คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (1)

                                          

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

นอกจากจะมีพื้นที่ความคิดคุยกันในเรื่องความยุติธรรมด้านสิทธิแรงงานในเว็บไซต์ของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันแล้ว  นับแต่นี้ต่อไปก็จะมีพื้นที่ความคิดเพิ่มขึ้น  โดยจะคุยกันในลักษณะคลินิกกฎหมายด้านแรงงาน ซึ่งผมและทีมงานจะได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งในระบบและนอกระบบมาสื่อสารพุดคุยกัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กันและกัน  แต่ในส่วนนี้จะเน้นเรื่องกฎหมายแรงงานเป็นสำคัญครับ

ประเด็นแรก : ทำไมต้องสนใจกฎหมาย

ลูกจ้างและคนทำงานเคยสำรวจและดูตัวเองกันบ้างไหมว่า ทุกวันนี้ชีวิตการทำงานของแต่ละคนเป็นเช่นไร นับแต่วันที่ย่างเท้าก้าวสู่รั้วโรงงานหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ แต่ละคนก็มุ่งแต่ว่าหน้าที่ฉันต้องทำอะไรบ้าง นอกจากหน้าที่ประจำแล้ว ยังต้องคอยเงี่ยหูฟังว่า หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาเขาจะสั่งงานอะไรเพิ่มเติมอีก ซึ่งก็ต้องทำตามคำสั่งแทบจะทุกเรื่อง จนหลายคนเข้าใจผิดไปแล้วว่า ต้อมทำทุกเรื่องทุกอย่างที่นายจ้างสั่ง  มีบางครั้งที่ฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่า  หน้าที่ความรับผิดชอบฉันมันแค่ไหนกันแน่ แต่ก็ทำเช่นนั้นตลอดมา

สถานประกอบการหรือบริษัทห้างร้านแต่ละที่ ก็จะมีระบบแบบแผน หรือแนวปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา  ดังนั้น นับแต่วันที่ย่างก้าวเข้ามา ทุกคนก็จะเดินตามแนวที่ทำกันมา ชีวิตจึงถูกกำหนดไว้ตายตัว เช่น เข้างานกี่โมง พักกี่โมง ทำล่วงเวลากี่ชั่วโมง เลิกงานกี่โมง วันหยุดใดบ้างที่นายจ้างสั่งให้มาทำงาน ทำเช่นนี้ทุกเดือนทุกปีจนกระทั่งหลายสิบปีผ่านไป เส้นทางชีวิตก็เป็นอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกหรือความเคยชินว่า กฎหมายไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับฉันเลย ฉันไม่เคยเรียนรู้และสนใจกฎหมายเลย แต่ชีวิตฉันก็ปกติดี

ในขณะที่สังคมคนทำงานอีกฟากฝั่งหนึ่งก็ง่วนอยู่กับการเรียกร้องให้คนงานสนใจสิทธิของตัวเอง กฎหมายแรงงาน และนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ประชุมและจัดอบรมด้านแรงงาน ตลอดจนการเรียกร้องให้นายจ้างเคารพกฎหมาย และให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการใช้กฎหมาย รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน

ประเด็นก็คือว่า ประเทศของเรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นรูปเป็นร่าง มาตั้งแต่ปี 2515 (ไม่อยากย้อนไปถึงปี 2499 ซึ่งมีการประกาศใช้กฎหมายแรงงานฉบับแรกของไทย) และมีการแก้ไขปรับปรุงกันเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไม่น้อยกว่า15 ฉบับ แต่เราก็ยังพบความจริงว่า

–ยังมีนายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่แม่สอด และเรื่องทำนองนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนถึงกับเอ่ยปากว่า แรงงานข้ามชาติไม่ควรได้ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นสำหรับแรงงานไทยเท่านั้น

–มีกรณีลูกจ้างป่วยและน่าเชื่อว่าเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง แต่นายจ้างไปคุยกับญาติพี่น้องแล้วก็จ่ายเงินให้ญาติจำนวนหนึ่ง โดยขอร้องว่าอย่าไปยื่นกองทุนเงินทดแทน แล้วเรื่องนั้นก็จบเงียบไป

–มีลูกจ้างหลายรายเซ็นชื่อในใบลาออก แล้วนายจ้างนัดให้มารับเงินค่าชดเชยในภายหลัง  ครั้นลูกจ้างมารับเงินค่าชดเชย  นายจ้างกลับบอกว่า ก็คุณลาออกเอง จะเอาเงินค่าชดเชยได้อย่างไร ไปฟ้องคดีก็แพ้กลับมา

–ลูกจ้างตั้งครรภ์ พอใกล้คลอด ฝ่ายบุคคลก็บอกให้ออกไปก่อน ไปเลี้ยงลูกให้ดี พอเข้าที่เข้าทางแล้ว ค่อยมาทำงานใหม่ ลูกจ้างก็ดีใจเป็นที่สุดว่า ชีวิตฉันช่างมีโชคอะไรเช่นนี้ ถึงได้มาเจอะเจอนายจ้างที่แสนดี มารู้ทีหลังว่า ค่าจ้างที่ลาคลอดก็ไม่ได้ เพราะเป็นลาออกมิใช่ลาคลอด และอายุงานก็เริ่มนับใหม่เพราะต้องสมัครงานใหม่ก็เลยตัดสินใจไปหางานใหม่

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายนะครับ  ที่สะท้อนให้เห็น ความแปลกแยกของชีวิตแรงงานกับความรู้ทางกฎหมาย และนำไปสู่ความสูญเสียสิทธิและความเป็นธรรมด้านแรงงานอย่างประมาณค่ามิได้ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันดีแล้วว่า หากลูกจ้างหรือคนทำงานมีความรู้ทางกฎหมาย การตัดสินใจ หรือการแก้ไขปัญหาก็จะเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หลักกฎหมาย หรือสิทธิพื้นฐานทางกฎหมายแรงงานดังกล่าวนี้ ก็ยังคงเป็นความมืดทางความรู้สำหรับคนงานตลอดมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน  ดังนั้น ลองดูตัวเอง ถามตัวเอง ดูคนรอบข้างและถามคนรอบข้างเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละคนเผชิญอยู่ ก็จะได้แง่คิด  หากเราได้เรียนรู้หลักกฎหมาย เหตุผลของกฎหมาย และประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย เราก็จะพบคำตอบว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา หรือถ้าเกิดขึ้น เราจะสามารถแก้ไขหรือจัดการได้ดีกว่านี้ ความผิดพลาดหรือความเสียหายถ้าจะมีบ้าง ก็จะไม่มากดังที่เป็นตัวอย่าง

ประเด็นที่สอง : กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายเพื่อชีวิต

เมื่อได้ชื่อว่าเป็นลูกจ้างหรือคนทำงาน (เอากรณีลูกจ้างแล้วกัน แรงงานนอกระบบในภาพรวมยังไม่ชัด กำลังยกร่างกฎหมายกันอยู่) เมื่อมีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามที่ตกลงกัน แต่เรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ เรื่องที่เป็นมาตรฐานแรงงานต้องเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ใครจะไปตกลงกันหรือปฏิบัติแตกต่างในทางที่ต่ำกว่ามาตรฐานตามกฎหมายไม่ได้ ขืนทำไปก็ใช้ไม่ได้ ภาษากฎหมายเขาเรียกว่าเป็นโมฆะ

ที่ว่ากฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายเพื่อชีวิตนั้น ลองทบทวนดูซิครับ

–เรื่อง ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงาน เช่น  ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

–เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน  เช่น มีชั่วโมงทำงาน เวลาพักระหว่างการทำงาน เวลาพักก่อนที่จะทำงานล่วงเวลา  วันทำงาน วันหยุด สิทธิลาป่วย สภาพแวดล้อมในการทำงานต้องปลอดภัย มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายให้สวมใส่ในการทำงาน

— มีการคุ้มครองแรงงานเด็ก  แรงงานผู้พิการ แรงงานหญิง เป็นต้น

–มีการประกันค่าจ้างอัตราร้อยละ 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวที่มิใช่เหตุสุดวิสัย

–มีการคุ้มครองในเรื่องการเจ็บป่วย ประสบอันตราย  ทุพลภาพ และตาย อันเนื่องมาจากการทำงาน โดยมีกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างฝ่ายเดียวมีหน้าที่ต้องนำส่งกองทุนเพื่อจ่ายให้ลูกจ้างที่ประสบเหตุ

–มีการคุ้มครองในเรื่องการเจ็บป่วย ประสบอันตราย ทุพพลภาพ และตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งการสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และว่างงาน ซึ่งก็คือระบบกองทุนประกันสังคม

–มีการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างในการจัดตั้งองค์กร และการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้เกิดความเป็นธรรม สอดคล้องกับการที่ลูกจ้างได้มีส่วนสร้างผลผลิตจนนายจ้างมีกำไรมากมาย

และในกรณีที่การจ้างงานสิ้นสุดลง เช่น มีการเลิกจ้าง กฎหมายก็มีหลักประกันในเรื่องการจ่ายเงินชดเชย และเงินทดแทนกรณีว่างงาน ตลอดจนมาตรการในการพัฒนาทักษะฝีมือ การจัดหางาน และมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีที่ประสบภัยต่าง ๆ  เช่น มีกองทุนช่วยเหลือแรงงาน

จะเห็นได้ว่า กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่ใกล้ตัวของลูกจ้างและคนทำงาน ผสมกลมกลืนกับการทำงานและ การดำเนินชีวิตของลูกจ้างและครอบครัวที่สุดแล้ว เหตุใดลูกจ้างจึงห่างเหินและห่างไกลจากกฎหมายเหล่านี้เล่า ใคร? หรืออะไร? ที่ทำให้เราต้องห่างเหินจากกฎหมาย และเหตุใดนายจ้างที่ทำผิดกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายรับใช้ชีวิตของลูกจ้างและคนทำงาน เพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีในการสร้างผลผลิตให้สังคมได้ยาวนาน กลับไม่ได้รับผลร้ายจากการกระทำเช่นว่านั้น มิหนำซ้ำยังเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ประเด็นที่สาม : เรื่องพื้นฐานที่ลูกจ้างหรือคนทำงานควรต้องรู้และเรียนรู้

–สัญญาจ้างแรงงาน

เวลาพูดถึงสัญญาจ้างแรงงาน หลายคนมักจะเข้าใจว่าหนังสือสัญญาจ้าง  ความจริงไม่ถูกต้อง  คำว่าสัญญาจ้างแรงงานก็คือ  การตกลงกันของนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อให้ทำงานให้กันโดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ การตกลงกันนี้ไม่ต้องมีเอกสารหรือหนังสือก็มีผลตามกฎหมายแล้ว  ไม่เหมือนกับการทำสัญญาในบางเรื่องกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน

โดยทั่วไปเราจะพบความจริงว่า ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานโดยทั่วไป นายจ้างมักจะไม่ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ซึ่งตามกฎหมายก็มิได้กำหนดว่าการเป็นนายจ้างลูกจ้างกันนั้นต้องมีสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้ไม่มีหนังสือสัญญาจ้างลูกจ้างคนนั้นก็มีสิทธิตามกฎหมายแรงงานโดยสมบูรณ์ทุกประการ แต่ในบางตำแหน่งงาน หรือระดับหัวหน้างานนายจ้างมักจะทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ เหตุที่เขาต้องทำเป็นหนังสือก็เพราะว่าเขารู้กฎหมาย และเขาใช้หลักกฎหมายมากำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในสัญญาจ้าง ซึ่งก็คือการป้องกันดีกว่าตามแก้ไขปัญหา และจะเป็นการลดความเสี่ยงที่นายจ้างอาจต้องเจอในอนาคต  หนังสือสัญญาจ้างเหล่านี้จึงถูกออกแบบโดยทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมายของนายจ้าง นี่คือด่านแรกที่ลูกจ้างถูกท้าทายและทดสอบพลังอำนาจต่อรอง หลักกฎหมายบอกว่า “ทุกคนมีเสรีภาพในการทำสัญญา” แต่สภาพความเป็นจริงก็บอกเราทุกวันว่ามีความเป็นจริงอยู่บางส่วน เยอะเลยไม่จริง และนี่ก็คือความเหลื่อมล้ำทางด้านแรงงานที่อาจนำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านแรงงานในระยะยาว

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

เรื่องนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จัดทำ กฎหมายระบุว่าสาระสำคัญในข้อบังคับฯ อย่างน้อยต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น วันทำงานปกติ เวลาทำงาน เวลาพัก วันหยุด วันลาและหลักเกณฑ์การลา การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด วินัยและโทษทางวินัย การเลิกจ้าง และการร้องทุกข์ เป็นต้น  นอกนั้นแล้วแต่นายจ้างจะกำหนด แต่ทุกอย่างที่กำหนดในข้อบังคับต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย คือไม่ต่ำกว่ากฎหมาย และในส่วนที่เป็นคำสั่งของนายจ้างในเรื่องงาน นอกจากต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องมีความเป็นธรรมด้วย(ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม) หมายความว่า คำสั่งนั้นจะต้องไม่เอาเปรียบลูกจ้างเกินไป หรือไม่ทำให้ลูกจ้างเดือดร้อนมากเกินไป ซึ่งต้องดูเป็นเรื่อง ๆ ไป ต้องหยิบยกตัวอย่างมาคุยกัน

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน บางครั้งก็เรียก “ระเบียบวินัย” “คู่มือพนักงาน”   “กฎบริษัท” เป็นต้น

ลูกจ้างและคนทำงานต้องใส่ใจเรื่องนี้ เพราะในข้อบังคับฯ นายจ้างจะกำหนดสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างไว้ มีทั้งประโยชน์และโทษ และเนื่องจากข้อบังคับฯนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงานหรือการเป็นนายจ้างลูกจ้าง หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด กฎหมายถือว่าฝ่ายนั้นทำผิดสัญญาจ้าง ทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นเหตุให้อีกฝ่ายใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีได้ตามกฎหมายข้อบังคับฯข้อใดที่ขัดต่อกฎหมาย ลูกจ้างหรือองค์กรของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายมีสิทธิยื่นเรื่องต่อพนักงานตรวจแรงงานในเขตพื้นที่ หรือจังหวัดที่ลูกจ้างทำงานอยู่ได้

หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากข้อบังคับฯนั้นโดยตรง แต่รับทราบเรื่องซึ่งต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ท่านก็สามารถแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานตรวจแรงงานทราบเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้ ทำนองพลเมืองดีไม่นิ่งดูดายครับ

นอกจากนี้ หากลูกจ้างหรือองค์กรของลูกจ้างเห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อใด เรื่องใดไม่เป็นธรรม ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ก็สามารถนำไปประชุมปรึกษาหารือกับนายจ้าง โดยอาศัยบทบาทหรือหน้าที่ของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการลูกจ้าง คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ คณะกรรมการสหภาพแรงงาน เป็นต้น หรือไม่ก็นำไปกำหนดเป็นข้อเรียกร้องเพื่อยื่นต่อนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อจะได้ทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งก็จะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองแรงงาน หรือคุณภาพชีวิตของลูกจ้างหรือคนทำงานอีกทางหนึ่ง

–ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

เรื่องนี้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  หมายถึงการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือนายจ้างหรือสมาคมนายจ้าง กับสหภาพแรงงาน ในเรื่องที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน วันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ  การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน  และ ในกรณีเป็นที่สงสัยว่านายจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ ก็ให้ถือว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างมีหน้าที่จัดทำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมิได้ตกลงกัน แต่เกิดจากนายจ้างให้เอง หรือนายจ้างปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน  ก็ถือว่าเป็นสภาพการจ้างด้วยเช่นกัน เช่น ในวันสิ้นปี 2-3 ปีมาแล้ว นายจ้างจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาท ให้กับลูกจ้างทุกคน ไม่มีชื่อเรียกว่าเงินอะไร ไม่บอกเหตุผลในการจ่าย พอก่อนสิ้นเดือนธันวาคมก็โอนเข้าบัญชีให้ลูกจ้าง อย่างนี้กฎหมายถือว่าเป็นสภาพการจ้าง ปีต่อๆไปนายจ้างจะไม่จ่ายหรือจ่ายต่ำกว่า 10,000 บาท จะเป็นปัญหาว่า นายจ้างทำผิดสัญญาจ้างหรือผิดสภาพการจ้างนั่นเอง ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมาย

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในที่นี้  ส่วนใหญ่เกิดจากการเรียกร้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งถือว่าเป็นสภาพการจ้างที่มีหลักประกันค่อนข้างสูง เนื่องจากตามกฎหมายนายจ้างต้องนำข้อตกลงนี้ไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ และใครที่ฝ่าฝืนข้อตกลงนี้ มีโทษทางอาญาด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กรณีที่นายจ้างทำสัญญาจ้างโดยไม่เป็นธรรม และทำกับลูกจ้างหลายคน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เหมาะสม รวมทั้ง ระเบียบปฏิบัติหรือกฎอื่นใดของนายจ้างที่ลูกจ้างเห็นว่าไม่ดีไม่งามไม่เป็นธรรม ก็นำมายื่นข้อเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงได้ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และข้อตกลงที่ว่านี้ก็คือแหล่งที่มาที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างหรือคนทำงานอีกประการหนึ่งนั่นเอง

ดังนั้นตามคำกล่าวที่ว่า หากจะพิจารณาสิ่งใดก็ขอให้มองทั้งตัว ทั้งกระดาน ให้เห็นภาพรวม เมื่อกล่าวถึงลูกจ้างหรือคนทำงาน ซึ่งก็จะคู่กับนายจ้าง หรือผู้จ้างงาน หากจะเรียนรู้หลักกฎหมาย  หรือแท้จริงแล้วก็คือหลักเหตุผลแห่งความเป็นธรรม ซึ่งจะมีทั้งสิทธิและหน้าที่อยู่คู่กันไป แล้วแต่ว่า เหตุผลทางกฎหมายจะวางน้ำหนักไปที่เรื่องใดหรือฝ่ายใด ในการเรียนรู้ครั้งนี้ เราจะพบว่าเมื่อเป็นนายจ้างลูกจ้างกันก็เกิดสิทธิและหน้าที่ มีกฎหมายที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ ซึ่งก็คือสิทธิและหน้าที่ เพื่อให้ง่ายก็ให้นึกถึงสัญญาจ้าง สิทธิตามกฎหมาย สิทธิตามที่ตกลงกันนอกเหนือกฎหมายแต่ต้องไม่ขัดหรือต่ำกว่ากฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เรียกว่าเห็นช้างทั้งตัว นี่ก็คือคุณภาพชีวิตของเรา คือกฎหมายเพื่อชีวิต  ต่อไปก็ค่อยไปเก็บรายละเอียด ค่อยๆเรียนรู้ท่ามกลางปฏิบัติ ยังไงๆปัญญาก็เกิดครับ

แน่นอนที่สุด เลิกถกเถียงหรือเลิกตั้งข้อสงสัยต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และควรเลิกกล่าวคำที่ว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองแต่ลูกจ้างไม่เห็นคุ้มครองนายจ้างเลย  ขอให้ความเห็นว่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างเป็นสำคัญจริง ๆ ด้วยเหตุผลร้อยแปดประการ เช่น ธุรกิจย่อมมุ่งแสวงหากำไรไม่มีที่สิ้นสุด หากทำได้ นายจ้างคงให้ลูกจ้างทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องมีวันหยุด หรือหยุดเพียงนิดหน่อย ลูกจ้างเจ็บป่วยก็ต้องฝืนทนทำงาน ค่ารักษาพยาบาลก็ต้องจ่ายเอง การตั้งครรภ์และคลอดบุตรก็คงไม่เกี่ยวกับนายจ้าง เหตุใดต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ลาคลอดด้วยเล่า เมื่อนายจ้างไม่ต้องการจ้างหรือเลิกจ้าง เหตุใดต้องจ่ายค่าชดเชยให้อีกเล่า เนื่องจากศีลธรรมของมนุษย์อ่อนแอเกินไปที่จะเป็นประกันสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ลูกจ้างอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพางานและรายได้จากนายจ้าง มีความจำกัดในหลายเรื่องโดยเฉพาะเศรษฐกิจ หากไม่มีกฎหมายมาคุ้มครอง เชื่อว่าจะกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยและนั่นก็หมายถึงชีวิตของมนุษย์อาจต้องเจ็บป่วยล้มตาย หรือพิการ

แต่หากจะเปิดใจให้กว้างว่าแท้จริงแล้วที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองแรงงานหรือคุ้มครองลูกจ้าง ถึงที่สุดแล้วก็คือเพื่อทุกคนทุกฝ่ายในสังคม เพื่อถนอมและรักษากำลังแรงงานไว้ให้มีเรี่ยวแรงทำการผลิตหล่อเลี้ยงสังคมได้อย่างยาวนาน ดังที่มักจะกล่าวกันเสมอว่า มีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำงานและการผลิตหรือบริการไม่อาจเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายมีประโยชน์และมีคุณค่าซึ่งกันและกัน ควรให้การเคารพและคิดถึงคุณค่าเหล่านั้นอย่างยุติธรรม มีวิกฤติเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว หากไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว จะผ่านมาได้และมีวันนี้หรือครับ อย่ามองและเห็นแต่ตัวเอง แต่มองให้รอบ เห็นให้กว้าง ให้คุณค่ากับทุกสิ่งอย่างที่มีส่วนร่วมในการผลิตหรือสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แล้วคุณภาพชีวิตและสันติสุขก็อยู่แค่เอื้อม พบกันใหม่คราวหน้าครับ

@@@@@@@@@