จับตา รัฐบาลไทยไปรายงานการดำเนินงานตามอนุสัญญา CEDAW

ผู้แทนองค์กรผู้หญิงด้านสิทธิมนุษยชน ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ CEDAW เพื่อให้ข้อมูล รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการด้านสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ขาดความมุ่งมั่นเพื่อจะบรรลุถึงความเสมอภาคโดยสาระ โดยเน้นเพียงความเสมอภาคเชิงรูปแบบ
๕ ก.ค.๒๕๖๐ เป็นวาระสำคัญในโอกาสที่ประเทศไทยไปรายงานการดำเนินงานตามอนุสัญญาด้านสิทธิผู้หญิง หรือ อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี CEDAW องค์กรผู้หญิงและองค์กรด้านสิทธิมนุษยนชน ร่วมกันจับตาการไปรายงานครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้มีการจัดทำรายงานทางเลือกส่งให้กับคณะกรรมการCEDAW และเมื่อวันที่ ๓ ก.ค.ที่ผ่านมา ก็มีผู้แทนจากแนวร่วมองค์กรผู้หญิงต่างๆ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ CEDAW เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและประเด็นสำคัญที่ต้องการให้มีรัฐดำเนินการ

พวกเราเห็นว่า รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการและขาดความมุ่งมั่นเพื่อจะบรรลุถึงความเสมอภาคโดยสาระ โดยเน้นเพียงความเสมอภาคเชิงรูปแบบเป็นหลัก จึงทำให้ผู้หญิงหลายๆ กลุ่มยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทั้งการมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องทรัพยากร การเข้าถึงความยุติธรรม ในโอกาสที่ประเทศไทยไปรายงานครั้งนี้ องค์กรผู้หญิงได้ร่วมกันเตรียมจัดทำรายงานทางเลือกโดยเน้นประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุความเสมอภาคโดยสาระและป้องกันการเลือกปฏิบัติในทุกๆ ด้านในชีวิตผู้หญิง ทางเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ จัดทำรายงานประกอบด้วย ๖ ประเด็น คือ กลไกระดับชาติเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิงและการดำเนินงานในภาพรวม ความรุนแรงต่อผู้หญิง การค้าหญิง ผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้ง การเสริมพลังทางเศรษฐกิจของผู้หญิง และ ผู้หญิงในสถานการณ์เฉพาะ รวมถึง แรงงานหญิงย้ายถิ่นข้ามชาติ หญิงอยู่ร่วมกับเอชไอวี หญิงพิการ

ประเด็นหนึ่งในรายงานที่ทางเครือข่ายผู้หญิงให้ความสำคัญกำลังติดตามก็คือ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการไปรายงานครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะกรรมการ CEDAW ให้ข้อเสนอแนะต่อ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวฉบับเดิม ให้คำนึงถึงสิทธิของผู้หญิงที่จะมีชีวิตโดยปราศจากความรุนแรง แทนการไกล่เกลี่ยและความปรองดองในครอบครัว ต่อมา มีการประกาศใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ยังระบุชัดเจนว่าต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีของบุคคลในครอบครัวมากกว่า ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ครอบคลุมเฉพาะความรุนแรงทางกาย และทางจิตใจ โดยไม่ได้รวมถึงความรุนแรงทางเพศ จึงทำให้บุคคลที่ประสบความรุนแรงทางเพศในครอบครัวรวมถึงการข่มขืนในคู่สมรสใช้ประโยชน์ ร้องเรียนตามกระบวนการในพ.ร.บ.นี้ได้ยากลำบาก ผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัวยังคงทนอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะถูกกระทำซ้ำจากผู้กระทำหลังจากที่เข้าร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ยให้ดำรงความเป็นครอบครัว
ทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ใช้ชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัวดิภาพบุคคลในครอบครัว ซึ่งมีหมวดที่มีเนื้อหาคล้ายกับพ.ร.บ.คุ้มครองฉบับเดิม และยังมีประเด็นที่น่าห่วงใยในร่างพ.ร.บ.นี้ก็คือ ความสับสนระหว่างการคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวกับและการส่งเสริมสถาบันครอบครัว และสร้างกลไกระดับชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแทนที่จะได้รับความคุ้มครองเยียวยา โดยเมื่อเดือนมกราคม ร่างพ.ร.บ.ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎาถึงแม้ว่าจะมีข้อทักท้วงจากหลายภาคส่วน ทั้งจากเครือข่ายองค์กรผู้หญิงและเด็ก ผู้เชี่ยวชาญทางกฎมาย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการ โดยเฉพาะข้อห่วงใยที่ร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของผู้หญิงซึ่งถูกละเมิดอย่างเพียงพอ
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

• ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว และเปิดให้มีการรับฟังและแสดงความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง

• ปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเพื่อให้มีคำจำกัดความที่ครอบคลุมความรุนแรงทางเพศให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๗๖ และให้รวมบริการทางสังคมและความช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับหญิงที่ประสบปัญหา โดยพ.ร.บ.คุ้มครองนี้ จะต้องแยกจากร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่เน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

• จัดให้มีความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรภาคประชาสังคมและนักกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนในมิติเพศภาวะในการให้ความต่อสู้คดีให้กับหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงและถูกดำเนินคดีอาญาจากการทำร้ายสามีจนเสียชีวิต

• เผยแพร่และสร้างความตระหนักต่อทุกภาคส่วนว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นความสัมพันธ์หญิงชายที่ไม่เท่าเทียม

สนใจรายงานฉบับสมบูรณ์ ติดต่อที่ มูลนิธิผู้หญิง info@womenthai.org
02-4335149, 02-4351246