วันที่ 26 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับโซลิดาริตี้ เซ็นเตอร์ประเทศไทย จัดการเสวนา “ลอกคราบค่าจ้างขั้นต่ำปี2560 ตามหาความยุติธรรม เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น” ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8 จังหวัด ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่สร้างความเป็นธรรมแก่คนงานในประเทศไทย”
มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี2560 โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในวันที่ 1 มกราคม2560 ซึ่งปรบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน 5-10 บาท ทั่วประเทศ และไม่ปรับขึ้นใน 8 จังหวัด คือ กลุ่มที่ 1 ค่าจ้างคงไว้ที่ 300 บาทใน 8 จังหวัด คือ สิงค์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
กลุ่มที่ 2 มติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน ประกอบด้วย 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทรบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำพู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย
กลุ่มที่ 3 ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา
กลุ่มที่ 4 มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 10 บาท เป็น 310 บาท จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต
โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับใหม่นี้มีผลบังคับใช้กับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นายจ้างที่ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล นายจ้างที่ตกลงจ้างรับงานไปทำที่บ้าน นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทำงานตลอดปี หรือมิได้ให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานเกษตรกรรมดังกล่าว
จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามแนวทางดังกล่าว คสรท.เห็นว่า กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบกลุ่มจังหวัดทั้ง 4 กลุ่มนี้ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่สร้างความเป็นธรรมแก่คนงานในประเทศไทยแต่อย่างใดด้วยเหตุผลดังนี้
- ฐานคิดในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของคนทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานหลักการเดียวกัน แม้จะมีกลไกเดียวกันในการพิจารณา คือการเป็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับภาคราชการ และภาครัฐวิสาหกิจ ที่ใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศ
- มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด ไม่ได้นำข้อมูลที่แท้จริงเรื่องดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดมาพิจารณา พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดในกลุ่มจังหวัด 8 จังหวัดบางจังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่ากลุ่มที่มีการปรับอัตราค่าจ้าง
- มติเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ไม่เคารพมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ที่ภาพรวมการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้พิจารณาอยู่ที่ 4-60 บาท แต่ผลประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลุ่มมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
- มติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้มีการนำปัจจัยเรื่องมาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ และสภาพเศรษฐกิจและสังคมมาพิจารณาอย่างแม้จริง ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่อยู่ติดกัน เช่นอ่างทอง (ปรับ 5 บาท) พระนครศรีอยุธยา (ปรับ 8 บาท) กับสิงห์บุรี (ไม่ปรับ) หรือสมุทรปราการปรับขึ้น 10 บาท แต่ฉะเชิงเทรา ปรับ 8 บาท แม้จะคนละจังหวัดแต่ก็อยู่ในเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจแบบเดียวกันแล้วค่าครองชีพของแรงงานก็ย่อมไม่ต่างกัน เมื่อค่าจ้างไม่เท่ากันย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมความเหลื่อมล้ำอย่างมาก
- ในทางเศรษฐศาสตร์ ค่าจ้างจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และค่าจ้างขั้นต่ำนั้นก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการไปตั้งโรงงานในจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำอาจไม่ได้ทำให้ได้กำไรสูงเสมอไป เพราะอาจมีต้นทุนการผลิตอื่นๆที่สูงกว่ามาก ทำให้ค่าแรงซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของต้นทุนการผลิตไม่สามารถเป็นแรงจูงใจในการกระจายอุตสาหกรรมออกสู่ต่างจังหวัดได้
- การกล่าวอ้างเรื่องการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศใกล้เคียงที่ยังมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาก คสรท.ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ประสิทธิภาพแรงงานของประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เท่ากับประสิทธิภาพและฝีมือแรงงานไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะประเทศที่มีค่าจ้างต่ำถูก ประสิทธิภาพด้านฝีมือการผลิตสินค้าสู้ประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไม่ได้ รวมถึงความไม่พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ความเสี่ยง ที่ดินในการตั้งโรงงาน และการขนส่งสินค้า ยิ่งเป็นไปได้ยากที่นายทุนในประเทศไทยจะย้ายฐานการผลิต
จากเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คสรท.จึงยืนยันเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ว่า จะต้องนำมาสู่การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญของประเทศไทยให้บรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป โดย 1. ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ 2. ให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ 3. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน
ด้านเวทีเสวนา “ลอกคราบค่าจ้างขั้นต่ำปี2560 ตามหาความยุติธรรม เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น” นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เพียงเกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวยังมีภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และส่วนของแรงงานก็มีแรงงานในระบบราว 13 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน จากกำลังแรงงานราว 38 ล้านคน ในความหมายของคนที่มีงานทำเพียงทำงานชั่วโมงเดียวก็ถือว่า เป็นคนที่มีงานทำ และรายได้ต่อคนต่อหัวเพียง 1.9 แสนบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งแรงงานนอกระบบยังคงมีรายได้ที่ต่ำยังไม่เทียบเท่ากับแรงงานในระบบ กระทรวงแรงงานจึงให้ความสำคัญว่าจะลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างไร โดยมีการกำหนดมาตรฐานในการดูแล ถามว่า ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จึงเป็น 4 อัตรา และเป็นการปรับตามคณะกรรมการค่าจ้างนั้นจริงแล้วก็อย่างทราบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างมีการดูข้อมูล 10 ขั้นตอนประกอบด้วย ทั้งเศรษฐกิจสังคม ดัชนีผู้บริโภค ราคาสินค้าค่าครองชีพ นำมาประมวลโดยภาพรวม และยังมีการดูข้อมูลการปรับขึ้นค่าจ้างในประเทศต่างๆตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)มีข้อมูลหนึ่งในนั้นก็คือประเทศฝรั่งเศสที่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างด้วย ซึ่งการที่ปรับค่าจ้างเป็น 4 อัตราครั้งนี้ มีการทำข้อมูลถึงพื้นที่ในการเสนอปรับหรือไม่ปรับค่าจ้างตามที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา เช่น มีการดูเชิงพื้นที่อย่าง บางจังหวัดใช้การขับเคลื่อนทางเกษตรกรรมมากกว่าอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดเชียงใหม่เขาประเมินว่า เป็นจังหวัดท่องเที่ยว สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่ใช้ภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดของภาคบริการ ซึ่งมีค่าครองชีพที่สูงเนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นต้น การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นไปตามอำนาจต่อรองของพื้นที่อีกด้วย เห็นด้วยว่าต้องมีการส่งเสริมอำนาจการต่อรองโดยทางกระทรวงแรงงานมองว่าปี 2560 อาจมีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 เพื่อสร้างการเจรจาต่อรองให้กับแรงงาน ประเด็นต่อมาเรื่องความช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงมกราคม – ตุลาคมที่ผ่านมาในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อในระบบเกิดการจับจ่ายมากขึ้น และผลจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 0.2-0.4 จะส่งผลกระทบกับการย้ายงาน หรือย้ายฐาน มีการดูเรื่องนี้ด้วยและมีการจับตาเรื่องการเลิกจ้างแรงงานด้วยว่า จะมีเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไหน และจากการวิเคราะห์กระทบเพียงร้อยละ 0.0 เท่านั้น
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า เดือนเมษายน 2560 ที่จะถึงนี้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำครบรอบ 44 ปี ซึ่งในมุมมองของตนนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีปัจจัยของอำนาจการต่อรองที่หมายถึง การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง ทั้งเป็นเรื่องการเมืองด้วย เมื่อช่วงที่เริ่มมีประชาธิปไตย การนิยามค่าจ้างขั้นต่ำนั้นหมายถึงค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน แต่ปัจจุบันนิยามการปรับขึ้นค่าเปลี่ยนไป เป็นเลี้ยงดูแค่คนที่ทำงานเท่านั้น และยังมีการเสนอปรับค่าจ้างโดย คณะกรรมการค่าจ้าง ต่อมาก็เสนอปรับโครงสร้างปรับค่าจ้าง ให้มีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเกิดขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวอย่าง 300 บาท ก็มาจากการเมืองกำหนดหลังจากที่พรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งหลังจากที่มีการเสนอนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่าง หลักประกันสุขภาพ และครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และประชาธิปปัตย์เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท เป็นการปรับค่าจ้างจากการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปรับค่าจ้างแบบไม่ต้องหาเสียง เห็นได้จากการให้ความสนใจต่อข้าราชการในการปรับค่าจ้าง และสวัสดิการ เพราะข้าราชการคือฐานเสียงที่สร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน การปรับค่าจ้างจึงขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมือง เมื่อไม่มีปรับมาไม่เท่ากันและมี 8 จังหวัดที่ไม่ปรับขึ้น ตามที่กระทรวงแรงงานอ้างว่า อนุกรรมการไม่เสนอปรับ แต่หากดูข้อมูลจะพบว่า มีหนึ่งจังหวัดที่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างแต่ว่ากระทรวงแรงงานไม่ปรับขึ้น เป็นต้น
กรุงเทพฯและปริมณฑล ถือเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างที่สูง แต่ก็มีจังหวัดภูเก็ตที่เคยมีค่าจ้างที่สูงกว่ามาแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่า ใช้วิธีการต่อรองอย่างไรในการเสนอของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจนได้รับการปรับค่าจ้างที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ความแตกต่างของค่าจ้างหลังมีอนุกรรมการค่าจ้างเคยมีถึง 32 อัตราก่อนที่จะปรับเป็น 300 บาทเท่ากันและถูกแช่แข็งนานที่สุดถึง 48 เดือน รวม 4 ปี หากนับรวมการปรับกรุงเทพฯปริมณฑล คือไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้ว 57 เดือน เพราะว่ามีอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้น และช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 36 เดือน ต่อมาก็ช่วงวิกฤตทางการเมืองปี 2519 ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเท่ากันเมื่อการเมืองเป็นประชาธิปไตยทั้งปี 2518 และปี 2554 เป็นต้น
นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยไม่เห็นความแตกต่างของราคาสินค้า หรือค่าครองชีพ หากดูจากราคาสินค้า หรือน้ำมันในต่างจังหวัดยังมีราคาที่สูงกว่าอีกด้วย และสินค้าห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อมีราคาเท่ากัน ที่ห่างไกลราคาสูงกว่า แล้วมองอย่างไรจึงไม่ปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ที่รัฐบอกว่า ต้องการฟื้นทางเศรษฐกิจหากรายได้ไม่เพียงพอจะมีกำลังซื้อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างไร แนวคิดในการพัฒนาสังคมการที่จะทำให้แรงงานนอกระบบมีความเท่าเทียมกับแรงงานในระบบเรื่องคุณภาพชีวิต และค่าจ้างเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ฉุดให้แรงงานในระบบลงมามีมาตรฐานเท่ากับแรงงานนอกระบบ แต่ต้องส่งเสริมให้มาตรฐานสูงเท่ากัน มีระบบประกันสังคมเป็นฐานในการพัฒนาเบื้องต้นเป็นสวัสดิการเดียว
แนวคิดที่รัฐประกาศเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น อยากให้มองความเป็นจริงด้วยว่า แรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานจะมีการประเมินฝีมืออย่างไร คนทำงานมากกว่า 1 ปี เป็นแรงงานฝีมือหรือไม่ หากเป็นแรงงานฝีมือทำไมยังได้เพียงค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานควรต้องเข้าไปดูแลให้เกิดความเป็นธรรมมีการปรับขึ้นค่าจ้างที่เป็นจริง นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่อำนวยความสะดวกในการลดภาษี พร้อมสิทธิต่างๆ การจ้างงานต้องดูว่ามีการจ้างแรงงานไทย หรือว่าแรงงานข้ามชาติมีการละเมิดสิทธิ กดขี่แรงงานมากขึ้นหรือไม่ มีการละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่กับการสนับสนุนส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการใช้แรงงานข้ามชาติ มีการไล่ที่ทำมาหากินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เกิดความขัดแย้งอีกด้วย
ศาสตราภิชานรศ.ดร.แล ดิลกวิทยารัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบกับผลประโยชน์การลงทุน ใครที่อ้างถึงการปรับขึ้นค่าจ้างกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น หากมาดูว่าคนที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีเพียงร้อยละ 1 หรือจำนวนคนเพียง 6.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคนเท่านั้น ค่าจ้างที่ดีที่สุดคือค่าจ้างที่เพียงพอและทำให้แรงงานอยู่ได้อย่างไม่เป็นหนี้สิน ค่าจ้างที่พอกินทำให้คนเป็นคนทำให้เกิดความเป็นมนุษย์และทำให้ทุกคนเสมอกัน จะปรับขึ้นค่าจ้างต้องดูด้วยว่าลูกจ้างขาดทุนไปเท่าไรเมื่อปีที่ผ่านมา และต้องมีการปรับขึ้นเพื่อชดเชยการขาดทุนด้วย
เกณฑ์การปรับขึ้นค่าจ้างมีมากเกินไป การจะปรับค่าจ้างจะใช้เกณฑ์ไหน ซึ่งยังมีเกณฑ์ที่ว่า ดูกำลังจ่ายของนายจ้างด้วย แม้ว่า ลูกจ้างจะเดือดร้อนมากแค่ไหนหากนายจ้างบอกว่า ไม่มีกำลังจ่ายก็คือไม่ปรับขึ้นค่าจ้างใช่หรือไม่ ดูเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้าหากนายจ้างไม่มีกำลังจ่ายจะปรับหรือ ปัญหาวันนี้ที่ดูเรื่อง GPI การจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ลดลงนั้น ผลตอนนี้คือราคาน้ำมันที่ลดลงจึงทำให้ค่าครองชีพลดลง แต่ความจริง คือการกินการอยู่ของแรงงานว่าค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหรือไม่ เช่นเมื่อไม่นานมานี้กล้วยที่คนกินกันจากเดิมราคา 20-40 บาทต่อหวีปรับราคาขึ้น 70-100 บาท ถามว่า สินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเรื่องปากท้องได้มีการนำมาเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องไม่ลืมว่า ผู้ใช้แรงงานทำงานในโรงงานไม่มีเวลาที่ต้องไปหาผักหาปลามากินเหมือนชาวบ้านในชุมชน ต้องทำงานได้ค่าจ้าง ซึ่งเมื่อค่าจ้างไม่เพียงพอต้องทำงานล่วงเวลา หรือOT และต้องส่งให้ครอบครัว ค่าจ้างแรงงานไม่ใช่เพียงปากท้องเดียว และค่าจ้างไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการเมืองอย่างเดียว ต้องส่งเสริมให้แรงงานมีการรวมตัวกันด้วย หากไม่รวมตัวจะมีอำนาจเจรจาต่อรองอย่างไร หากกระทรวงแรงงานจะให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 98 ต้องมีการให้สัตยาบันILO ฉบับที่ 87 ด้วยเพื่อการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำให้คนเป็นคน และจะเป็นคนสมศักดิ์ศรีต้องไม่มีหนี้สิน การปรับค่าจ้างต้องดูไม่ให้แรงงานขาดทุน
ทั้งนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของอนุกรรมการใน 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดสระบุรี ปทุมธานี นครปฐม ตัวแทนสหภาพแรงงานจังหวัดระยอง และผู้เข้าร่วม สรุปได้ว่า
- การที่รัฐอ้างถึงการนำข้อเสนอและข้อมูลในแต่ละจังหวัดมาพิจารณาในการปรับค่าจ้างนั้นในหลายจังหวัดมีข้อเสนอปรับค่าจ้างสูงกว่าที่มีการประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งองค์ประกอบอนุกรรมการค่าจ้างมีทั้งส่วนของตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกที่เป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งในส่วนของจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานตัวแทนลูกจ้างที่เข้ามาเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงนั้นมีน้อย และไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเนื่องจากบางพื้นที่มาจากบริษัทเดียวกันทั้งตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง ข้อเสนอจึงอาจมีความไม่ชัดเจนว่าใช้เป็นข้อมูลได้หรือไม่เพราะช่วงแรกที่ประกาศจากคณะกรรมการค่าจ้างจะเห็นข้อมูลที่ไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างจำนวนมาก
- การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้เป็นการใช้กับแรงงานแรกเข้าทำงานจริง รัฐต้องดูให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากบริษัท หรือโรงงานจำนวนมากใช้ฐานค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี และใช้เป็นค่าจ้างให้กับลูกจ้าง คือทำมาหลายสิบปีได้แค่ค่าจ้างขั้นต่ำ และการที่รัฐบาลมีการประกาศเรื่องค่าจ้างฝีมือแรงงานก็ไม่สามารถใช้ได้จริงเนื่องจาก บางประเภทกิจการถูกมองว่าเป็นประเภทที่ใช้แรงงานไม่มีฝีมือ ซึ่งตรงนี้หากถามว่า คนทำงานเย็บผ้า 1 ปีกับคนที่เข้างานวันแรกฝีมือการทำงานต่างกันหรือไม่ และตรงนี้นายจ้างคงไม่ประเมินแน่ว่าใครควรปรับขึ้นตามฝีมือแรงงานที่ประกาศอยู่ในปัจจุบัน
- ค่าครองชีพที่อ้างต้องใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมิน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ใช้ชีวิตไม่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นแรงงานในจังหวัดไหนการใช้จ่ายจึงไม่ต่างกัน ราคาสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โชว์ฮ่วย ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ดูได้ว่าราคาไม่ต่างกันทุกจังหวัด การปรับขึ้นค่าจ้างจขึงควรต้องเท่ากันทั้งประเทศ การที่มีหลักเกณฑ์มากเกินไป และสิ่งที่รัฐนำมาพิจารณาน่าจะเป็นเรื่องที่นายจ้างอ้างไม่มีกำลังจ่ายมากกว่า
- ทางตัวแทนอนุกรรมการค่าจ้างขังหวัดมองว่า คณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้นำข้อเสนอของอนุกรรมการจังหวัดมาพิจารณาอย่างแท้จริง ฉะนั้นคิดว่าควรมีการยกเลิกระบบอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากเสียงบประมาณ และเสียเวลาในการประชุม
ต่อมาในช่วงบ่ายได้มีการระดมความคิดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเสนอให้รัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยสรุปว่าจะเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งจะใช้การรณรงค์จากทุกเครือข่าย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ในส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ โยใช้การสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดีย จะมีการติดตาม และนำกฎหมายต่างๆมาพิจารณาดูว่า มีกฎหมายใดเกี่ยวข้องและชี้ขาดกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างที่สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างความไม่เท่าเทียมกันได้บ้าง และจะเสนอให้มีการปรับค่าจ้างโดยใช้ระบบโครงสร้างค่าจ้าง รวมทั้งจะเสนอให้ปรับค่าจ้างในอีก 8 จังหวัดที่ยังใช้ฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดิม 300 บาทในปี 2560 ด้วย
รายงานโดย วาสนา ลำดี