่า กองทุน TFF เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนหันมาสนใจลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือการแปลงแปลงรูปแบบการลงทุนของรัฐบาลต่อการลงทุนพัฒนาบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ จากเดิมคือรัฐเป็นผู้ลงทุนสร้างบริการสาธารณะในราคาถูก เพื่อที่ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เปลี่ยนแปลงเป็นรัฐวิสาหกิจเองต้องหาแหล่งลงทุนของภาคเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไร ส่งผลทำให้รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายผลตอบแทนการลงทุนของผู้ลงทุนด้วย ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าบริการของบริการสาธารระมีค่าสูงขึ้น ผลักภาระการลงทุนไปให้ประชาชนผู้ใช้บริการเป็นผู้รับภาระ ด้วยค่าบริการที่สูงขึ้น เจตนารมณ์ของรัฐ เดิมเป็นไปเพื่อจะให้บริการแก่ทุกชนชั้นในการเข้าถึงและใช้บริการ ไปเป็นการให้บริการที่หวังผลกำไรเพื่อให้ผู้ลงทุนมีผลตอบแทน ราคาค่าบริการสูงขึ้น ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะจ่ายค่าบริการ จึงขาดโอกาสที่จะได้ใช้บริการ
  3. ภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ทำให้การทางพิเศษต้องหารายได้เพื่อส่งเป็นเงินได้ของแผ่นดิน อีกทั้งนำส่งเป็นผลตอบแทนของผู้ลงทุนในกองทุน TFF ด้วย ทำให้รายได้ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ลดลงน้อยลง อันอาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จนอาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีปัญหาในที่สุด เป็นอุปสรรคของการทางพิเศษที่จะพัฒนาคุณภาพของการให้บริการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จนในที่สุดศักยภาพในการลงทุนได้เองก็จะหมดไป ต้องพึ่งพาอาศัยเงินลงทุนของนายทุนเท่านั้น

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สรส. จึงเรียนมายังท่านในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อคัดค้านในนโยบายที่จะให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปจัดตั้งกองทุน TFF เพื่อการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมีข้อเสนอดังนี้

  1. ให้รัฐบาลจัดหาแหล่งเงินเพื่อขยายการบริการสาธารณะทางถนนพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยด้วยการกู้เงินพันธบัตร หรือ
  2. ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบริการสาธารณะการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแทน โดยการนำเงินนำส่งรัฐของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปตั้งเป็นกองทุน และบริหารกองทุนโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นองค์การของรัฐบาลในการจัดทำบริการสาธารณะทางถนนพิเศษให้กับประชาชนได้ใช้บริการเพื่อความมั่นคง ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นในแงของการเดินทางคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการเดินทาง และยังเป็นองค์การของรัฐบาลที่ต้องหารายได้ให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้ทุกคนได้ใช้บริการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำผ่านการสื่อสารไปยังทุกคนมาโดยตลอด

ดังนั้น สรส. จึงหวังว่าข้อเสนอนี้ จะได้รับการพิจารณา เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลและประเทศในการพัฒนารัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง มีบริการทางด่วนพิเศษในต้นทุนการดำเนินที่ต่ำ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่ง สรส. เชื่อมั่นในพลังจากการพูดคุยหารือ (Social dialogue) กับรัฐบาล เพื่อพัฒนารัฐวิสาหกิจและบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจนั้น ให้ไปร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม ไม่ยอมที่จะทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมจะเข้มแข็ง