ผู้ประกันตน ฟ้องรมว.แรงงาน เสนอเพิกถอน 3 กฎกระทรวงประกันสังคม

เมื่อวันที่19 ตุลาคม 2560 ที่ศาลปกครอง นักข่าวพลเมืองรายงานว่า นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรวม 51 คน เข้ายื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อศาลปกครองพร้อมทั้งให้มีการเพิกถอนกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย1.กฎกระทรวงฉบับที่ 7(2538) 2.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 2550 และ 3.กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2556

ประเด็นในการฟ้องร้องเนื่องมาจาก

1. การจ่ายประโยชน์ทดแทนชราภาพปัจจุบัน ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ผู้ที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ได้รับเงินเพียงเดือนละประมาณ 2,000- 3,000 บาทในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงถ้าผู้ประกันตนดำรงชีวิตไปยาวนานหลังเกษียนก็จะได้รับเงินจำนวนเท่าเดิมไปตลอด
ชีวิต

2. รัฐมีการเลือกปฏิบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ เช่น กบข. กองทุนการออมแห่งชาติซึ่งรัฐมีการร่วมจ่าย แต่สำหรับเงินบำนาญชราภาพของประกันสังคม ลูกจ้างเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว

3. ควรมีวิธีคิดคำนวณฐานของเงินบำนาญชราภาพใหม่ เนื่องจาก จากการคำนวณดังกล่าวนั้นทำให้เงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนได้รับต่ำกว่าอัตราค่าครองชีพหรือรายได้ขั้นต่ำของประเทศรวมถึงต่ำกว่าเส้นความยากจน

โดยการฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งนี้ ในฐานะผู้รักษาการ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และเป็นผู้ออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ดังกล่าว

ประเด็นที่ฟ้อง

1. กฎกระทรวงฉบับที่ 7(2538) ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533

2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 2550 ออกตามความใน พ.ร.บ.2533 ม.77

3. กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2556 ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ม.46 วรรค 1 และวรรค 2

โดยกฎหมาย 3 ฉบับนี้ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่เกิดหลักประกันสังคมกรณีบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมและเพียงพอแก่การยังชีพ รัฐไม่ร่วมสมทบ รัฐเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ขณะที่รัฐร่วมจ่ายในกองทุนอื่นๆ ไม่สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นการใช้ดุลพินิจออกกฎกระทรวงดังกล่าวโดยมิชอบ อันเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ และให้ผู้ถูกฟ้องตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน สอดคล้องกับพื้นฐานการดำรงชีพ อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม ทั้งนี้ ให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา
กรณีฟ้องเพิกถอนกฎกระทรวงครั้งนี้ เนื่องจากกฎกระทรวง 3 ฉบับไปเกี่ยวพันกับคนหมู่มาก ที่เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสังคม ซึ่งปัจจุบันกระทบกับสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณสิบล้านเจ็ดแสนคน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.3 ล้านคน