นายกรัฐมนตรีแถลงมติคณะรัฐมนตรีปรับขึ้นค่าจ้าง 69 จังหวัด ที่เหลือไม่ปรับอ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอมา 1 ม.ค. 60 นี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า รับทราบตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงานในการเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 69 จังหวัดทั่วประเทศ 5-10 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการทำงานของคณะกรรมการค่าจ้างในการพิจารณาเรื่องนี้เสนอขึ้นมา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่เสนอมาถึงแม้ว่า จะปรับขึ้นไม่มากแต่ถือเป็นกำลังใจให้ก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจยังเดิมๆอยู่รายได้ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักการจะปรับขึ้นก็ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการด้วย ถ้ามองซีกเดียวก็ไปไม่ได้ ทั้งหมดการทำงานต้องคำนึงถึงความสมดุลด้วย และเมื่อไปอีกสักระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ แต่สิ่งที่จะได้คือมาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ถ้าได้ลงทะเบียนไว้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือด้วย
ส่วนนางสาวสมหมาย สราญจิตร์ อนุกรรมการค่าจ้าง จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวในรายการเสียงคนทำทาง ทางสถานีวิทยุไทยพีบีเอส กล่าวถึงมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า ในส่วนของจังหวัดสิงห์บุรี ที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เป็นเพราะที่ประชุมอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีมติปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากที่ประชุมมองว่าจังหวัดสิงห์บุรีเป็นจังหวัดทางด้านการเกษตรกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนไม่มากและในบริษัทต่างๆมีค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว จึงมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทกับแรงงานแรกเข้านั้นคิดว่าเพียงพอและสามารถอยู่ได้ที่ประชุมอนุฯจึงเสนอไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งก็ส่งผลในเป็นเพียงจังหวัดเดียวในภาคกลางที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
นางสาวสมหมาย ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการท้วงติงขอความคิดเห็นมาทางคณะกรรมการค่าจ้างก็คือเรื่องของอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้างที่มีเพียง 3 คน โดยตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ระบบไตรภาคีต้องมีตัวแทนครบ 3 ฝ่าย จำนวน 15 คน คือ ฝ่ายตัวแทนนายจ้าง 5 คน ตัวแทนลูกจ้าง 5 คน และภาครัฐ 5 คน ประธานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทางตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไม่ครบตามจำนวนเนื่องจากออกจากงานไป 2 ท่านจึงเลือกเพียง 3 คนในการทำหน้าที่เสนอข้อมูล ซึ่งฝ่ายลูกจ้างเห็นว่า จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งทางส่วนกลางบอกว่าสามารถประชุมได้ และมติก็ออกมาอย่างที่ทราบว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดสิงห์บุรี
ด้านนายวิจิตร ดาสันทัด อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงมติในการประชุมของอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดว่า ที่ประชุมมีมติส่งมานั้นคือต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 320 บาท เพราะว่าจังหวัดภูเก็ตมีค่าครองชีพที่สูงมาก เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้การดำรงชีพของลูกจ้างแรกเข้างานลำบากในการดำเนินชีวิต การที่มติครม.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 310 บาทก็เห็นว่าพอรับได้ แต่ว่าหากปรับก็อยากให้ทุกจังหวัดได้ปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากัน เหมือนกันเพราะว่าค่าครองชีพไม่ได้ต่างกันมาก เช่นประเด็นที่รัฐไม่ปรับค่าจ้างให้ในส่วนของจังหวัดกระบี่ ซึ่งถือว่าเป็นอีกจังหวัดที่อนุกรรมการค่าจ้างเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างมาแต่กลับไม่มีการปรับขึ้นอันนี้ถือว่าไม่เคารพอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่มีมติ และจังหวัดที่ตอนแรกไม่เสนอปรับขึ้นมีจำนวนมากกลับมีการเสนอปรับขึ้นอันนี้ก็เป็นประเด็นที่ไม่เข้าใจหลักคิดของคณะกรรมการค่าจ้างที่เสนอปรับขึ้น หรือไม่ปรับขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นไม่เท่ากันด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระหว่าง 5-10 บาท จำนวน 69 จังหวัด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่ไม่มีการปรับค่าจ้างแรงงาน โดยคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา กลุ่มที่ 2 ปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน เป็น 310 บาท จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ ฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต กลุ่มที่ 3 ปรับขึ้น 8 บาทต่อวัน เป็น 308 บาท จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา อยุธยา และกลุ่มที่ 4 ปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน เป็น 305 บาท จำนวน 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีษะเกษ นครสวรรค์ หนองคาย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ที่มีรายได้น้อยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2559 และเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีในปี 2558 โดยมีการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นจากกรมสรรพากรและกรมการปกครองแล้ว สำหรับเกณฑ์การช่วยเหลือ กำหนดผู้มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท/ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท/คน จำนวน 3.1 ล้านคน ส่วนผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาท/ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท/คน จำนวน 2.3 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12,750 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค. 2559 ผ่านบัญชีธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ออมสิน และกรุงไทย ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ สำหรับผู้ที่มีบัญชีมากกว่า 1 บัญชีจะโอนเข้าบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวล่าสุด และสำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีให้ไปเปิดบัญชีในสาขาที่ลงทะเบียนเพื่อรับเงิน
นายกฯยังกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น แน่นอนเมื่อมีเงินลงไปก็จะมีการใช้เงินกันมากขึ้น จะเกิดกระบวนการตั้งแต่ผู้บริโภคถึงผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายก็จะเกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น
รายงานโดย วาสนา ลำดี