1 พ.ค.วันกรรมกรสากลแรงงานแยกจัด 2 ขบวน ผู้ใช้แรงงานหลายจังหวัดจัดงาน เรียกร้องปรับค่าจ้างและเพิ่มสวัสดิการ
โดย วาสนา ลำดี
1 พฤษภาคม ของทุกปีเนื่องจากวันกรรมกรสากลที่ทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองกัน และถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติสำปรับในประเทศไทยปีนี้ ขบวนการแรงงานจัดแยกเป็น 2 เวที โดยกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) โดยเริ่มขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินตามถนนราชดำเนินไปยังหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ภายใต้คำขวัญ “สามัคคีกรรมกรต้านทุนนิยมครอบโลก” ประกาศจัด “วันกรรมกรสากล” ด้านขบวนสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ซึ่งได้รับงบจัดงานจากรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน 4.9 ล้านบาท จัดงานที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยมีการรวมตัวกันที่สนามกีฬากองทัพบกถนนวิภาวดี ภายใต้การเคลื่อนริ้วขบวนถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในงานนอกจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ และรับข้อเรียกร้องจากคณะผู้จัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2560
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เป็นการจัดงานวันกรรมกรสากล ภายใต้คำขวัญ “สามัคคีกรรมกรต้านทุนนิยมครอบโลก” ปีนี้เน้นเรียกร้องขอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างค่าจ้างอย่างเป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนอัตราเท่าไหร่นั้นต้องมาหารือร่วมกัน ยืนพื้นต้องมากกว่า 300-400 บาทต่อวัน เพราะค่าจ้างวันละ 300-310 บาท แค่คนเดียวยังไม่เพียงพอ ขณะที่ความเป็นจริงต้องเลี้ยงดูครอบครัวถึง 2 คน เรียกว่า มีพ่อ แม่ ลูก ซึ่งมากกว่า 600-900 บาทด้วยซ้ำ จึงต้องมาหารือกันทุกฝ่าย ทั้งรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ว่าต้องอัตราเท่าไร
ประเทศไทยชนชั้นปกครองได้พยายามในทุกรูปแบบสร้างความแปลกแยกในมวลกรรมกรมาเป็นระยะ ทั้งใช้อำนาจเผด็จการ ใช้กฎหมาย ใช้กลไกของรัฐในการหว่านล้อม แทรกแซงทำให้เกิดความแตกแยก แม้วันกรรมกรสากลที่เคยจัดครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อประมาณปี 2490 รัฐบาลในห้วงเวลานั้น ยังชี้นำแลกกับการให้เงินสนับสนุนการจัดงานโดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” และไม่เคยสนับสนุน ส่งเสริมให้คนงานรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จากการแทรกแซงของรัฐบาลทำให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอมาจนถึงปัจจุบัน จากความไม่เข้มแข็งของขบวนการแรงงานรวมตัวกันยากด้วยกฎหมายไม่เอื้ออำนวย ขาดอำนาจในการเจรจาต่อรอง ทำให้ประเทศอยู่ในสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” เกิดปัญหาความเหลื่อมลำในระดับต้นๆของโลก เกิดปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น อย่างที่ทราบกัน ถึงวันนี้ สถานการณ์โลกกำลังอยู่ในช่วงปฏิบัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หรือที่เรียกว่ายุค 4.0 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งจะมีการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน และการดำเนินชีวิตของคน ทั้งภาคการผลิต การบริดาร การสื่อสารการเกษตร และอื่นๆ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิต และความสัมพันธ์ทางผลิต แม้จะมีส่วนที่ดีในแง่ของความรวดเร็ว สะดวก สบายแต่ก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งการตกงาน ว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การเข้าถึงเทคโนโลยีของธุรกิจและภาคการผลิต รายย่อย ความมั่งคั่งจะตกอยู่ในอาณาจักรของคนไม่กี่คน และนั้นหมายถึงการแย่งชิงและความรุนแรงจะตามมา ประเทศไทยเองแม้จะเขย่งขา ก้าวสู่เวทีแข่งขันกันนานาชาติ ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” แต่ก็ไม่มีกรอบการทำงานและนโยบายเชิงรุก และมาตรการรองรับผลกระทบที่ชัดเจนและประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพา จึงยังไม่รู้ว่าทิศทางประเทศชาติ ประชาชนจะก้าวเดินสู่ทิศทางใด
วันกรรมกรสากลปีนี้จึงขอให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงจังหวะก้าวในการกำหนดทิศทางของประเทศที่จะต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคมกว่า 40 ล้านคน ที่จะต้องมีมาตรการในการสนับสนุน ส่งเสริม ดูแลอย่างจริงจัง เพราะเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลในปีนี้จำนวน 10 ข้อ เป็นข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ เป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางปัญหาอีกมากมายแต่จะสามารถร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ หากรัฐบาลมีความจริงใจ
“สิ่งสำคัญที่สุด ขอให้มวลหมู่พี่น้องกรรมกร ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย จงได้ตระหนักเสมอว่าสิ่งที่เสนอไปนั้น ทั้งในระยะสั้นเฉพาะหน้า รวมทั้งการแก้ไขปัญหาระยะยาวคงไม่สามารบรรลุถึงเป้าหมายต่อการกินดี อยู่ดี มีความสุขได้ตราบใดที่คนงายยังอ่อนแอ ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจำต้องสามัคคีกัน รวมพลังกันและร่วมกันสำแดงพลังในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อผลักดันความต้องการ ข้อเสนอให้เป็นจริง พลังที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอจากสภาพการทำงานสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และสุดแล้วก็มีเราและพวกเราทั้งหลาย คือผู้กำหนดอนาคตดังคำกล่าวที่ว่า “ภายนอกเป็นเงื่อนไข ภายในชี้ขาด” เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันทำงานขยายการจัดตั้ง ร่วมกันแสวงหามิตรสหาย และแนวร่วมจากภาคส่วนของสังคมให้มากขึ้น คือความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า แต่เชื่อมั่นว่า พลังของพวกเราชนชั้นผู้ใช้แรงงานจะสามารถเปลี่ยนผ่านสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความสุข ดังความต้องการได้” นายสาวิทย์กล่าว
นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. นายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ต่างขึ้นกล่าวข้อเรียกร้อง โดยส่วนใหญ่ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ขึ้นค่าจ้างตามความเป็นจริง โดย 300 บาทต่อวันไม่เพียงพอ เพราะแรงงาน 1 คนเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน ค่าจ้างควรพอเลี้ยงจำนวนคน ส่วนจำนวนเท่าไรต้องมาหารือร่วมกัน
จากนั้นทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้ทำพิธีเปิดด้วย “แรงงานสร้างชาติ ไม่เป็นทาส 4.0” และเคลื่อนขบวนเดินไปยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พร้อมร่วมกันปราศรัยจากผู้นำแรงงานองค์กรต่างๆพร้อมพิธีปิดกิจกรรมสำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีดังนี้
- รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว อีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี
- 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3มาตรา 48)
- 4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้
4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
- รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว
- รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้
6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน
6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33
6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย
6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558
6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์
- รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
- รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)
- รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ
- รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ
ด้านหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ(30 เม.ย.60)รายงานว่า นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยถึง ผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท จำนวน 1,258 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 97% ของแรงงานไทยยังมีภาระหนี้ และก่อหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนหน้าที่ 119,061 บาท นับว่าสูงสุดในรอบ 8 ปี ส่วนหนึ่งมากจากมีหนี้สะสมตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา จากภาวะเศรษฐกิจโลกแย่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในปีที่ผ่านมา มีปัญหามาก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี เช่น ราคาสินค้าเกษตรหลัก 6 ตัว ยางพารา น้ำมันปาล์ม ข้าว ตกต่ำพร้อมกัน, ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงเหลือ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้การส่งออกลดลง ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากยังต้องใช้จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ เพราะมีรายได้เท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีหนี้สินเพิ่ม แต่อย่างไรก็ดี หนี้ที่สูงนี้ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก
ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งควบคุมราสินค้า และช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ โดยเฉพาะค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายประจำวัน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ดูแลประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และให้เงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เป็นต้น ขณะเดียวกันแรงงานก็พร้อมที่จะปรับฝีมือแรงงานตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้รายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย
โดยมีแรงงานเพียง 3% เท่านั้นที่ไม่มีการก่อหนี้ ด้วยการประหยัดให้มากขึ้น โดยซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น แต่ก็มีบางส่วนที่มีรายได้สูงขึ้น และมีรายได้เสริมด้วย รวมทั้งห่วงใยเรื่องการตกงานน้อยลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้อัตราการว่างงานยังอยู่ 1.3% และคาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดกลางปีนี้ถึง 1.5% แต่จากนั้น ก็จะถอยกลับมา และสิ้นปีนี้ไม่ควรเกิน 1%
ขบวนแรงงานขบวนที่สองนำโดย นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2560 ได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 5 ข้อ ดังนี้
1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเรียกร้องตั้งแต่ปี 2535 สมัยรัฐบาล รสช. แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีแต่โปรยยาหอมว่าจะเร่งการรับรองแต่ก็ไม่ได้มีการรับรอง ล่าสุดประเทศไทยถูกจัดอันดับการเฝ้าระวังเรื่องการค้ามนุษย์อันดับ 5 และกำลังพยายามลดระดับมาอยู่ที่ 2 ให้ได้ ดังนั้น คิดว่าหากรัฐบาลให้การรับรองอนุสัญญาดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากขึ้น
2.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ยกสถานะเป็นองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ เพราะถ้าไม่ทำอะไรกองทุนล้านล้านบาทจะหมดในอีกไม่กี่สิบปี นอกจากนี้ ขอให้แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล กรณีลูกจ้างเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนครบตามหลักเกณฑ์แล้วให้ลูกจ้างมีสิทธิใช้กองทุนประกันสังคมต่อได้ และผู้ประกันตนมาตรา 39 และ40 ให้มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเงินออมแห่งชาติได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศคืนสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนเข้ามาขึ้นทะเบียนได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ให้แก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุให้เท่าที่จ่ายจริง รวมถึง แก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานเดิม 60 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง
3.ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การตั้งกรมแรงงานนอกระบบ
4.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบรัฐวิสาหกิจและให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง
5.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ มาตรา 163 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ เพื่อให้บั้นปลายชีวิตแรงงานที่เกษียณอายุ
ในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ขบวนผู้ใช้แรงงานตามจังหวัดต่างๆได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในอีกหลายจังหวัด เช่น กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้เดินรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2560 ข้อเรียกร้อง 10 ข้อตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้จัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2560 โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในโอกาสวันกรรมกรสากล ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการคุ้มครองด้านสิทธิแรงงาน ในระบบ ข้ามชาติ และแรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลาง ชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ยังมีอีกหลายจังหวัดที่จัดกิจกรรม เช่น ปลูกป่า ปล่อยพันธุ์ปลา พันธุ์ปูสู่ทะเล และการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการต่างๆ ซึ่งในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่จังหวัดกระบี่ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเนื่องจากค่าจ้าง 300 บาทไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เรียกร้องให้มีการปรับแก้กฎหมาย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์การประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาล เงินบำเหน็จ บำนาญชราภาพ เป็นต้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยกล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ผมขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังพี่น้องแรงงานทั่วประเทศทุกท่าน แรงงานถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและบริการ ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่คนไทย โดยมุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีรายได้ และมีหลักประกันทางอาชีพ พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องแรงงานไทยในทุกสาขาอาชีพ ทั้งแรงงานภายในประเทศและในต่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ได้รับความคุ้มครอง สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียม และมีรายได้ที่มั่นคง ตลอดจนได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานไทย ในการก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มรายได้ให้กับทุกคนได้ในระยะต่อไป
รัฐบาลขอขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดมา ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 นี้ ผมขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก อีกทั้งเดชะพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้โปรดอภิบาลประทานพร ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน พร้อมทั้งครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป