ปรับกระบวนยุทธ์ จากขบวนการแรงงาน สู่…ขบวนการทางสังคม

20160928_104239

ปรับกระบวนยุทธ์

จากขบวนการแรงงาน สู่…ขบวนการทางสังคม

โดย ไพบูลย์ แก้วเพทาย

  1. ศักยภาพของแรงงานไทยจากอดีต..สู่ปัจจุบัน

นับจากการเคลื่อนไหวของคนงานลูกจ้างภายหลังยุค“สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง”(Bowring Treaty)จนถึงการปฏิวัติปีพ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย    คนงานลูกจ้างเริ่มตระหนักถึงสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ พร้อมกับการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรของคนงานลูกจ้าง  สุดท้ายขบวนการแรงงานไทยต้องหยุดชะงักลง และอยู่ภายใต้เผด็จการทหารเป็นเวลาถึง 15 ปี หลังการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องด้วยยุคเผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน ได้ลุกขึ้นต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหาร  ขบวนการแรงงานไทยได้รุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ด้วยการลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิการจัดตั้งองค์กรแรงงานพร้อมกับการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานอย่างกว้างขวางนับพันครั้ง เพื่อเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์อันชอบธรรม

ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน   เกิดแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายแรงงานยุคใหม่ขึ้น  สหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรแรงงานของลูกจ้างได้ก่อเกิดขึ้นจำนวนมาก เริ่มจากสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ พร้อมกับรวม ตัวกันเป็นสหพันธ์แรงงานและสภาองค์การลูกจ้างในเวลาต่อมา

นับเป็นเวลากว่า 40 ปี  วันนี้ โครงสร้างองค์กรแรงงานยังคงเหมือนเดิม  มีสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ(Enterprise Union หรือ House Union)จำนวนนับพันแห่งทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ แทนที่จะมีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานในระดับอุตสาหกรรม หรือ สหพันธ์แรงงานในระดับอุตสาหกรรมและระดับชาติอย่างเป็นเอกภาพ แต่กลับแตกตัวกระจายออกเป็นเสี่ยงๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

บทบาทของขบวนการแรงงาน จึงจมปลักอยู่ในวังวนแห่งความยิ่งใหญ่ระดับสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ มากกว่าการสร้างขบวนการที่เข้มแข็ง…รวมพลังเป็นปึกแผ่นแบบหนึ่งเดียว

แทนที่จะรวมตัวกันเรียกร้อง เพื่อสิทธิผลประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมทั้งการต่อสู้เรียกร้องต่อรัฐบาลในระดับชาติ   แต่กลับเป็นการต่างคนต่างยื่นข้อเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสวัสดิการแบบตัวใครตัวมัน  ยิ่งเมื่อต้องประสพกับกลยุทธ์อันแยบยลของนายจ้าง ทั้งการยื่นข้อเรียกร้องสวนและการเลิกจ้างผู้นำ  รวมถึงการมุ่งทำลายสหภาพแรงงานให้อ่อนแอ  ขบวนการแรงงานไทยก็แทบล้มหายตายไปจากกระแสของสังคม  เศรษฐกิจและการเมือง

ขบวนการแรงงานแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยในการรวมศูนย์พลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อตอบโต้กับนายจ้างอย่างเป็นกระบวนการ แต่กลับเป็นต่างคนต่างสู้แบบตัวใครตัวมัน จึงเกิดเป็นสถานการณ์ “สู้ได้ ก็อยู่ต่อแบบไร้พลัง  สู้ไม่ได้ ก็ล้มหายตายจากไป”  ดังที่เห็นกันอยู่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ด้วยเหตุที่มองเห็น สหภาพแรงงาน คือ ขบวนการแรงงาน และเข้าใจว่า มันคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นการรวมตัวเป็นสหพันธ์หรือสภาองค์การลูกจ้าง จึงเหมือนเป็นการสร้างอาณาจักรที่เป็นส่วนตัวของผู้นำ โดยมุ่งสร้างเครือข่ายแรงงาน เพื่อการยอมรับและใช้อำนาจแบบ “มาเฟียแรงงาน”

รวมถึงการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อบารมีส่วนตัว รวมถึงเกียรติยศส่วนบุคคลในการพยายามเข้าหาอำนาจรัฐด้วยวิธีพิเศษ  การแสวงหาเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ และการไปประชุมต่างประเทศ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ได้ทำให้ดูมีระดับและได้กลายเป็นความต้องการเพียงเพื่อเกียรติภูมิส่วนตัวและวงศ์ตระกูล มากกว่าความมุ่งมั่นในการนำมาซึ่ง “การพัฒนาขบวนการแรงงานไทยให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น”

ผู้นำแรงงานบางคนเป็นที่ปรึกษานายจ้าง มักใช้ขบวนการแรงงานเป็นเครื่องมือแสวงหาผล ประโยชน์ส่วนตัวและเหยียบย่ำบนหัวของลูกจ้างเพื่อไต่เต้าสู่ตำแหน่งภาครัฐและตำแหน่งทางการเมือง

ในที่สุดขบวนการแรงงานไทยก็ถูกโดดเดี่ยวจากสังคม ถูกเหยียดหยาม ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีทั้งแรงงานในระดับเดียวกันและแรงงานในระดับที่สูงกว่า รวมถึงแรงงานต่างอาชีพ

ขบวนการแรงงานไทยนั้น น่าจะเป็นกลุ่มพลังที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบและมีรูปแบบองค์กรที่ดี   แต่ที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นขบวนการที่ไร้พลังในกลุ่มผลประโยชน์เดียวกันเท่านั้น หากยังไม่สามารถเป็นที่คาดหวังของกลุ่มพลังต่างๆในสังคม รวมถึงภาคประชาสังคมอื่นๆ ในการสานพลังการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

  1. เหตุผลและปัจจัยที่ทำให้ขบวนการแรงงานไม่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น(Solidarity)

จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับกันว่า นอกจากโครงสร้างขบวนการแรงงานที่ไร้พลังแล้ว ตัวผู้นำแรงงานและระบบคิดที่ไม่พัฒนาก้าวหน้า ทำให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอและขาดศักยภาพ  โดยมีสาเหตุ ดังต่อไปนี้

2.1 ลักษณะการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย เป็นรูปแบบสหภาพแรงงานในสถานประ กอบการ( Enterprise Union หรือ House Union )ซึ่งเป็นทั้งโดยกฎหมายและความเป็นจริง    ที่ผ่านมา กว่าสี่สิบปีของแรงงานสัมพันธ์ไทย ขบวนการแรงงานยังไม่เคยก้าวข้ามรูปแบบสหภาพแรงงานในลักษณะนี้ ยังคงย่ำอยู่กับที่ แม้จะมีความพยายามในการรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงาน และสภาองค์การลูกจ้างระดับชาติก็ตาม  แต่กล่าวได้ว่า การจัดตั้งดังกล่าวยังไร้ศักยภาพ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  (1) การรวมกลุ่มดังกล่าว  การจัดโครงสร้างไม่เป็นไปตามลำดับขั้นของการจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสหภาพแรงงานแห่งหนึ่ง สามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ทั้งระดับสหพันธ์แรงงานและสภาองค์การลูกจ้าง  แทนที่จะเป็นการรวมกลุ่มเป็นสหพันธ์แรงงาน และ ให้สหพันธ์แรงงานรวมกลุ่มกันเป็นสภาองค์การลูกจ้างตามลำดับ  ดังนั้น สภาองค์การลูกจ้างจึงเกิดขึ้นจำนวนมากมายและมีสหภาพแรงงานเป็นสมาชิก ซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างกระจัดกระจายไม่เป็นปึกแผ่นเดียวกันและดูเหมือนมิได้เป็นขบวนการแรงงานเดียวกัน

  (2) การรวมกลุ่มดังกล่าว  ยังไม่สามารถก้าวข้ามการต่อสู้เรียกร้องแบบตัวใครตัวมัน   สหภาพแรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่นับพันๆแห่ง ยังคงรูปแบบต่างคนต่างเรียกร้องในสหภาพแรงงานของตนเอง   แทนที่จะร่วมกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมเดียวกัน  ทุกวันนี้ จึงมีสภาพแบบใครยืนหยัดอยู่ได้ ก็อยู่แบบไร้พลังไร้อนาคต ใครล้มลงไป ก็เป็นไปตามยถากรรมที่ไร้การเหลียวแล  การเข้าร่วมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็ไม่สามารถสร้างหลักประกันต่อกันได้  นอกจากการช่วยเหลือในด้านการสงเคราะห์ มิใช่การช่วย เหลือกันอย่างเป็นระบบและยั่งยืน  ไม่มีการลุกขึ้นสู้ ด้วยการนัดหยุดงานทั้งอุตสาหกรรมที่มีเอกภาพพร้อมเพรียงกัน ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดของขบวนการแรงงานในระบอบประชาธิปไตย

2.2 ขบวนการแรงงานไทยยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของลักษณะสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ด้อยพัฒนาล้าหลัง ซึ่งถือเป็น “รากที่ไร้อารยะ”  ผู้คนในสังคมรวมถึงผู้นำแรงงานและผู้ใช้แรงงานไทยยังคงดำรงอยู่ โดยไม่สามารถก้าวข้ามพรมแดนแห่งความล้าหลังสู่ความคิดที่ก้าวหน้า พร้อมกับพัฒนาศักยภาพและความเชื่อมั่นในสมรรถนะของตนเอง ด้วยวิธีคิดในยุคสมัยของโลกอารยะที่ก้าวหน้าทั้งหลาย  โดยมีสาเหตุดังนี้

  (1) แรงงานและสังคมไทย ยังขาด“วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์”(Scientific Thinking ) ที่ใช้ความรู้และทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิต และ สามารถพิสูจน์ได้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นฐานคิด  ซึ่งจะทำให้มีวิธีคิดที่เป็นระบบ ไม่หลงงมงายหรือเชื่อในสิ่งที่ไร้สาระทั้งในเชิงตรรกะและข้อเท็จจริง วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ จะทำให้เกิดความมั่นใจและไม่ถูกครอบงำได้ง่ายๆ  ถึงแม้ว่าโลกเรานี้อาจมีหลายสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในปัจจุบัน เมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็อาจมีอยู่หรือไม่มีอยู่ก็ได้ จึงไม่ควรปักใจเชื่ออย่างหัวปักหัวปำจนหลงงมงาย และถูกหลอกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายๆ  ชาวตะวันตกเชื่อในพระเจ้าและโลกหน้า  แต่ก็มีวิถีชีวิตในโลกปัจจุบัน ที่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์และตนเอง จึงพยายามพัฒนาความคิด  มุ่งสร้างชีวิตและพัฒนาโลก…สู่ความเป็นอารยะที่ก้าวหน้า

(2) แรงงานและสังคมไทย  ยังขาด“วิธีคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์”(Critical Thinking) คนไทยยังไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงตรรกะและเหตุผล  ไม่มีวิธีคิดเชิงวิเคราะห์  ไม่กล้าที่จะแสดงข้อคิดเห็นและถกเถียงโตแย้งเพื่อค้นหาข้อสรุปที่ดีที่สุดและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์  แต่กลับถูกครอบงำให้เชื่อแบบหลงงมงาย  คิดและวิเคราะห์ไม่เป็น  หลงเชื่อและทำตามๆกันไป โดยไม่คิดวิเคราะห์หรือถกเถียงโต้แย้งหาเหตุผลเชิงตรรกะใน “สิ่งที่ผ่านมาและสิ่งที่เป็นอยู่”

  จากเหตุปัจจัยทั้งสองประการดังกล่าว ทำให้คนไทยต่ำตมจมปลักหลงอยู่ในวังวนแห่งความล้าหลัง ทั้งวิธีคิดและวิถีดำเนินชีวิต ถูกครอบงำอยู่ในกะลาขนาดใหญ่   ทั้งๆที่โลกแห่งอารยะสมัยใหม่นั้น วิธีคิดของชาวตะวันตกมีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และความคิดเชิงตรรกะ  ผ่านการถกเถียงโต้แย้งมาตั้งแต่ยุคสมัย “กรีก”กว่า 2,000 ปี ได้ก้าวข้ามความเป็นทาสทางความคิด สู่..จริยศาสตร์สมัยใหม่  มีจุดยืนอยู่ที่การปลดปล่อยมนุษย์  ให้พ้นจากการถูกครอบงำทางความคิดและอิทธิพลของยุคกลาง  ซึ่งเป็นยุคที่อำนาจแห่งศาสนจักร ได้ปลูกฝังระบบคิดทางศีลธรรมแบบ  “ศรัทธา ภักดี เชื่อฟังและทำตาม”

ฟริดริช นิทเช่ กล่าวไว้ว่า นั่นเป็น “ศีลธรรมแบบทาส” (หรือความคิดแบบทาส) ซึ่งผู้คนในยุคนั้น  ถูกปลูกฝังให้ “ศรัทธา ภักดี เชื่อฟังและทำตาม” จนกลายเป็นคนที่อ่อนแอ    แม้จะเป็นคนดี ก็เป็นคนดีแบบ “ทาส”   ที่ไม่มีอำนาจกำหนดถูกผิดด้วยตนเอง และไม่อาจเป็นนายของตนเองในการเลือกใช้ชีวิตหรือสร้างชีวิตให้บรรลุสมรรถนะและศักยภาพของตนเองได้  แม้กระทั่งพูดความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ ยังถูกจับกุมคุมขัง ทรมานและเข่นฆ่า(ประหารชีวิต)  มันจึงไม่ต่างจากแรงงานและสังคมไทยในปัจจุบันเท่าไรนัก

2.3 ระบบอุปถัมภ์ในขบวนการแรงงานไทย   ซึ่งมาจากอิทธิพลความล้าหลังทางจิตสำนึกและวิธีคิดของสังคมไทยและกลายเป็นสังคมอุปถัมภ์ที่กระจายไปทั่ว  ผู้คนอ่อนแอในการใช้ชีวิตและอ่อนด้อยในการพัฒนาจิตวิญญาณ จึงพยายามดิ้นรนตะเกียกตะกาย หาที่พึ่ง เกาะเกี่ยวผู้มีอำนาจ วิ่งหาหมอดูและหลง เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งไสยศาสตร์มนต์ดำ จึงกลายเป็นช่องว่างให้เกิด “ระบบอิทธิพลมาเฟีย” ในทุกระดับชั้นของสังคม ตั้งแต่เล็กสุดถึงใหญ่สุด ทั้งในระดับครอบครัว  โรงเรียน  ชุมชน จนถึงระดับชาติ    นี่คือ ความอ่อนแอทางจิตวิญญาณของคนไทย ที่ขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาใน “คุณค่าความเป็นมนุษย์”

ขบวนการแรงงานไทยก็ไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ ที่ผู้นำบางคนพยายามสร้างอิทธิพลมาเฟียตั้งตัวเป็นใหญ่  ด้วยการจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้นเป็นอาณาจักรส่วนตัว และมีผู้นำในเครือข่ายที่ยอมตนเป็นบริวารภายใต้ระบบ “ขุนนางแรงงาน” หรือ “มาเฟียแรงงาน”  ดังนั้น ขบวนการแรงงานไทยจึงย่ำอยู่กับที่และก้าวไม่พ้นความคิดที่ล้าหลังและไร้อารยะความก้าวหน้า..เหมือนโลกที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย

2.4 วิถีคิดแบบพึ่งพาตัวบุคคลมากกว่าการสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง  ซึ่งมีผลมาจากระบบอุปถัมภ์  แม้ผู้นำบางคนจะพยายามทำตัวให้ทันสมัยและก้าวหน้า เพื่อให้ดูดีเป็นสากล มักกล่าวถึงสิทธิแห่งความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันใน “คุณค่าความเป็นคน” และ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

 แต่พฤติกรรมและทัศนะที่แสดงออก กลับสะท้อนถึงความคิดที่แบ่งแยก..และดูถูกทางเพศ  เหยียดหยามผิวสี  ถิ่นฐาน  ชาติพันธุ์  ฐานะทางชนชั้น และวุฒิการศึกษา  ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่ถูกปลูกฝังครอบงำไว้ในจิตใต้สำนึก ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว    สุดท้ายจึงเป็นเพียง “การสำเร็จความใคร่ทางคำพูด” เพื่อให้ดูดีมีอุดมการณ์..มีจริยธรรมและเป็นสากล ทั้งๆที่ยังจมปลักอยู่กับ “วัฒนธรรมทาส” ที่ไร้อารยะ

ดังนั้น โดยจิตสำนึกและวิสัยทางวัฒนธรรม ผู้นำภายใต้ระบบอุปถัมภ์ จึงมักเอาตัวเองไปขึ้นกับตัวบุคคลที่มีภาวะผู้นำหรือมีบารมี    มุ่งยึดถือตัวผู้นำหรือตัวบุคคล  มากกว่าการยึดหลักการที่ว่า  “บุคคล(ตนเอง)ขึ้นกับองค์กร” และ “ส่วนตัวขึ้นกับส่วนรวม”  ผู้นำแรงงานไทย ไม่เคยใช้วิธีคิดเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์ วิจารณ์เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างองค์กรและขบวนการให้เข้มแข็ง…เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว(Solidarity)

  1. ขบวนการแรงงานไทยกับการปรับกระบวนยุทธ์ระดับโลก

จากวัฒนธรรมที่ล้าหลังไร้อารยะส่งผลให้เกิดจุดอ่อนทางโครงสร้างดังกล่าวข้างต้น  แต่ประวัติศาสตร์แรงงานยุคใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515  ขบวนการแรงงานไทยเริ่มจากการรวมศูนย์พลังอย่างเข้มแข็ง แม้จะไม่มีการปรับ ปรุงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ แต่ก็เป็นการขับเคลื่ยนที่รวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว

การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทยในช่วงยุคทศวรรษแรกนั้น    นอกจากการลุกขึ้นสู้นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องและแสวงหาให้ได้มาซึ่งสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้แล้ว  ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอย่างเข้มแข็ง หลายครั้งหลายหนที่มีการนัดหยุดงาน เพื่อชุมนุมต่อสู้ เรื่อง ข้าวสารแพง  น้ำมันและค่าโดยสารรถเมล์ขึ้นราคา  สินค้าราคาแพง แต่ค่าแรงราคาถูก  รวมถึงการเข้าร่วมต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของประชาชนชั้นชนต่างๆ ทั้งชาวนา และประชาชนผู้ยากไร้ทั้งหลายที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ

แม้ในช่วงทศวรรษแรก ขบวนการแรงงานไทยจะเริ่มแยกตัวออกเป็นสี่สภาองค์การลูกจ้าง แต่ก็ยังรวมศูนย์การเคลื่อนไหวในนามสี่สภาด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ หลังจากผ่านพ้นช่วงปลายทศวรรษแรก ขบวนการแรงงานไทยเริ่มแตกแยกกระจัดกระจาย ต่างคนต่างสร้างอาณาจักรของตนเอง

มิเพียงการเคลื่อนไหวที่ขบวนการแรงงานเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม ได้เลือนหายไปเท่านั้น หากแต่ความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของขบวนการแรงงานไทยก็ได้แตกออกเป็นเสี่ยงๆไปด้วย ความอ่อนแอดังกล่าว จึงไม่สามารถเป็นที่คาดหวังได้ ทั้งของขบวนการแรงงานและขบวนการทางสังคม   ซึ่งอาจกลาย เป็นจุดจบที่ไร้อนาคตในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

หากศึกษาบทเรียนและประวัติศาสตร์แรงงานของประเทศต่างๆในแถบภาคพื้นตะวันตก  แม้จะมีระยะ เวลายาวนานกว่าสองร้อยปี  ซึ่งมีพัฒนาการที่ก้าวข้ามสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ สู่สหภาพแรงงานในระดับอุตสาหกรรมและรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียวในระดับสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ   การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิผลประโยชน์เป็นไปอย่างเข้มแข็งมีพลังและเป็นปึกแผ่น

โลกปัจจุบันได้พลิกผันเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ จากการปฏิวัติด้านการเกษตร   สู่การปฏิวัติด้านอุตสาหกรรม(ทั้งเบาและหนัก) ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังก้าวสู่…ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลและนาโนเทคโนโลยี  รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตสินค้า “นวัตกรรม” และภาคบริการ(High Value Services)  ทำให้เกิดกระบวนการผลิตแบบใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในด้านพลังการผลิตและความสัมพันธ์การผลิต 

ระบบทุนในปัจจุบันนี้ เป็นทุนที่ไร้สัญชาติ พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายทุนไปได้ทุกที่..ทุกประเทศ เงินทุนพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายไปที่ใดก็ได้ ที่มีผลประโยชน์ตอบแทนดี  การผลิตสินค้าก็พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่แหล่งที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนแรงงานก็พร้อมที่จะไหลไปสู่…ที่มีค่าแรงงานสูง

นี่คืออิทธิพลของโลกยุคดิจิตอลที่ไร้พรมแดน(โลกยุคโลกาภิวัตน์)  ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานที่ลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วในแถบตะวันตก ซึ่งไม่มีโรงงาน ไม่มีทั้งการผลิตสินค้าและการบริหารกระบวนการผลิต แต่ใช้วิธีบริหารแบรนด์ ใช้วิธีจ้างเหมาแรงงาน  ส่วนการผลิตจะมีเฉพาะสินค้าประเภทใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

บทเรียนในสหรัฐอเมริกา ขบวนการแรงงานอ่อนแอและยุบตัวเล็กลงเรื่อยๆ และมีการขับเคลื่อนในรูปแบบไร้กรอบองค์กรแบบสหภาพแรงานหรือ Non-union Workers’ Movement  แต่เป็นรูปแบบสร้างเครือข่ายเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ   มีภารกิจขับเคลื่อนและผลักดันกฎหมาย เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและสภาพการจ้างของคนงานนอกระบบ เช่น แม่บ้าน คนขับแท็กซี่ และอื่นๆ

บทเรียนในเยอรมัน สมาชิกสหภาพแรงงานลดลง แต่ยังมีพลังและอำนาจต่อรองทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ เนื่องจากขบวนการแรงงานในเยอรมันจะใช้แนวทางการเจรจาต่อรองร่วมในระดับอุตสาหกรรมและระดับชาติ รวมทั้งมีรูปแบบที่คนงานมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการหรือการตัดสินใจร่วม(Workers Participation หรือ Co-determination) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของ“ความเป็นหุ้นส่วน” หรือ Partnership ระหว่างทุนกับแรงงาน

บทเรียนในสวีเดน ขบวนการแรงงานยังคงความเข้มแข็งไว้ ซึ่งนอกจากมีกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจร่วมของคนงานลูกจ้าง(Workers Involvement หรือ Co-determination) แล้ว  ยังมีกฎหมายกำหนดให้คนงานลูกจ้างทุกคนต้องสังกัดสหภาพแรงงาน  ดังนั้น คนงานลูกจ้างกว่า80% เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และขบวนการแรงงานมีบทบาทที่เข้มแข็งทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม   รวมถึงการพัฒนาคุณภาพแรงงานโดยการขับเคลื่อนผ่านสถาบันวิจัยและการเปลี่ยนผ่านสู่ “เทคโนโลยีดิจิตอล”

ประเทศต่างๆในยุโรปรวมถึงประเทศพัฒนาอื่นๆ มีแนวโน้มสมาชิกสหภาพแรงงานลดลงในอนาคตและขบวนการแรงงานอาจจะต้องลดบทบาทในรูปแบบองค์กรสหภาพแรงงาน  สู่..รูปแบบขบวนการทางสังคม หรือเครือข่ายทางสังคม   ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้ว จาก “ความเป็นหุ้นส่วน” ระหว่างทุนกับแรงงาน…. สู่ “ระบบความเป็นหุ้นส่วนทางสังคม” (Social Partnership) นี่คือ ความอารยะของโลกตะวันตก

ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา  หากเราติดตามศึกษาความเป็นไปของขบวนการแรงงานทั่วโลก จะเห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขบวนการแรงงานในหลายประเทศได้ร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงานนอกระบบ  ปัญหาการจ้างงานในสภาวะที่พลังการผลิตและความสัมพันธ์การผลิตกำลังเปลี่ยนไป รวมถึงระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านสู่ “เทคโนโลยีดิจิตอล”  ซึ่งจะมีผลกระทบให้เกิดปัญหาการว่าง งานที่วิกฤตรุนแรง  เนื่องจากการจ้างงานที่ลดลงอย่างมหาศาลในอนาคต

ขบวนการแรงงานทั่วโลกกำลังขับเคลื่อน เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ “ขบวนการทางสังคม” ทั้งแรงงานและภาคส่วนต่างๆ  กำลังสร้างระบบ “ความเป็นหุ้นส่วนทางสังคม”(Social Partnership )      ส่วนทุน(นายจ้าง)กำลังก้าวสู่ระดับภูมิภาคและสร้างเครือข่ายพันธมิตรเป็นแนวร่วมอยู่ทั่วโลก  

ขณะที่ขบวนการแรงงานไทยยังคงย่ำอยู่กับที่และหลงระเริงอยู่ในอาณาจักรของตนเอง ไม่เคยก้าวพ้นออกจากการเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ในระดับสถานประกอบการ และ มักถูกโดดเดี่ยวจากสังคม การเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของแรงงานถูกสังคมเพิกเฉยและบางครั้งถูกต่อต้าน

  1. ปรับกระบวนยุทธ์ จากขบวนการแรงงานสู่ขบวนการทางสังคม

สถานการณ์แรงงานไทยทุกวันนี้  คนงานลูกจ้างต้องดำเนินชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก  มีค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม ความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน  ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้องภายในโรงงาน “จะก้าวออกไปต่อสู้ในขบวนการทางสังคมได้อย่างไร เมื่อตัวเองยังแทบเอาตัวไม่รอด”

วิธีคิดเช่นนี้ เป็นการคิดในเชิงยุทธวิธี หรือ คิดแบบสั้นๆ เฉพาะประโยชน์ส่วนตัวและภายในกลุ่ม ซึ่งสุดท้ายก็จะพากันล่มสลายหมด ทั้งขบวนการแรงงานและขบวนการทางสังคม ดังนั้นขบวนการแรงงานจะต้องปรับกระบวนคิดใหม่ ต้องคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการก้าวให้พ้นจากความคิดซ้ำๆที่ย่ำอยู่กับที่และกล้าที่จะคิดให้พ้นออกนอกกรอบ เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าพร้อมๆกันทั้งสังคม

เราต้องคิดและวิเคราะห์เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างนวัตกรรมแรงงานแบบใหม่ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยน แปลงและกล้าคิดแตกต่าง(Dare to Differ) สู่สิ่งใหม่ๆ  พร้อมทั้งกล้าที่จะทำ(Dare to Do) เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน

ขบวนการแรงงานทั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงานและสภาองค์การลูกจ้าง รวมถึงองค์กรทุกรูปแบบ ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า  ต้องสานพลังร่วมมือกัน ระดมสมอง  ระดมความคิด และวิเคราะห์ ค้นหาจุดอ่อนจุดแข็ง โดยเปิดใจวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาแบบมิตรสหาย  เพื่อค้นหาแนวทางและนวัตกรรมแรงงานใหม่ๆที่ดีและมีอนาคตมากกว่าที่เป็นมาและที่เป็นอยู่

ผู้นำแรงงานทุกระดับต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การปรับ “กระบวนทัศน์ใหม่”   พร้อมทั้งการยอมรับที่จะปรับโครงสร้างขบวนการแรงงานให้มีศักยภาพ เพื่อรวมศูนย์พลังในการต่อสู้เรียกร้องและขับเคลื่อนทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับชาติอย่างเป็นเอกภาพ

การปรับ“กระบวนยุทธ์ใหม่” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาขบวนการแรงงาน สู่ขบวนการทางสังคม   เข้าร่วมภาคีเครือข่ายทางสังคมอย่างจริงจัง ทั้งในระดับเป็นแนวร่วมและหรือเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนทางสังคมด้วยความเป็นเอกภาพ

โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็น “หุ้นส่วนทางสังคม”(Social Partnership)  ร่วมกันกำหนดกระบวนยุทธ์ใหม่…พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทุนกับแรงงาน ก้าวสู่ ความเป็นหุ้นส่วนทางสังคม  และนำไปสู่การเข้าร่วมต่อสู้ เพื่อสิทธิผลประโยชน์ของประชาสังคมทั่วทั้งประเทศ

การกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายทางสังคม เพื่อรวมศูนย์พลังการต่อสู้และเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมนั้น จะต้องตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า ทุกปัญหา คือ ปัญหาเดียวกัน ปัญหาความไม่เป็นธรรมในโรงงานกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม คือปัญหาร่วมอันเดียวกัน และ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิผลประโยชน์เดียวกัน

  1. บทสรุปสำหรับการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลง คือ สัจธรรม  เพราะสิ่งทั้งหลายล้วนอนิจจัง  ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และเกิดการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีดิจิตอล ความหายนะย่อมเกิดขึ้นกับผู้ที่พยายามย่ำอยู่กับที่

ในฐานะความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ผู้นำแรงงานทุกคนต้องกล้าที่จะลุกขึ้นด้วยสิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้และพัฒนาตนเองสู่ความเข้มแข็ง ต้องกล้าที่จะ “ปฏิวัติทางความคิด…ติดอาวุธทางปัญญา”  โดยไม่เกรงกลัวหรือยอมจำนนต่ออำนาจบารมีของผู้นำคนใดหรือบุคคลใด

ต้องยึดมั่นในหลักการและระบบ ด้วยจิตวิญญาณที่อารยะและก้าวหน้า มิใช่ยึดตัวบุคคล

การลุกขึ้นทวงสิทธิเสรีภาพและกบฏต่อความคิดเก่าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์และความเจ็บปวด นี่คือ นิยามของความดีและคนดีในโลกที่อารยะแล้ว

ความคิดของ อิมนานูเอล คานต์ นักคิดชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า “ในการทำความดีนั้น เราต้องยืนยันต่อ เสรีภาพ เสมอไป และ เสรีภาพเป็นเรื่องการขืนต่ออารมณ์ความรู้สึกสัญชาตญาณภายใน และ ขืนต่ออำนาจครอบงำภายนอก ดังนั้น การยืนยันเสรีภาพจึงเป็นการขืนต่อความทุกข์และความเจ็บปวดอย่างจำเป็น

ในการทำความดีแบบ“อิมมานูเอล คานต์” ก็คือ การตระหนักอย่างลึกซึ้งในคุณค่าเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   ประวัติศาสตร์บอกเราเสมอว่า  คนที่ต่อสู้เพื่อทำให้คุณค่าเหล่านี้เป็นจริง ย่อมต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเสมอ 

แต่เพราะมีเพื่อนมนุษย์จำนวนมากในโลกใบนี้ที่ยอมเจ็บปวด ประวัติศาสตร์โลกจึงหมุนไปในทิศทางที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   มีผู้คนมากมาย ที่ยอมสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์และเพื่อการปลดปล่อยออกจากความเป็นทาส และ เห็นว่า ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แม้ว่าทำไปแล้วอาจต้องเผชิญกับความทุกข์และความเจ็บปวดก็ตาม

โดยหลักของวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์สังคม เป็นที่ถกเถียงและยอมรับร่วมกันว่า สังคมยุคปัจจุบันเป็นสังคมยุคทุนนิยมที่ก้าวหน้ากว่าสังคมยุคอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่สังคมยุคดึกดำบรรพ์  ยุคทาส  ยุคศักดินา เข้าสู่ยุคทุนนิยม  ซึ่งชนชั้นทุนและแรงงาน คือ พลังการผลิตและความสัมพันธ์การผลิตที่ก้าวหน้าที่สุด

ชนชั้นแรงงานจึงเป็นพลังหลักและพลังชี้ขาดในการเปลี่ยนแปลงสังคม สู่ความมีอารยะและก้าวหน้า  มีวิถีชีวิตที่ดี  มีคุณภาพในการดำรงชีพและเป็นสังคมที่เท่าเทียมเสมอภาคกัน  สิ่งสำคัญก่อนอื่นนั้น ชนชั้นแรงงานจะต้องมีวิถีคิดและจิตวิญญาณที่ก้าวหน้าและอารยะ

ดังนั้น ผู้นำแรงงานทุกคนย่อมต้องมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะลุกขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขบวนการแรงงานไทยให้ก้าวหน้าและเข้มแข็ง  เหมือนประเทศต่างๆทั่วโลกที่อารยะทั้งหลาย  เพื่อเป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่เป็นธรรม มีเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน   โดยเฉพาะการตระหนักใน “คุณค่าความเป็นคน” และ เคารพใน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ต้องกล้าที่จะฝัน (Dare to Dream) เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ต้องกล้าที่จะแตกต่าง (Dare to Differ) เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ต้องกล้าที่จะทำ (Dare to Do) เพื่อขบวนการที่เข้มแข็ง

ต้องกล้าที่จะตาย (Dare to Die) ถ้าจะต้องทุกข์และเจ็บปวด