ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกร ยากที่จะหาผู้นำแรงงานที่มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นนักคิด นักเขียน และนักเคลื่อนไหว เฉกเช่นคุณอารมณ์ พงศ์พงัน ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย โดยใช้สหภาพแรงงานเป็นฐาน สร้างอำนาจต่อรอง และเป็นโรงเรียนการเมืองของคนงาน พร้อมทั้งเป็นนักประสานการเคลื่อนไหวการต่อสู้ขององค์กรประชาชน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมือง จนสร้างผลกระทบโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ และการสืบทอดอำนาจของเหล่าเผด็จการทหาร ซึ่งชนชั้นปกครองได้ตอบโต้โดยการปราบปรามประชาชน แต่คุก ตะราง ก็มิได้ปิดกั้นเสรีภาพนี้ได้ มันกับกลายเป็นประกายไฟให้คุณอารมณ์ได้ผลิตชิ้นงานวรรณกรรม และการวิพากษ์วิจารณ์สังคม
คุณอารมณ์ พงศ์พงัน เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2489 ที่ เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดราษฎร์เจริญ ชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนมัธยมพงันวิทยา เมื่อปี 2505
ในช่วงปี 2502 ถึง 2507 นั้น คุณอารมณ์ไปใช้ชีวิตเป็นชาวประมงจับปลา จะละเม็ด เป็นคนแจวเรือรับจ้างที่ท่าเกาะพงัน และไปเป็นคนงานในไร่มันสำปะหลังที่ระยอง ทั้งนี้เพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี และได้กลับเข้าเรียนต่อ ม.ศ. 4 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ แผนกวิทยาศาสตร์
เมื่อเรียนจบ ม.ศ. 5 ปี 2510 ได้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิค โคราช แผนกวิชาช่างโยธา คุณอารมณ์ ถือว่าเป็นคนเรียนเก่งอยู่ในระดับแนวหน้า จนได้รับกิตติคุณในฐานะนักศึกษาเรียนดี และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชุมนุมภาษา และหนังสือของวิทยาลัย และเป็นประธานนักศึกษา
เนื่องจากค่าใช่จ่ายที่ทางบ้านส่งมาให้เดือนละ 500 บาท ไม่เพียงพอ คุณอารมณ์จึงต้องทำงานพิเศษ เพื่อหาเงิน โดยการเขียนหนังสือ เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ และบทกวี ลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆ อาทิเช่น สังคมปริทัศน์ สยามรัฐ ชาวกรุง สามยอด และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคประชาธิปปัติย์
วันที่ 1 กันยายน 2515 คุณอารมณ์ เข้าทำงานในการประปานครหลวง และได้ถูกส่งให้ไปเรียนรู้งานที่กองสำรวจ และออกแบบ งานอดิเรกของคุณอารมณ์ยังคงเขียนบทความคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราช ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการคัดค้านสงครามเวียดนาม เรื่องค่าแรงคนงาน เรื่องข้าวของแพง ขณะที่ตอนนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวการเมืองใด คำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ยังเป็นคำที่ผู้คนไม่เคยได้ยิน ไม่แพร่หลาย แต่คุณอารมณ์ได้ก้าวหน้าไปก่อนแล้ว ปลายปี 2515 คุณอารมณ์ได้สมรสกับคุณอมรลักษณ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชื่อ เบญจภา พงศ์พงัน
ความคิดที่แหลมคมทางการเมืองเพื่อสังคม ได้ถูกแสดงออกมา เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คุณอารมณ์ได้ชักชวนเพื่อนๆเข้าร่วมชุมนุม ร่วมกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กรณีการจับนักศึกษาที่แจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ภายใต้ความเชื่อของคุณอารมณ์ว่า “พลังมวลชนไม่มีใครสู้ได้” หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไปคุณอารมณ์ ได้เขียนบทความที่มีข้อคิดคล้ายเตือนว่า อย่าประมาท และอย่าไว้ใจอำนาจเผด็จการ ที่พร้อมจะทำทุกอย่างที่ไร้ศิลธรรมความปรานี
สหภาพแรงงานในความคิดของอารมณ์ พงศ์พงัน “สหภาพแรงงานได้แก่องค์กรคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กรรมกรผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจุดยืนแห่งการคุ้มครองผลประโยชน์นั้น อยู่บนพื้นฐานแห่งการปกครองด้านประชาธิปไตย” และสิ่งสมาชิก หรือกรรมกรต้องให้แก่สหภาพแรงงาน คือ ความพร้อมในการเป็นสมาชิก ให้ความไว้วางใจ อย่างเชื่อมั่น และศรัทธา เมื่อเข้าเป็นสมาชิกแล้วจะต้องเดินตามแนวทางลัทธิสหภาพแรงงานอย่างเคร่งครัด ในฐานะสมาชิก และจะต้องไม่เรียกร้องให้สหภาพแรงงานคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยไม่ชอบ ต้องไม่หวังที่จะอาศัยอิทธิพลของสหภาพแรงงาน ไปเป็นเครื่องมือไต่เต้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน
อารมณ์ ได้ร่วมจัดตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง เมื่อปี 2518 เริ่มจากผู้ก่อการที่รักความเป็นธรรมท่านอื่นๆ เช่น คุณกมล สุสำเภา คุณเอกชัย หาญกมล และมีการเปิดตัวสหภาพแรงงานฯ โดยการเปิดปราศรัยครั้งใหญ่ ซึ่งอารมณ์เป็นกำลังหลักที่ชี้แจงอธิบายตัวตนขององค์กรให้เพื่อนพนักงานทราบ