เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดสัมมนาวิชาการ เศรษฐกิจกับแรงงานปี 2560 เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคต โดยมีการจัดอภิปราย เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและแรงงานปี 2560
รศ.ดร.ยงยุทธ์ แฉล้มวงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังมีความผันผวนเนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เช่นการปรับเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐ เศรษฐกิจมีการชะลอตัวอันส่งผลให้ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายปกป้องทางการค้า คาดว่า แนวโน้มการขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2559 คือร้อยละ 3.2 ซึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นั้นนโยบายภาครัฐในการใช้จ่ายและกระตุ้นการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่นรถไฟรางคู่ มีการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจยังมีปัญหาว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การผลิตยังมีส่วนเกินแม้จะเป็นการกำลังการผลิตจากเทคโนโลยีเก่า และมีการเพิ่มการลงทุนเพียงการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ยังไม่ได้มีการลงทุนที่ชัดเจน
ด้านการส่งออกคาดว่า จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน โดย IMF คาดการณ์ว่า นำมันในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2560 ปรับขึ้นจากเดิมซึ่งส่งผลดีต่อสินค้าที่มีความต่อเนื่องอย่างเช่นน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์และยางพารา การเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ คือภาคบริการ เริ่มมีบทบาทที่สำคัญซึ่งพบใน 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มถึงร้อยละ 50 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงจำเป็นต้องยกระดับแรงงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนผ่านโดยเร็ว ซึ่งนโยบายรัฐบาลในการยกระดับขีดความสามารถอย่างThailand 4.0 เป็นยุคนวัตกรรมสร้างสรรค์ หรือSmart Thailand ที่ให้ความสำคัญกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (The New Growth Engine) ให้การสนับสนุนความหลากหลายเชิงชีวภาพ และวัฒนธรรมของประเทศให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เติมเต็มด้วย Creative Thinking, Technology และR&D
สถานการณ์แรงงาน ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะฝีมือ ด้านไอที เทคโนโลยี ซึ่งเพียงไม่ถึง 20 ปีโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนแปลงส่งสัญญาณเตือนว่า เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีก และการจ้างงานในระยะสั้นอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่จะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาการจ้างงานในภาคเกษตรมีความผันผวนเป็นอย่างมาก มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างสาขาการผลิตเห็นได้ชัดเจนในหลายช่วงเวลา ข้อสังเกต จำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการทางการเมืองส่งผลการเติบโตของภาคธุรกิจหยุดชะงัก ทำให้การจ้างงานลดลง และแรงงานภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและแรงดึงดูดจากการยกระดับภาคอุตสาหกรรมที่ดึงแรงงานไว้ในการใช้นโยบายค่าจ้าง 300 บาทที่ส่งผลให้แรงงานบางส่วนเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการจำนวนมากหลังปี 2555 ส่งผลภาคเกษตรกรรมแรงงานลดลง ซึ่งแนวโน้มแรงงานปี 2560สถานการณ์ปกติขึ้นจากปี 2558 โดยมีปัจจัยเสริมจากการขยายตัวของนโยบายการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของรัฐ ภาพที่อันตรายสำหรับแรงงานคือ เรื่องทักษะที่ยังขาดอยู่ หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซียที่พบว่า ผลิตภาพแรงงานของไทยยังคงตามหลังอยู่มาก แต่ว่า การที่ไม่ลดระบบไปเพราะว่า ยังมีแรงงานฝีมือมาเติมเต็ม และคนที่ตกระบบนั้นมีอยู่ประมาณ 3 แสนคน คนระดับกลางมีใช้น้อยอยู่ ซึ่งต้องมีการยกระดับกลุ่มแรงงานที่มีฝีมือระดับกลางที่มีจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลควรมีการเติมด้านเทคนิคมากขึ้น ซึ่งปีนี้มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และขณะนี้แรงงานมีความสวิงสูงมีแรงงานสูงอายุ หรือแรงงานนอกระบบจำนวนมากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังมีอยู่ด้วยนโยบายค่าจ้าง แต่แรงงานเกษตรกรรมน้อยลง ยังใช้แรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้มีการสนับสนุนสมาร์ตฟาร์มเมอร์ เสริมคนรุ่นใหม่เข้าสู่เกษตรกรรมมากขึ้น
ตลาดแรงงานยังไม่สอดคล้อง กล่าวคือยังมีความขาดแคลนแรงงานในระดับล่างเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังคงสามารถสร้างงานให้แรงงานระดับอุดมศึกษาได้สาเหตุหลักคือการพัฒนาทางด้านการศึกษายังไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ อุปทาน ที่ภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังแรงงานที่ตรงต่อความต้องการได้ ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาก่อให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้อง และแรงงานไทยมีอายุเฉลี่ยที่สูงเป็นอันดับสองในอาเซียน มีจำนวนกำลังแรงงานสูงเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน แต่กลับมีแรงงานทักษะสูงเป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซียซึ่งมีจำนวนแรงงานน้อยกว่า และยังเป็นรองฟิลิปปินส์ซึ่งมี Global Competitiveness Index น้อยกว่าประเทศไทย เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตของโลกเปลี่ยนไป สาขาด้านเศรษฐกิจในอนาคตที่จะเป็นและแหล่งงานที่สำคัญ คือแรงงานทักษะความต้องการทางเทคโนโลยี ต้องการแรงงานที่มีทักษะเรื่องไอทีมากขึ้น ทำอย่างไร เมื่อการผลิตทำให้รถยนต์สมาร์ทมากขึ้น โดยBigDataจะสะสมข้อมูลขึ้นมา การเน้นส่งเสริมการลงทุนที่เน้นนวัตกรรมและสนับสนุนกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพ สนับสนุนการเก็บข้อมูลที่สำคัญต่างๆเพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นในอนาคตรวมถึงทิศทางอาชีพที่สำคัญ เน้นการเตรียมคนที่มีคุณภาพตั้งแต่ระบบการศึกษา โดยเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบ STEMs เป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นพิเศษ และขยายโอกาส ช่องทางการเข้าถึงการ re-skill แก่แรงงาน เพื่อให้แรงงานได้มีโอกาส Modify Skill อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีแรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถพัฒนาได้ ก็ต้องส่งเสริมให้การพัฒนาระบบเกษตรพอเพียง โดยรัฐต้องดูแลเรื่องแหล่งน้ำที่มีปัญหาเพื่อเติมเต็มให้ระบบเกษตรกรรมเดินต่อได้
ปัจจุบันอัตราการเกิดน้อย จะทำอย่างไรที่จะพัฒนากำลังแรงงาน ซึ่งโลกต้องการคนแบบไหนในการทำงานด้านทักษะต่างๆ ซึ่งไทยยังขาดทักษะขั้นพื้นฐานทั้งด้านเทคโนโลยี ไอทีต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกันในแถบอาเซียนก็ยังด้อยกว่าประเทศเวียดนามด้วย และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนสูงอายุ ต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่นและได้รับประโยชน์ทดแทนที่ดีในระหว่างทำงาน และเมื่อเกษียณอายุมีเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน รัฐต้องสนับสนุนแรงงานสามารถทำงานให้ได้อย่างน้อย 60 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาแนวโน้มกำลังแรงงานลดลงและขาดแคลนแรงงาน ปฏิรูปกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่นควรเปลี่ยนจาก “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็น “ค่าจ้างเป็นธรรม” เพื่อให้สามารถนำเอาปัจจัยอื่นๆ เช่น family zize มาร่วมพิจารณาด้วย และควรบังคับให้สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่มีโครงสร้างเงินเดือนภาคบังคับ ควรสร้างวินัยการออมเสียตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยอาจจะบังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องมีกองทุน Provident Funds เพื่อเก็บออมเอาไว้ใช้เป็นเงินบำนาญ และเร่งรัดพัฒนาแรงงานเชิงคุณภาพ หรือเชิงสมรรถนะที่สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 20 ปี แผนแรงงาน 20 ปี และแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0
ด้านแรงงานนอกระบบ เป็นคนทำงานที่รอความหวังที่จะได้รับสวัสดิการที่เป็นธรรม คือรายได้ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอ ไม่มีเงินออมที่เพียงพอและไม่ยั่งยืนต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ ยกเลิกข้อยกเว้นอันพึงได้จากประกันสังคมภาคบังคับและกองทุนเงินทดแทนเพื่อให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า และพวกที่อยู่ในวัยทำงานต้องหาวิธีประกันรายได้ให้อย่างน้อยไม่ตำกว่าเส้นความยากจน คือ 2,450 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้สูงอายุที่มีรายได้จากทุกแหล่งน้อยไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี หรือ 2,500 บาทต่อเดือน ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มรายได้ให้ถึง 2,500 บาททุกคน เพื่อไม่ให้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และผู้สูงอายุ 0-15 ปี ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ และครอบครัวให้เติบโตและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทุกคน
ด้านรศ.ดร. กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เริ่มโดยการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไม่ใช่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งตรงนี้ค้อนข้างใหญ่แล้วประเทศไทยพร้อมหรือยัง ตามที่รัฐบาลสร้างไว้ วันนี้จะนำเสนอเรื่องของภาคผลิต 4.0 มีประเด็นในส่วนของแรงงาน การเข้าสู่แรงงานสูงวัย การใช้แรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีมา 4 ครั้งแล้ว ซึ่งยุคแรกก็เป็นอุตสาหกรรมทอผ้าที่นำเครื่องจักรมาแทนการทอผ้าด้วยมือ แล้วอุตสาหกรรมที่อังกฤษเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งเครื่องจักรระบบไอน้ำมาถึงน้ำมัน การขนส่งสิ่งของ สินค้า การเดินทางไปได้ไกลมากขึ้น และเมื่อมีการผลิต 2.0 ก็มีการผลิตแบบเครื่องจักรใช้ระบบไฟฟ้า และยุค 3.0 ผ่านมาไม่นานในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและเข้าสู่ยุค 4.0 ที่จะเป็นระบบไอที มีการใช้หุ่นยนต์ที่ฉลาดมากขึ้น ตอนนี้มีการพัฒนาการรับอารมณ์ งานศิลปะ แพทย์วินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้แล้ว และรู้ใจเรามากกว่าตัวเราเอง เมื่อเข้าสู่FB ก็จะเห็นการเข้ามาของอารมณ์ต่างๆ ต้องการอะไรรู้หมด แล้วมนุษย์จะทำอะไรในยุค 4.0 มนุษย์ต้องการอะไร มนุษย์จะกลายเป็นพระเจ้าที่สร้างทุกอย่าง ซึ่งนักธุรกิจจะคิดว่า จะทำอย่างไรด้วยการลงทุนค้นคว้าเป็นผู้สร้างระบบกลไก
อุตสาหกรรม 4.0 นำเทคโนโลยีที่เป็นระบบไอทีที่เข้ามาเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ แต่ในความจริงคือเครื่องจักรเข้ามาก็เกิดการสร้างงานใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งมนุษย์ก็ต้องพัฒนาตัวเอง เนื่องจากมีการทดแทนแรงงานจริง แต่ว่าก็จะสร้างงานใหม่ๆขึ้นมา งานที่หุ่นยนต์จะสามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้ประกอบด้วย งานออฟฟิตซึ่งที่เป็นงานซ้ำซากจำเจ พนักงานขายทางโทรศัพท์ การจัดคลังสินค้า พนักงานขายตามห้างร้านก็ใช้หุ่นยนต์ได้ งานการเงินระบบธนาคาร งานทนายความ เป็นการทำหน้าที่ในการรู้กฎหมาย วิเคราะห์โรคพื้นฐานแทนแพทย์ อุตสาหกรรม 4.0 มีหุ่นยนต์อัตโนมัติ เช่นข้อความที่โพสต์ใน facebook ข้อมูลทุกอย่างที่โพสต์ใช้เป็นข้อมูลหมด มีการนำมาทำนายผล และจำประเด็นได้เลย นักวิทยาสาสตร์ข้อมูล คนที่จะเข้าใจข้อมูล ประมวลข้อมูลเห็นออกมาใช้ ในออนไลน์มีการทิ้งรอยเท้าไว้หมดทุกอย่างถูกเก็บเป็นข้อมูลไว้หมดส่งผลกับชีวิตของมนุษย์มาก ในอนาคตสิ่งของจะมีการผลิตแบบ 3 มิติ มีการสร้างก่อสร้างและใช้ปริ้นเตอร์ปริ้นออกมา การผลิตโดยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่จะมีความฉลาดมากขึ้น มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน ธุรกิจออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทางการเงินออนไลน์
หุ่นยนต์กับมนุษย์ แรงงานหุ่นยนต์ไม่มีเรียกร้องไม่ต้องจัดสวัสดิการไม่มีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และให้ทำงานได้ตลอดเวลาไม่ต้องนอน โลกใหม่ภายใต้อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเขย่าวงการการใช้แรงงานแม้แต่ธนาคาร เป็นการปฏิวัติสังคม ด้วยการสร้างระบบ มีคนพัฒนาระบบบล็อกเซนขึ้นมา ซึ่งการซื้อขายจะผ่านระบบนี้ไม่ต้องมีธนาคาร และเงินจะถูกจ่ายเมื่อของถึงมือผู้ซื้อ จะมีการตัดคนกลางอย่างธนาคารออกไป เป็นระบบที่ไว้วางใจได้ มีการซื้อขาย ฝากเงินกัน มีระบบที่โกงไม่ได้ Blockchain นี้ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้สร้าง มีบ้านที่เวลาเราไม่อยู่ก็ให้คนมาเช่าได้ รถอูเบิล(Uber)เป็นรถบ้านที่เรียกมารับได้เป็นอาชีพใหม่ของคนมีรถและต้องการหารายได้ คนเรียกก็แค่กดแอพพิเคชั่น ไม่ต้องออกไปยืนเรียกแท็กซี่ และในอนาคตรถไม่ต้องมีคนขับแล้วใช้ระบบไอทีคำสั่ง ยุคสมัยจะเป็นการบริการที่ไม่มีนายจ้าง ลูกจ้าง เป็นคนทำงานอยู่บ้านเป็นยุคงานบริการ มีคนหางานมาให้ทำงานอยู่บ้าน แต่มีการเจรจากันตกลงกันเรื่องค่าจ้าง ซึ่งคนรับจ้างอาจไม่ทราบว่าใครเป็นคนจ้างแต่จะผ่านระบบ Blockchain
เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานแน่ๆ และรูปแบบการจ้างงานก็จะเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานอิสระมากขึ้น และหุ่นยนต์จะแย้งงานคนเท่าไร หรือว่าจะมีตัวเลขว่างงานเท่าไร อันนี้ตัวเลขยังไม่ชัดเจน แต่ว่า ประเทศอื่นๆที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้วรัฐบาลจะมีการจัดสวัสดิการให้กับแรงงานที่ต้องตกงาน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีมาตรการตรงนี้ ซึ่งหากเข้าสู่ยุค 4.0 ประเทศไทยอาจต้องดูตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมจากประเทศต้นแบบอย่างอังกฤษก็ได้ว่า ปัจจุบันสภาพสังคมหลังเข้ายุคพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นอย่างไร
นายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองสถานการณ์แรงงานไทยในยุคปัจจุบันว่า สิ่งที่น่าสนใจ 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานและประชาชนชั้นล่างอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดเท่าที่ผ่านมาในรอบหลายปีพอมองสถานการณ์แรงงานแล้วพบว่าหลายเรื่องเป็นโจทย์ที่ไม่ได้เปลี่ยนไปในแง่ภาพใหญ่ๆภาพเดิมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน เรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม และอำนาจต่อรองเพื่อการพัฒนาสวัสดิการในการทงาน ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานอยู่ในสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ นักวิชาการ นายทุนเลือกที่จะให้ผู้ใช้แรงงานต้องเผชิญกับกลไกตลาดโดยลำพัง สังคมไทย และผู้นำประเทศ นายทุนคุยกันอย่างไรซึ่งโจทย์ก็คือว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ สะเทือนต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกของประเทศ สะเทือนถึงความสามารถในการลงทุน และความสามารถในการแข่งขัน พอขึ้นค่าจ้างแล้วก็มีโจทย์ให้แรงงานต้องแก้ต่อคือปรับค่าจ้างแล้วต้องขยันทำงานมากขึ้น พัฒนาประสิทธิภาพตนเองให้มากขึ้นซึ่งโจทย์นี้รุนแรงมากขึ้นหลังปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งตนอยากให้เห็นภาพเพื่อทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้คนไม่ต้องการมาลงทุนนั้นจริงหรือไม่ ตนคิดว่าไม่จริง ซึ่งขณะนี้มีการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลกเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม เป็นการประชุมที่จะมีผู้นำภาครัฐ ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำภาคประชาสังคมซึ่งมีการประชุมกันทุกปีที่จะนำเรื่องสำคัญต่างๆมาประชุมกัน ซึ่งมีการสำรวจความคิดเห็นผู้นำโลก ผู้นำเศรษฐกิจต่างๆหนึ่งในคำถามในการสำรวจคืออยากลงทุน หรือไม่อยากทำธุรกิจในประเทศต่างๆเพราะอะไร ผลการสำรวจล่าสุด คำตอบผู้นำโลก ผู้นำเศรษฐกิจที่ไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทยคือ ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจากสถานการรัฐประหาร เวลาอยู่ในประเทศไทยจะได้ยินว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้คนไม่อยากมาลงทุน การลงทุนไม่เกิดเพราะคนงานอยากได้ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่หากดูหัวข้อ 10 กว่าข้อที่ถามว่าทำไม่ไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทยไม่มีประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ อันดับหนึ่งที่คนไม่อยากมาลงทุนคือการรัฐประหาร อันดับสองคือคอรัปชั่น อันดับสามระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ อันดับสี่นโยบายรัฐเปลี่ยนไปมา อันดับห้าระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี อันดับที่หกความสามารถในการปรับตัวต่ำ อันดับเจ็ดระบบราชการต่างๆมีความซับซ้อน อันดับแปดเป็นเรื่องของความไม่มีจริยธรรมของแรงงาน อันดับเก้าการเข้าถึงแหล่งทุน และอันดับสิบเรื่องภาษีค่าใช้จ่ายและการเข้ามาแล้วภาครัฐมีความเข้มงวดหรือไม่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินเฟ้อ อาชญากรรม โจรกรรม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่โจทย์ที่คุยกันว่าทำให้คนไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทย มีแต่เพียงสังคม และภาครัฐที่พูดว่าคนไม่มาลงทุนเพราะค่าจ้าง เป็นเพราะผู้ใช้แรงงานผิด
ข้อมูลปี 2557-2558 เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นโจทย์สำคัญหรือไม่ในเซาท์อีสเอเชีย คำตอบต่อการที่ไม่มาลงทุนในแถบนี้คือไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนามและอินโดนีเซีย ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่โจทย์ใหญ่ เพราะค่าจ้างในแถบนี้ถูกมาก โจทย์ใหญ่ในภูมิภาคนี้คือรัฐบาล คือเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี เรื่องนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมา เรื่องมาตรการภาครัฐมีความซับซ้อน คำตอบคล้ายกันตามลำดับ ประเทศไทยมีรัฐประหาร ประเทศอินโด ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ไม่มีรัฐประหาร แต่ทิศทางคำตอบคล้ายๆกัน วนอยู่กับเรื่องสีและเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน วนอยู่ในเรื่องการไม่ปรับตัว วนอยู่กับความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เวลาจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วเจอคำถามแบบนี้ให้รู้ไว้เลยว่าคนพูดไม่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และงัดมาว่าคนไม่อยากลงทุน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแต่แต่โยนความผิดให้กับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่าทำให้คนไม่มาลงทุน
เวอร์แบงค์ หรือธนาคารโลก ได้สำรวจเรื่องการจัดอันดับ การอยากทำธุรกิจหรือไม่อยากทำธุรกิจเป็นตัวเลขของปี2557-2558 สำรวจในแถบเซาท์อีสเอเชียเหมือนกัน ก็คงยังเป็นเรื่องภาษี เขตการค้าระบบสัญญาต่างๆเรื่องความไม่ชัดเจนทรัพย์สินทางปัญญา ค่าแรงก็ไม่ใช่โจทย์สำคัญ ซึ่งเมื่อมาดูสรุปการจัดอันดับการแข่งขันในประเทศไทยแม้แต่การจัดเรื่องประสิทธิภาพในการแข่งขันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ใช่เรื่องที่ถือว่ามีนัยสำคัญ
ในช่วง 2-3 ปีไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเวลานาน ช่วงที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเรื่องความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรเป็นการสำรวจเมื่อ ปี 2559 เรื่องเศรษฐกิจครัวเรือนไทยที่มีการสอบถามประชาชนเพื่อมองว่าเศรษฐกิจในครอบครัวเป็นอย่างไรประมาณปลายปี2558 ปรากฏว่า มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในภายหลังปี 2560 คนเชื่อว่าอีก 2 ปีเศรษฐกิจจะดีขึ้นช่วงที่สำรวจเวลานั้นยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำตลอดเวลาที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบกลายปีเรื่องการส่งออกตกต่ำมากที่สุด การส่งออกอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ8 เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการลดลงร้อยละ6.6 ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ขึ้นเศรษฐกิจก็ยังตกต่ำฉะนั้นไม่ควรมองว่าเศรษฐกิจตกต่ำเพราะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่คนชอบพูดว่าคนไม่เชื่อมั่นเพราะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2557 ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำลงเรื่อยทั้งที่ช่วงนี้ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นเลย เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อไรที่มีการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ เลิกเชื่อได้เลยว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วการลงทุนหาย ช่วยบอกเขาว่าไม่จริง ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาจากหลายสาเหตุ ค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็นสาเหตุหนึ่งแต่ว่าเป็นสาเหตุที่เล็กมากเพราะว่าช่วงที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำความเชื่อมั่นก็มีปัญหา
มาดูเรื่องความเชื่อมั่นของSME ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วกลุ่มSMEจะเดือดร้อน ซึ่งก็มีภาพว่า ช่วงที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำภาคการลงทุนของSMEก็ลดลง จึงไม่ใช่ที่สอนกันว่าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วSME อยู่ไม่ได้หรือหมดความเชื่อมั่น นี่ก็เป็นตัวเลขผลการสำรวจที่จีดีพีไทยมีปัญหาที่ผ่านมา
การถกถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นหรือไม่ปรับขึ้น หากปรับแล้วมีปัญหาโดยถูกโยนปัญหานั้นมาที่ผู้ใช้แรงงาน ทั้งเรื่องทำให้คนไม่มาลงทุน ความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความไม่เชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมความไม่เชื่อมั่นของSME ทุกอย่างถูกโยนมาที่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่ถูกขึ้นเลย สิ่งที่ถูกหล่อหลอม หรือเป็นกรอบในการเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นความที่ไม่สมจริงของข้อมูลฉะนั้นประเทศนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องจำเป็น
ตัวเลขนี้ผู้ใช้แรงงานคงรับรู้อยู่แล้วว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพออย่างไร ที่มีคนนำมาเสนอจำนวนมากคือตัวเลขของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นตัวเลขของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งคนอาจบอกว่าเพราะผู้ใช้แรงงานต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่น่าเชื่อถือมาบอกว่าค่าครองชีพไม่พอเพราะต้องการปรับขึ้นค่าจ้างฉะนั้นไม่เชื่อ แต่มีตัวเลขของกระทรวงแรงงานที่น่าสนใจออกมาในช่วงปี 2558 ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ช่วงปี 2558 หรือ2559 ได้มีการสำรวจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่าค่าใช้จ่ายที่คนงานจำเป็นต่อวันภายใต้ค่าจ้างที่ทำงานรวมรายได้อื่นๆอยู่ที่ 361 บาท ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประจำวันอยู่ที่ 370 บาท แต่ค่าแรงปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 300 บาท แปลว่าเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้คนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายประมาณวันละ 61 บาทต่อวัน นี่คือตัวเลขทางการ ตอนนี้เราอยู่ในประเทศซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐรู้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของแรงงานที่จำเป็นต้องใช้ซึ่งประเทศนี้มีหน่วยงานรัฐที่รู้ว่าผู้ใช้แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีรายได้ต่อคนละ 361 หรือ370 บาท ในขณะที่ภาครัฐก็มาบอกว่าค่าแรงของผู้ใช้แรงงานเอาไปแค่ 305 บาทก็พอแปลว่าอะไร เป็นความจงใจที่รัฐใช้นโยบายให้แรงงานได้รายได้ที่ไม่พอกิน ซึ่งคิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติ ในประเทศที่ปกติภาวะจะไม่เป็นอย่างนี้ ผู้ใช้แรงงานไม่ได้เสนอค่าจ้างที่มากแต่พูดแค่ต้องพอกิน นี่คือมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นอาชีพหมอ หรือว่าข้าราชการ นักวิชาการ อาชีพผู้ใช้แรงงาน อาชีพชาวนา อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกคนต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับรายจ่ายที่คนต้องใช้อย่างต่ำที่สุด แต่เวลานี้เราอยู่ในประเทศที่หน่วยงานรัฐรู้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่จะอยู่ได้ไม่พอกับรายจ่ายจริงหน่วยงานรัฐรู้ทำไมหน่วยงานรัฐต้องทำให้ประชาชนอยู่ในชีวิตแบบนี้หรือคำถามถัดไปคนงานที่รายได้ไม่พอกินหรือทำไมสังคมปล่อยให้เกิดแบบนี้ และตัวเลขของสำนักงานปลัดกระทรวงงาน หากไปไล่ดูค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานก็จะพบว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำอยู่แล้ว ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานมีรายได้ต่ำกว่าการใช้ชีวิตในความเป็นจริง ซึ่งผู้ใช้แรงงานอยู่กันอย่างประหยัดมาก มีค่าอาหารร้อยละ 25 ที่อยู่อาศัยร้อยละ 16 ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและยานพาหนะรวมๆกันกัน 3 กองนี้ก็ร้อยละ 40 กว่าแล้ว แต่ที่ได้ยินคือค่าจ้างไม่พอเพราะแรงงานใช้เงินฟุ่มเฟือยหรือไม่ มุมมองที่สังคมมองผู้ใช้แรงงานเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ตรงกับความเป็นจริงแม้แต่เรื่องเดียว
มาดูตัวเลขของภาคเกษตร ปี 2558และคงเป็นตัวเลขที่คงอยู่ในปี 2559 ก็มีตัวเลขรายได้ของเกษตรกรเพิ่มต่ำสุดในรอบ 7 ปี เรากำลังเผชิญภาวะที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคต่างๆปล่อยในคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เผชิญกับกลไกตลาดแล้วอยู่ในภาวะแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงานหรือเกษตรกรก็ตาม เรื่องรายได้ต่อครัวเรือนที่มีความน่าสนใจที่รายได้ต่อคนยังไม่พอกิน รายได้เกษตรเพิ่มต่ำสุด หากดูตั้งแต่ปี2556-2558 ในรายเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นรายได้ปี2556 -2558เพิ่ม 25,000 บาทเป็น 26,000 บาท สัดส่วนการเพิ่มนั้นเพิ่มแบบลด ปี 2556 กับปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อย 8.43 แต่ปี 2558 กับปี 2556 เพิ่มร้อยละ 6.83 เพิ่มต่ำลง แปลว่าคนในประเทศนี้มีเงินน้อยลง ขณะที่รายจ่ายในปี 2556 เพิ่มจากรายจ่าย ร้อยละ 3 เพิ่มจาก 17,000บาท เป็น 19,000 บาท ปี 2558 กับปี 2556 เพิ่มขึ้น เพิ่มจาก 19,00 ปี 2556 เป็น 21,000 บาทปี2558 รายจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 11 รายได้ปี 2558 เพิ่มจากรายจ่ายร้อยละ 5-6 รายจ่ายเพิ่มมากกว่ารายได้ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 6 อันนี้เริ่มเป็นปัญหาทางการเมืองแล้วไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจ นี่คือมุมมองของภาครัฐมองต่อคนส่วนใหญ่วิธีการบริหารนโยบาย ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งประหลาดตรงที่ทุกอาชีพที่ทำงานในประเทศไทยไม่มีประเด็นนี้เลย อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการ ภาคเอกชนมีการปรับขึ้นเงินเดือนกันทุกปี แต่ไม่มีโจทย์คำถามว่าจะไม่ปรับขึ้นโดยถามหาประสิทธิภาพความขยัน หรือไม่ขยัน ไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีโจทย์คำภามแบบนี้กับผู้ใช้แรงงาน หากต้องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานต้องขยัน ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ดูเรื่องผลิตภาพที่มากขึ้น ตัวเลขของแบงก์ชาติ ในปี 2555 ซึ่งหากเป็นปัจจุบันตัวเลขคงเปลี่ยน แต่ทิศทางคงไม่เปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มต่ำกว่าผลิตภาพของผู้ใช้แรงงาน แปลว่าผู้ใช้แรงงานไทยทำงานเก่งค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มนั้นต่ำกว่าความสามารถของผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มมากขึ้น แรงงานไทยกับมีการเพิ่มสูงในปี 2544 สูงอยู่ที่ 100 ปี 2555 สูงกว่าถึงประมาณ 170 แต่ค่าจ้างขันต่ำในเวลาเดียวกันเพิ่มจากร้อยมาเป็น 110 ต่ำกว่ากันมาก ซึ่งช่องว่าที่เห็นคือค่าจ้างที่เป็นธรรมทางสังคมที่หายไป ค่าจ้างจะอยู่ที่เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ แต่หากไปถามนักธุรกิจจะบอกว่าค่าจ้างกำหนดจากความสามารถรายบุคคล อันดับสองคือกำไรจากผลประกอบการ ค่าครองชีพเป็นความสำคัญอันดับสาม เป็นการบอกว่าค่าครองชีพที่ผู้ใช้แรงงานไม่พอกินคือเรื่องของผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อมีการนำข้อเสนอเรื่องปรับค่าจ้างมาคุยบนโต๊ะภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการจะบอกแรงงานอีกแบบหนึ่งว่าค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดจากค่าครองชีพนั้นคือพื้นที่ถกเถียงกันในสื่อ ความเป็นจริงมุมมองภาคธุรกิจไม่ได้คิดแบบนั้น ซึ่งเราชอบกล่าวถึงเวลาที่เงินเฟ้อเพิ่มว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มน้อยเพราะเงินเฟ้อไม่เพิ่มในความเป็นจริงในการสำรวจของแบงก์ชาติอัตราเงินเงินเฟ้อไม่ใช่สิ่งที่นักธุรกิจให้ความสำคัญมันมาอันเกือบที่หกอันนี้คือความเป็นจริง
ประเทศไทยในช่วงปี 2531 ถึงปี 2534 ใช้คำว่าเศรษฐกิจฟองสบู่เติบโตเร็วมาก ค่าจ้างขั้นต่ำปี2530 อยู่ที่ 73 บาทอยู่ปี 2532 ค่าจ้าง 76 บาท แล้วปรับขึ้นเป็น 78 ช่วงเศรษฐกิจดีที่สุด ราคาหุ่นอยู่ที่ 1,700 และปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1,500 ต้นๆ ตอนนั้นราคาหุ่นของแบงก์กรุงเทพอยู่ที่ประมาณ 500 บาทเมื่อปี 2530-2531 ปี 2559-2560 ราคาหุ่นแบงก์กรุงเทพอยู่ 150 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานจากปี 2530 -2532 ค่าแรงเพิ่มขึ้น 5 บาท เวลาเศรษฐกิจดีค่าแรงผู้ใช้แรงงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เวลาเศรษฐกิจไม่ดีไม่ดีค่าแรงก็ถูกแช่แข็ง ปี 2541-2543 เจอฟองสบู่แตก ต้มยำกุ้ง ไครซิส สถาบันการเงินล่มสะลายค่าแรงก็แช่ไว้ที่ 41-43 ที่ 162 บาท ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจเลย เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอะไรไม่ทราบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเท็จ เกี่ยวข้องกับการที่ไม่นำเสนอเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่ทำให้คนไม่อยากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้แรงงานมากกว่าจะอยากขึ้น นี่คือตัวอย่างสภาวะแรงงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นแบบนี้และเวลานี้จะเป็นแบบนี้อย่างหนักหน่วงมากขึ้น กลไกรัฐ และสถาบันต่างๆเชื่อจริงๆว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต้องถูกปล่อยให้อยู่ในกลไกตลาดเสรีไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าการเจอปัญหาราคาข้าวไม่ดีในปีที่ผ่านมานานมากที่รัฐบาลจะมีมาตรการเข้าไปแทรกแซงตลาด เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นแล้วว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่มีการขึ้นเลยแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นบ้าง 5-10 บาทแต่นี่เป็นทิศทางใหญ่ที่คิดว่าจะไม่เปลี่ยนภายใต้ทิศทางแบบนี้ก็จะเจอปัญหาที่ซับซ้อนทั้งเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ดิจิตอล อีโคโนมี การเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้แทนมนุษย์ แทนผู้ใช้แรงงาน ภายใต้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอนาคต และภายใต้อดีต และปัจจุบันแบบนี้จึงเป็นปีที่มืดมนมากสำหรับผู้ใช้แรงงาน เป็นความมืดมนที่นโยบายรัฐมีส่วนสำคัญไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การทำงานของทุกส่วนรวมถึงสื่อก็มีส่วนสำคัญ ปัญหาที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตไม่ได้มาจากหลายปัจจัย หลายปีที่ผ่านมาความมืดมนทุกๆปัจจัยมาบรรจบในเวลาเดียวกัน และสภาพแบบนี้จะคงอยู่ไปอีกสักพักหนึ่ง
รายงานโดยวาสนา ลำดี