แรงงานภาคเหนือยื่น 16 ข้อ เรียกร้องให้ดูแลสิทธิให้เท่าเทียม

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เดินรณรงค์ยื่นข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ให้รับบาลแก้ปัยหาการละเมิดสิทธิแรงงานในระบบ นอกระบบ และขามชาติให้เท่าเทียมไม่เลือปฏิบัติ

ในวันที่ 30 เมษายน2560 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมด้วย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) มูลนิธิ MPLUS เครือข่ายปฏิบัติการผู้หญิงไทยใหญ่ (SWAN) กลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ (SYP) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานสามัคคี สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน สหภาพแรงงานอุตสากรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ได้ร่วมกันเดินรณรงค์จากอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ไปยังสวนสาธารณะหนองบวกหาด จังหวัดเชียงใหม่ และเนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2560 ได้เข้ายื่นข้อเรียกร้อง 16 ข้อ ต่อรัฐบาลประเทศไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยยื่นข้อเรียกร้องผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “ วันกรรมกรสากล ” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนทำงานงานทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานภายในพื้นที่ภาคเหนือ และพบว่า

–   แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของภาคเหนือยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ

–   คนงานทำงานบ้านและคนทำงานในภาคเกษตรกรรมไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน  รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง วันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น

–   แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิเฉกเช่นแรงงานทั่วไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ และเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน นายจ้างบางรายไม่ได้นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม และคนงานส่วนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตร และกรณีการรับเงินบำเหน็จชราภาพ

–  แรงงานข้ามชาติถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง และยังถูกเรียกรับผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

–  มีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย

แรงงานในภาคบริการยังคงถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากสังคม ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเฉกเช่นแรงงานทั่วไป

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา  และส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

  1. เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ”
  2. ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว
  3. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2560
  4. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2560 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
  5. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  6. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ
  7. ขอให้รัฐบาลมีมติครม. ขยายพื้นที่การทำงานของแรงงานข้ามชาติได้ทั่วจังหวัด โดยไม่ต้องขอเพิ่มสถานที่ทำงาน
  8. ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงมหาดไทย

  1. ขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ให้มีเสรีภาพในการเดินทาง

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

  1. ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  2. แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการพัฒนาฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตร และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

  1. เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและราคาถูกสำหรับคนทำงานทุกคน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

  1. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง
  2. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเปิดให้จดทะเบียนสมรสและทำบัตรประชาชนได้ในสถานฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย
  3. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดำเนินการให้มีระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศไทย และรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

  1. ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม