คสรท.แถลงผลสำรวจพบพบค่าครองชีพสูง ค่าจ้างต่ำไม่พอกิน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  เผยผลสำรวจค่าใช้จ่าย 29 จังหวัดร่วม 3,000 คน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายครอบครัวละ 712 บาทต่อวัน  เสนอภาครัฐคิดบนหลักการของการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง ค่าจ้างขั้นต่ำไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ได้ร่วมกันจัดงาน “วันงานที่มีคุณค่าสากล 2560 หรือDecent Work Day 2017” ที่สถาบันวิชาการ TOT จังหวัดนนทบุรี

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวรายงานผลสำรวจเรื่องค่าใช้จ่ายของแรงงานว่า ค่าจ้างถือเป็นตัวหลัก ในการประเมินการทำงานที่มีคุณค่า Decent Work เพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ยึดหลักให้ลูกจ้างสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวอย่างน้อย 3 คนคือพ่อ แม่และลูก ดังนั้นการสำรวจจึงสอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการครองชีพของกลุ่มตัวอย่าง

ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายลูกจ้าง 29 จังหวัด จำนวน 2,959 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ลูกจ้างรายวัน 726 ตัวอย่าง  และลูกจ้างรายเดือน 2,153 ตัวอย่าง ภาคกลาง 12 จังหวัด เช่น กรุงเทพ ปทุมธานี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม อยุธยา สมุทรปราการ อ่างทอง สระบุรี ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นสกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี ภาคเหนือเช่นเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ภาคใต้เช่นชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส และพัทลุง ทั้งนี้ส่วนใหญ่ร่วม 40% มีอายุการทำงาน 6-10 ปี พบว่า คนงานมีค่าใช้จ่ายต่อวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อและค่าเดินทางเฉลี่ย 219 บาท  นอกจากนี้มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพของคนในครอบครัว 492 บาทต่อวัน รวมเป็นค่าใช้จ่ายต่อวัน 712 บาทต่อวัน ซึ่งถือเป็นการยืนยันภาระค่าครองชีพ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าค่าจ้างขั้นต่ำกว่า 300 บาทไม่พอเพียงจริงๆ

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นการดำรงชีพของคนในครอบครัว เช่นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่อนรถ ค่านม ค่าไปโรงเรียนของลูก ค่าดูแลพ่อ แม่ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ค่าเล่าเรียนลูก ค่าโทรศัพท์ รวมเป็นเงิน 14,771 บาท เฉลี่ยต่อคน 492 บาทต่อคน

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ  ถ้าไม่ใช่ 712 บาท จะต้องมีมาตรฐาน และสวัสดิการอย่างไรที่จะทำให้ลูกจ้างเลี้ยงคนในครอบครัวได้ จึงเป็นภาครัฐที่ต้องคิด บนหลักการของการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม อย่างไรก็ตามเราเห็นว่าสูตรที่กระทรวงแรงงานใช้ในการกำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเป็นสูตรที่ไม่สามารถใช้ได้จริง และขอให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยภาคีต่างๆ เพื่อให้การกำหนดค่าใช้จ้างของประเทศเป็นธรรม ไม่ใช่องค์ประกอบไตรภาคี ที่มักกำหนดค่าจ้างด้วยการเจรจาต่อรอง ไม่ได้คิดถึงองค์ประกอบอื่นๆที่จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และหากกำหนดให้สถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้าง มีการปรับค่าจ้างตามโครงสร้างในแต่ละปี ลูกจ้างก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นตำ แต่เพราะแม้ลูกจ้างทำงานมานานก็จะได้ค่าจ้างในอัตราต่ำสุด

ซึ่งจากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายลูกจ้างเมื่อ 4-5 ปี ที่แล้วที่เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท เป็นการสำรวจค่าใช้จ่ายของลูกจ้างเฉพาะกรุงเทพ ปริมณฑลและภาคกลาง แต่ในครั้งนี้พยายามที่จะให้ครอบคลุมลูกจ้างในภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ที่พบว่าวิถีชีวิต การใช้จ่ายไม่ได้ต่างกันนัก โดยเฉพาะค่าจ้างที่ไม่พอกับค่าครองชีพ จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อเป็นเงินใช้จ่ายหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในการครองชีพ