เสวนาสิทธิ ความยุติธรรมและกฎหมายด้านแรงงาน (๒) : นายจ้างปิดกิจการกระทันหันอ้างขาดทุนต่อเนื่อง ทยอยจ่ายค่าชดเชยข้ามปี

เสวนาสิทธิ ความยุติธรรมและกฎหมายด้านแรงงาน (๒) : นายจ้างปิดกิจการกระทันหันอ้างขาดทุนต่อเนื่อง ทยอยจ่ายค่าชดเชยข้ามปี

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฎหมาย/ทนายความ

ผู้เขียนอยู่ในระหว่างผลิตงานเขียนชิ้นหนึ่ง เรื่อง การเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ตั้งใจจะหยิบยกแนวคำวินิจฉัยของศาลแรงงานและศาลฎีกามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ปรากฏว่ามีกรณีปัญหาเร่งด่วนเกิดขึ้น คือ นายจ้างในกิจการสิ่งทอและเสื้อผ้า ย่านอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ได้ประกาศหยุดกิจการถาวร โดยนายจ้างประกาศเป็นเอกสารลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๐ และให้มีผลทันทีโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ส่วนค่าชดเชยที่ลูกจ้างต้องมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๑๙ นั้น นายจ้างขอจ่ายเป็นงวด ๆงวดละเดือนรวม ๘ งวด งวดที่ ๑ เริ่มเดือนตุลาคมปีนี้ งวดสุดท้ายเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๑

ด้วยความเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกผู้คน แต่กรณีนี้เป็นเรื่องของนิติบุคคลคือบริษัท โดยมีมนุษย์เป็นผู้กระทำการแทน คือบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งในทางกฎหมายหากดำเนินการไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์และกฎเกณฑ์อันชอบด้วยกฎหมายของบริษัท มนุษย์เหล่านั้นก็ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว แต่ในทางศีลธรรมและคุณธรรม มนุษย์ทั้งหลายที่ไปทำหน้าที่บริหารจัดการทางธุรกิจหาได้พ้นความรับผิดชอบไม่ และประการสำคัญยิ่งการดำเนินธุรกิจก็ไปผูกพันกับชีวิตและครอบครัวของมนุษย์อีกหลายร้อยหลายพันชีวิต จึงเป็นเรื่องของสังคมส่วนรวมที่จะต้องรับรู้ เรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายด้านแรงงานส่วนใหญ่หรือเกือบทุกฉบับ เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยประโยชน์สุขของมหาชนหรือสังคมส่วนรวม และมีบทลงโทษในทางอาญาด้วย หากมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๕๘ ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย นั่นหมายถึงว่า กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนนายจ้างและเป็นผู้สั่งการ (ปิดกิจการเลิกจ้าง) ก็อยู่ในความหมายของกฎหมายที่อาจต้องรับโทษในทางอาญาด้วย ตามข้อเท็จจริงและการกระทำของบุคคลดังกล่าว อย่างไรก็ตามในเรื่องการดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของนักวิชาชีพด้านกฎหมาย

กรณีนี้มีประเด็นที่ควรพิจารณา เรียนรู้และร่วมกันช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยกันมีดังนี้

ประการแรก นายจ้างอ้างเหตุผลว่า กิจการผลิตเสื้อผ้ามีการแข่งขันสูง ตลาดมีความผันผวน มีภาระต้นทุนการผลิตสูงและขาดทุนต่อเนื่อง โดยประกาศให้ลูกจ้างทราบเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๐ และให้มีผลในทันที ส่วนลูกจ้างที่พักอยู่ในหอพักที่นายจ้างจัดให้นั้น จะต้องขนย้ายสัมภาระต่างๆ และออกไปภายในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๐

ข้อควรพิจารณาและเรียนรู้ หากจะเปรียบเทียบปัญหาการผลิตของนายจ้างเหมือนการเจ็บป่วย ประเด็นก็คือ มันเริ่มมีอาการว่าจะป่วยตั้งแต่เมื่อใด หรือมีอาการอื่นๆ แสดงให้เห็นหรือไม่ และอาการเช่นว่านั้นเป็นอย่างไร ผู้เขียนทราบว่าโรงงานนี้มีสหภาพแรงงาน และอยู่ในพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ซึ่งมีกลุ่มย่านหรือกลุ่มสหภาพแรงงานในเขตพื้นที่ เหตุใดไม่นำเสนอเรื่องนี้ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือกระทรวงแรงงาน มิใช่การเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย แต่ให้ช่วยตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหามิให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องของหลักประกันสิทธิด้านแรงงาน เพราะหากธุรกิจมีอันต้องปิดกิจการลง ก็อาจกระทบต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ และจะเป็นภาระแก่ลูกจ้าง ที่จะต้องกระเสือกกระสนใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานและต้องใช้จ่ายที่จำเป็นอีกหลายอย่างในการใช้สิทธิ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าถ่ายเอกสาร โดยที่ก็ไม่มีหลักประกันว่า ถึงที่สุดแล้วลูกจ้างจะได้รับสิทธิตามกฎหมายหรือไม่

ข้อควรพิจารณาและการเรียนรู้ ภายใต้กฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้

กระทรวงแรงงานสามารถออกมาตรการทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองแรงงานอันเนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เช่น ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มย่าน มีสิทธิแจ้งเหตุกรณีธุรกิจประสบปัญหาการผลิต เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาทางแก้ไขปัญหาได้หรือไม่

ทางออก หากตอบว่าไม่ได้และในทางบริหารราชการแผ่นดินก็ไม่อาจทำได้ด้วยเช่นกัน

กระทรวงแรงงานก็คงต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้แล้ว ไม่ว่าโดยการแก้ไขกฎหมาย หรือกำหนดมาตรการในทางบริหาร เพราะปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงทางสังคม

ประการที่สอง การปิดกิจการกะทันหัน แล้วนายจ้างก็ประกาศออกมาเลยว่า จะจ่ายให้เฉพาะค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง โดยแบ่งจ่ายเป็น ๘ งวด งวดละเดือน เริ่มจ่ายเดือนตุลาคมปีนี้ งวดสุดท้ายเดือนพฤษภาคม ปี๒๕๖๑

ข้อควรพิจารณาและเรียนรู้ การประกาศแจ้งต่อลูกจ้างเช่นนี้ ในทางกฎหมายเทียบได้ว่านายจ้างได้มีข้อเสนอหรือคำเสนอต่อลูกจ้าง และหากลูกจ้างตอบรับก็จะมีผลในทางปฏิบัติ คือนายจ้างก็จะยึดถือและอ้างว่าลูกจ้างได้ตอบรับแล้ว แต่หากลูกจ้างเฉยๆ ไม่ตอบแต่ไม่มีการทักท้วงหรือโต้แย้ง หรือบอกว่าไม่รับคำเสนอ ในทางกฎหมายถือว่าลูกจ้างยอมรับข้อเสนอของนายจ้าง นี่คือความชอบด้วยกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม

ตามกฎหมายด้านแรงงานเมื่อนายจ้างปิดกิจการ กฎหมายถือว่าเท่ากับเลิกจ้าง ค่าชดเชยต้องจ่ายทันทีและงวดเดียว แต่หากลูกจ้างยอมรับเงื่อนไขของนายจ้างก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจ้างยังไม่เข้าใจความซับซ้อนของวิธีทางกฎหมาย ที่ทนายความนายจ้างเขาชี้แนะมา ความจริงลูกจ้างโดยส่วนใหญ่มิได้ยอมรับคำเสนอหรือข้อเสนอของนายจ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และมักจะอยู่เฉยประกอบกับความเดือดร้อนและการไร้ที่พึ่ง รวมทั้งการดำเนินชีวิตที่แล้วแต่นายจ้างจะกำหนดมานาน ลูกจ้างก็มักจะคิดว่า ช่างมันเถอะ กี่งวดกี่ปี ขอให้มันได้เถอะ หรือเลวร้ายที่สุด เท่าไรก็เอาดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานซึ่งก็ทราบปัญหาและข้อจำกัดของลูกจ้างดี ก็ควรต้องเร่งทำบทบาทเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทางออก กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองแรงงาน ควรเข้ามาตรวจสอบสิทธิที่ลูกจ้างจะพึงได้รับตามกฎหมาย เพราะมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายอีกหลายประการ ที่ลูกจ้างจะต้องได้รับในกรณีที่มีการปิดกิจการคือเลิกจ้าง เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี หากมีการเรียกเก็บเงินประกันการทำงานก็ต้องคืนให้ลูกจ้าง และกรณีนี้ นายจ้างมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ซึ่งในประกาศของนายจ้างไม่มีเงินดังกล่าว นอกจากนี้ หากกระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบตามประเด็นข้อ ๑ แล้วได้ความว่าธุรกิจประสบปัญหาจริง เป็นกรณีที่นายจ้างสุจริตใจ หรือเป็นเหตุสุดวิสัย กระทรวงแรงงานก็ต้องดำเนินการให้นายจ้างให้หลักประกันแก่ลูกจ้างว่า หากจะต้องจ่ายเป็นงวด ๆ หลายงวด ลูกจ้างก็จะมีหลักประกันว่าจะได้รับสิทธิดังกล่าวครบถ้วนถูกต้อง เช่น ธนาคารให้หลักประกันหนี้ทั้งหมด ถ้าไม่มีหลักประกันเช่นว่า ก็ไม่ยุติธรรมที่ให้ลูกจ้างรับเงื่อนไขของนายจ้างและไม่ถูกกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ ลูกจ้างยังมีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอีกหน่วยงานหนึ่ง คือสำนักงานประกันสังคม ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงาน และการช่วยเหลือลูกจ้าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานควรทำหน้าที่ในการบูรณาการและประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ลูกจ้าง มิฉะนั้นลูกจ้างก็ต้องเดือดร้อนเดินทางไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของลูกจ้าง ในขณะที่พวกเขาต้องตกงานกระทันหัน และไม่มีเงินสำรองเพื่อการใช้จ่ายในระหว่างที่ตกงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำใดๆของนายจ้างที่หมิ่นเหม่ว่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือขัดกับกฎหมาย เจ้าหน้าที่ควรต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ว่านี้โดยเร็ว โดยมิต้องรอให้ลูกจ้างร้องขอ เพราะหลายเรื่องพวกเขาก็ไม่รู้กฎหมาย

ที่กล่าวมานี้มิใช่การดำเนินการเพื่อให้ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรม เพราะคิดว่ายังมีเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องทำให้เกิดความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วนตามกฎหมายเสียก่อน อีกทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ ก็อยู่ที่นายจ้าง อันเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่กองอยู่เบื้องหน้า เพื่อทำให้สิทธิของลูกจ้างสมบูรณ์ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมายเสียก่อน อย่าเพิ่งข้ามไปดำเนินการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพราะยังมีเวลาอยู่ เพราะหากเร่งไปดำเนินการตรงนั้น โดยที่ยังมิได้ทำให้เกิดความชัดเจนถูกต้องในสิทธิตามกฎหมายเสียก่อนแล้ว จะเกิดผลเสียหายแก่ลูกจ้างโดยรวม

ประการที่สาม เรื่องความยุติธรรมของลูกจ้างที่ต้องตกงานโดยกะทันหัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ลูกจ้าง ๑ คน เลี้ยงดูคนอื่นๆในครอบครัวอีกหลายคน ลูกจ้างมีข้อจำกัดในการออม มีภาระหนี้สิน และขาดการเตรียมตัวในกรณีที่ต้องตกงานกะทันหัน พอมาเจอกับปัญหานายจ้างทยอยจ่ายค่าชดเชยข้ามปี ซึ่งก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้เงินหรือไม่ด้วยแล้ว ความเดือดร้อนในส่วนนี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ มีลูกจ้างที่เป็นคนไทย ประมาณ ๑๐๐ คนเศษ ส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว นอกจากแรงงานไทยแล้วนายจ้างรายนี้ยังมีการจ้างแรงงานข้ามชาติชาวพม่าอีกด้วย

ข้อควรพิจารณาและเรียนรู้ ผู้คนและแม้แต่ ผู้ใช้แรงงานเอง ก็มักจะคิดว่าเมื่อนายจ้างเลิกจ้างและได้จ่ายค่าชดเชย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตาม กฎหมายแล้ว ก็ถือว่ายุติธรรมแล้ว เพราะกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนก็ เข้าใจเช่นนั้น ผู้เขียนเห็นว่า สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน ยังมิใช่คำตอบในเรื่องความยุติธรรมของ ลูกจ้างที่ต้องตกงานโดยกระทันหัน หากแต่ต้องพิจารณาจากสภาพที่เป็นจริงของลูกจ้างที่ตกงาน รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวและบุคคลที่อยู่ในอุปการะของลูกจ้าง ว่ามีความเดือดร้อนในเรื่องใดบ้าง หรือมีความต้องการความช่วยเหลือด้านใดเป็นพิเศษ เช่น ลูกจ้างที่ต้องรับการรักษากรณีเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงาน โอกาสในการหางานใหม่ หรือการพัฒนาทักษะเพื่อเปลี่ยนอาชีพ เป็นต้น อีกทั้งจะต้องร่วมกันขบคิดว่าอีกว่า ประเทศไทยจะรับผิดชอบและดูแลแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทยเพียงใดจึงจะยุติธรรม

ทางออก กล่าวคือ ควรที่จะมีการรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนและผลกระทบต่าง ๆ ที่ลูกจ้างและครอบครัว หรือบุคคลที่ลูกจ้างให้การอุปการะได้รับ ซึ่งอาจเรียกรวมๆว่าผู้ได้รับผลกระทบ และนำมาประกอบการพิจารณาว่า ในระยะเฉพาะหน้า จะหางานชั่วคราวให้ลูกจ้างทำไปพลางก่อนได้อย่างไร หนี้และภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เฉพาะหน้าของลูกจ้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษาบุตร ค่าอาหาร หรือค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัว หน่วยงานใดหรือภาคส่วนใดจะมีส่วนช่วยได้บ้างในระยะยาว เช่น การพัฒนาทักษะเพื่อเปลี่ยนอาชีพ ตลอดจนหากย้ายถิ่นกลับชนบท หรือไปทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ภาครัฐ นายจ้างและภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคประชาสังคม จะมีบทบาทส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพได้อย่างไร แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเรื่องแรงงานนอกระบบจะมีส่วนช่วยหรือรองรับปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ผู้เขียนใคร่ขอเรียกร้องให้สถาบันทางวิชาการหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้โปรดส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหาข้างต้นด้วย

ขอให้แรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสุดท้าย ที่จะต้องเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว อันเนื่องมาจากการทำงานหรือการประกอบอาชีพ โดยที่ตนมิได้มีส่วนก่อปัญหาดังกล่าวแต่ประการใด ขอให้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาที่นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทย และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบมีแผนปฏิบัติการหรือมีกฎหมายที่คุ้มครองดูแลลูกจ้างหรือคนทำงานได้อย่างยุติธรรม อย่าให้ลูกจ้างหรือคนทำงานและสมาชิกในครอบครัวต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไปเลย

@@@@@@@@@