(1) เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอดังนี้
1) ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
2) ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
3) ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
ทั้งนี้ ให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ มีดังนี้
- ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร เป็นการยกเลิกประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
- ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
2.1 กำหนดนิยามคำว่า “การรักษาพยาบาล” “ค่ารักษาพยาบาล” “คู่สมรส” “บุตร” “สถานพยาบาล” “สถานพยาบาลของทางราชการ” “สถานพยาบาลของเอกชน” “แพทย์” “ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ” ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน” และ “ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง”
- กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายและการเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานให้แก่ลูกจ้าง คู่สมรสหรือบุตรของลูกจ้าง รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง
- กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับลูกจ้าง คู่สมรสหรือบุตร กรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
2.4 กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าทำศพ และลำดับของผู้มีสิทธิ์ได้รับค่าทำศพ
- ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
3.1 กำหนดนิยามคำว่า “บุตร” “ค่าช่วยเหลือบุตร” “ค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร” “เงินบำรุงการศึกษา” “เงินค่าเล่าเรียน” “ปีการศึกษา” “สถานศึกษาของทางราชการ” และ “สถานศึกษาของเอกชน”
- กำหนดอัตราค่าช่วยเหลือบุตรของลูกจ้าง หลักเกณฑ์การใช้สิทธิ์เบิกค่าช่วยเหลือบุตรและจำนวนบุตรที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือบุตร
- กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท และอัตราการจ่ายค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตรให้แก่ลูกจ้าง จำนวนบุตรที่มีสิทธิ์ได้รับค่าช่วยเหลือการศึกษา อายุขั้นต่ำ และขั้นสูงของบุตรที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือการศึกษา
(2) เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2557 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หลักในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและมาตรการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตามการเสนอความเห็นของ คนร. เกี่ยวกับโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนปกติตามพันธกิจขององค์กรที่มีวงเงินลงทุนสูง ประกอบกับการพิจารณาโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีกระบวนการและหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กค. เป็นต้น นอกจากนี้ การประชุม คนร. จะมีความถี่น้อยกว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้มีโครงการลงทุนต้องรอการพิจารณาเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดความล่าช้าและไม่ทันการณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและทันเวลา รวมทั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และลดเรื่องที่มีลักษณะเป็นการบริหารงานประจำของรัฐวิสาหกิจที่ต้องเสนอ คนร. เพื่อพิจารณา ซึ่งในคราวประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบขอบเขตการเสนอความเห็นของ คนร. เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะในเรื่อง/แผนต่าง ๆ ที่มีผลต่อนโยบายหรือทิศทางของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม/รายสาขา และให้การพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ คนร. โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ คนร. ดำเนินการแก้ไขระเบียบฯ โดยยกเลิกข้อ 10 (5) และข้อ 11
- กค. จึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกอำนาจหน้าที่ของ คนร. ตามมติ คนร. ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 อันจะทำให้การบริหารจัดการและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเกิดความคล่องตัว ไม่ล่าช้าและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ยกเลิกความในข้อ 10 (5) และข้อ 11 ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คนร.
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับปัจจุบัน | ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี |
ข้อ 10 (5) ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในโครงการที่เกี่ยวกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ | ยกเลิก |
ข้อ 11 ในการพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นตามข้อ 10 (5) ต่อคณะรัฐมนตรี หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูง และส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างของรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้น นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็น ทั้งนี้ การพิจารณาโครงการดังกล่าวต้องมีความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบการพิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ของโครงการขนาดใหญ่ตามวรรคหนึ่ง และประกาศนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ |
ยกเลิก |
(3) เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. …. ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ
- กำหนดให้ในแต่ละเขตสุภาพเพื่อประชาชน ให้มีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “กขป.” เพื่อรับผิดชอบในการดูแลประสานงาน และสนับสนุนให้มีการบูรณาการเกี่ยวกับระบบสุขภาพในพื้นที่
- กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 1 ถึงเขตพื้นที่ 12 และองค์ประกอบของ กขป. เขตพื้นที่ 13 ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะประกอบด้วยกรรมการผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ และกรรมการภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้ง โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของ กขป. เขตพื้นที่ 1 ถึงเขตพื้นที่ 12 และให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของ กขป. เขตพื้นที่ 13 โดยให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วมในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กขป.
- กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการสรรหา คัดเลือก หรือดำเนินการใด เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการใน กขป. ตามระเบียบนี้ โดยกำหนดแนวทางเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการในแต่ละประเภท
- กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กขป. ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ และกรรมการภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
- กำหนดให้ กขป. มีอำนาจหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาเกี่ยวกับระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ดำเนินการหรือประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ตลอดจนเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ทั้งนี้ การรับเงิน การจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด
- กำหนดให้ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นของ กขป. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กขป. ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด
- กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กำหนดแนวทางและวิธีการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน โดยจัดให้มีการติดตามและประเมินผลอย่างน้อยทุกสองปี และรายงานผลการประเมินต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะให้ทราบโดยทั่วกัน
(4) เรื่อง การปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดเป็นขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ดังนี้
อัตราค่าจ้างลูกจ้าง (บาท) | อัตราการปรับเพิ่ม | เงื่อนไข | |
1 – 43,890
|
แบบช่วง | แบบขั้น | – ลูกจ้างที่เคยได้รับอัตราค่าจ้างน้อยกว่าหลังจากปรับค่าจ้างดังกล่าวแล้วจะยังคงได้รับอัตราค่าจ้างไม่สูงกว่าลูกจ้างที่มีค่าจ้างสูงกว่า และไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นสูงของแต่ละระดับตำแหน่ง
– ให้ใช้งบประมาณของแต่ละรัฐวิสาหกิจเอง |
ไม่เกินร้อยละ 2 | ไม่เกิน 0.5 ชั้น | ||
หมายเหตุ ให้มีผลไม่ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2557 |