แถลงเตือนรัฐ อุตสาหกรรม 4.0 และการ (ไม่) รับมือมหันตภัยคนตกงาน

DSCN6895

ขบวนการแรงงาน แถลงข้อเสนอรัฐจัดกลไกปกป้องแรงงาน กรณีนายจ้างเลี่ยงกฎหมาย ด้านนักวิชาการ ย้ำต้องสร้างมาตรการรับมือก่อนวิกฤติภายในประเทศ หลังอุตสาหกรรม 4.0

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT)ได้จัดสวนา “ เลิกจ้างแรงงานเหมาค่าแรง เศรษฐกิจชะลอตัว นำเข้าเครื่องจักร หรือเทคนิคแพรวพราวของทุน”วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2559 ณ  ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพมหานคร

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีวิกฤติที่นายจ้างอ้างเพื่อเปิดโครงการสมัครใจลาออกนั้น อาจต้องมาดูเรื่องผลประกอบการประกอบซึ่งในส่วนของสภาอุตสาหกรรมได้เปิดเผยตัวเลขการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2559 ทั้งสิ้น 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน นื่องจากผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.08 และ 63.56 ตามลำดับและเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้อยละ 15.86 และในเดือนพฤษภาคม 2559 ผลิตรถยนต์ 168,394 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.69 ส่งออกรถยนต์ 99,547 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93 ยอดขายรถยนต์ 66,019 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวมาดูสถิติการขายรถของโตโยต้าแค่ประจำเดือนพฤษภาคมมีปริมาณการขายทั้งสิ้น 66,035 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ประกอบด้วยรถยนต์นั่ง 25,050 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 รถเพื่อการพาณิชย์ 40,985 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 รถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 33,549 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 เป็นต้น และหากมาดูเรื่องรายได้ก็เป็นบริษัทที่มีรายได้สูงสุดอันดับ 2 ของประเทศถึงกว่า 417,826 ล้านบาท มีผลกำไรเป็นอันดับ 4 คือกว่า 29,937 ล้านบาท เป็นข้อมูลปี 2558 แต่หากตรวจสอบดูจะเป็นว่ามีผลประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา

กรณีบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดโครงการสมัครใจลาออก ในโครงการ จากกันด้วยใจ โดยให้ลูกจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ ประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมด มีการประกาศสมัครใจลาออกประมาณ 900 คน ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เป็นต้น โดยนายจ้างประกาศจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินพิเศษ การเปิดโครงการนี้บริษัทอ้างเรื่องของการประสบภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนส่งผลต่อการส่งออก ส่งผลต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำเป็นต้องมีการลดพนักงานเนื่องจากเกินความจำเป็นในการผลิต จึงได้มีการเปิดโครงการเพื่อรักษาลูกจ้างให้มีรายได้ที่คงที่ และหากเศรษฐกิจดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงที่เข้าโครงการกลับเข้าทำงานโดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าดังเดิม

แต่ในความเป็นจริงตามข้อมูลคือนายจ้างไม่ได้ประสบภาวะขาดทุน จึงเกิดคำถามว่า นายจ้างจะมีการนำเครื่องจักร เทคโนโลยีมาทำงานแทนคนหรือไม่ ตามยุคสมัยอุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องมีการพัฒนาไป ซึ่งตนก็เห็นว่าทำได้ไม่ขัดขวางเรื่องการปรับเปลี่ยน แต่รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย เพื่อความเป็นธรรม เนื่องจากว่าหากเป็นการนำเครื่องจักรมาแทนคนกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ระบุไว้ในมาตรา 121 และ122 ว่าด้วยเรื่องของการนำเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีใหม่มาใช้แทนการผลิตด้วยกำลังคน ให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ และการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มอีกเท่าตัว ซึ่งตรงนี้บริษัทเปิดโครงการสมัครใจลาออกโดยบริษัทโตโยต้าแสดงความรับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชย และเงินพิเศษให้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสังคมเห็นว่ามีคุณธรรม

ด้านศาสตร์พิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามสภาพการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ตกต่ำหรือไม่ ซึ่งก็ได้เห็นตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมแล้ว ประเด็นต่อว่า อตุสาหกรรมมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านการผลิตหรือไม่ หากมีการนำเครื่องจักรมาแทนคนงานมีผลต่อการจ่ายค่าชดเชย ให้กับคนงาน เพราะหากว่ามีการนำเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีมาทำงานแทนคนหมายถึงนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยที่มากกว่าการเลิกจ้างปกติ แต่ว่าหากเป็นการลาออกปกติคนงานก็ไม่ได้รับค่าจ้างอยู่แล้วเพราะสมัครใจลาออกเอง ทำให้ผลผูกพันกับนายจ้างที่เป็นเอเยนหมดสภาพไป แต่การที่บริษัทโตโยต้าจ่ายเงินให้เป็นค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเหมาค่าแรงหมายถึงการมีคุณธรรมใช่หรือไม่ จากการที่คนงานเล่าถึงหุ่นยนต์พ่นสีที่เข้ามาทำงานในแผนก ซึ่งเป็นการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานแทนคนได้ คิดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่ายุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งทางยุโรป อเมริกามีการพัฒนาก้าวหน้าไปกว่าเราหลายสิบปี และเมื่อเข้ามาก็จะกระทบต่อคนงานหลายแสนคนแน่นอน ซึ่งรัฐต้องหามาตรการเข้ามาดูแล โดยต้องมองเรื่องผลพวงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลต้องดูเศรษฐกิจปากท้องการกินดีอยู่ดี ระบบประกันสังคมที่มีจะทำอย่างไรให้ดูแลเขาได้จริง ภาพของการนำเทคโนโลยีมาแทนคนแล้วส่งผลกระทบต่อคนที่ต้องไม่มีรายได้ จะยอมรับต่อภาพที่คนไทยจะอยู่ข้างมุมตึก จะมีคนงานที่รอดเพียง 10 คน จาก 100 คน หรือ 1,000 คนที่มีงานทำ ส่วนที่ไม่มีงานทำจะทำอย่างไร ประเทศไทยไม่ได้เตรียมการจึงยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรหากมีคนต้องตกงานจำนวนหลายแสนคน และเมื่อตลาดไม่มีกำลังซื้อ เพราะคนไม่มีเงิน

ในวันเดียวกันทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT)ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็น “เลิกจ้างแรงงานเหมาค่าแรง

จุดเริ่มต้นอุตสาหกรรม 4.0 และการ (ไม่) รับมือมหันตภัยคนตกงานในประเทศไทย” ดังนี้

ผลจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนแรงงานอย่างยากจะหลีกเลี่ยงในทุกอุตสาหกรรมในโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือเรียกกันว่า อุตสาหกรรม 4.0 หมายถึงการนำหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก่อรูปมาตั้งแต่ปี 2556 ที่ประเทศเยอรมนี และประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องเข้าสู่แบบแผนการผลิตดังกล่าวในเร็ววัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง มีเงินในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อิเลคทรอนิคส์ ฯลฯ

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา นี้อาจเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างของอุตสาหกรรม 4.0 ในประเทศไทย กับโครงการสมัครใจลาออก “จากกันด้วยใจ” ของบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แม้มีคำปฏิเสธและประสานเสียงยืนยันอย่างแน่นหนักทั้งจากฟากบริษัทฯและกระทรวงแรงงาน ว่าไม่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานแน่นอน แต่เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศที่ทำให้ยอดการผลิตสินค้า เพื่อจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกลดลงอย่างเห็นได้ชัดและกระทบต่อต้นทุนการผลิต จึงจำเป็นต้องนำมาสู่การลดจำนวนคนงานแทน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังสร้างความแคลงใจให้กับคนในสังคมหลายภาคส่วนมิใช่น้อย เพราะคนงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแรก คือ “แรงงานเหมาค่าแรง”

วันนี้คงไม่มีความจำเป็นที่จะสาธยายแล้วว่า “ชีวิตแรงงานเหมาค่าแรงหดหู่เพียงใด” เพราะมิเช่นนั้น IndustriALL Global Union องค์กรแรงงานสากลระดับโลกที่มีสมาชิกกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก จาก 140 กว่าประเทศ คงไม่ออกมารณรงค์อย่างหนักหน่วงให้เกิดการจ้างงานให้เป็นธรรมบนโลกใบนี้ เพื่อปกป้องให้คนงานทุกคนในกระบวนการผลิตได้เข้าถึงการคุ้มครองและสิทธิแรงงานอย่างเท่าเทียม เฉกเช่นเดียวกับที่ศาลแรงงานประเทศไทยก็ต้องพิจารณาคดีความฟ้องร้องระหว่างลูกจ้างเหมาค่าแรงกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อยู่เนืองๆ

จากสถิติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน  เมื่อกรกฎาคม 2559 ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนทั้งสิ้น 8,585,659 คน กระจายตัวอยู่ในสถานประกอบการ 355,985 แห่ง

ดังนั้นการตั้งคำถามที่ไปไกลกว่า “อุตสาหกรรม 4.0 คืออะไร และภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวอย่างไร” จึงคือคำถามที่ว่า “สังคมไทยจะรับมืออย่างไรกับคนตกงานจากอุตสาหกรรม 4.0 กว่า 8 ล้าน 5 แสนคน และผลกระทบในอนาคตจากมหันตภัยที่จะเกิดขึ้นนี้?”

บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 และ 2551-2552 สามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มผลกระทบจากอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ว่าจะเป็น

1. แรงงานกลุ่มแรกที่จะตกงานอย่างแน่นอน คือ กลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งวันนี้ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าจำนวนเท่าใด แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นแรงงานรายวัน มีค่าจ้างที่ไม่สูงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยทั่วไป และจำนวนไม่น้อยมีอายุมากเกินกว่าจะหางานใหม่ได้ แม้ยังไม่ตกงาน รายได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น นี้ไม่นับที่หลายบริษัทมักจะเลิกจ้างโดยหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินค่าชดเชย และให้แรงงานไปฟ้องร้องเอง ดังนั้นหากคนเหล่านี้ถูกเลิกจ้างเมื่อใด จะได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก เพราะไม่มีเงินออม เมื่อตกงานก็ต้องกู้เงินจากนอกระบบมาใช้ กลายเป็นหนี้หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

2. แรงงานเหมาค่าแรงจำนวนไม่น้อยไม่มีชื่ออยู่ในระบบประกันสังคม ดังนั้นเมื่อตกงานก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงเท่ากับว่าตอนที่มีงานทำอยู่ก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ขาดเงินออม และเมื่อตกงานรัฐก็ยังเอื้อมมือมาช่วยไม่ถึง หากเมื่อใดที่ถูกเลิกจ้าง-ตกงาน ก็จะได้รับกระทบหนักกว่าแรงงานกลุ่มอื่นๆ

3. ก่อให้เกิดปัญหาครอบครัว เพราะส่งผลให้รายได้ในครอบครัวลดลง และอาจก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลักในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะผลกระทบต่อแรงงานหญิงที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือต้องแบกรับภาระในครอบครัว เช่น การดูแลคนแก่ เด็ก ผู้ป่วย ผู้พิการ เป็นต้น การเลิกจ้างจะส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวอย่างมหันต์

4. ภาวะตกงานนำมาสู่ความเครียด  การวิตกกังวล คิดมาก การเข้าสู่วงจรยาเสพติดและแอลกอฮอล์บางครั้งอาจควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จนอาจก่อให้เกิดการฆ่าตัวตาย หรือก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น บางส่วนอาจจะลักเล็กขโมยน้อยเพื่อให้ตนเองอยู่รอด

5. ในบางภาคอุตสาหกรรม เช่น อิเลคทรอนิคส์ สิ่งทอ อาหาร ซึ่งมีแรงงานหญิงทำงานมากกว่าแรงงานชาย มีตัวอย่างสำคัญจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผู้หญิงบางส่วนเข้าสู่ภาคของการขายบริการทางเพศ การย้ายถิ่นข้ามชาติ จนถึงการเลือกที่จะใช้ชีวิตคู่กับชาวต่างชาติ ซึ่งทางเลือกดังกล่าวนี้เป็นวงจรที่สุ่มเสี่ยงกับกระบวนการค้ามนุษย์

6. ยังพบว่ามีผู้หญิงหลายคนที่ตั้งครรภ์และต้องไปทำแท้ง เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัวหรือไม่

จากสถานการณ์บางส่วนดังที่กล่าวมา พบว่า วันนี้เองรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีเพียงการมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนแม่บทรองรับภาคแรงงานไทยที่จะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในอนาคต คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงาน ดังนี้

(1)  รัฐบาลไทยต้องตระหนักเสมอว่า “แรงงาน” คือ “มนุษย์” ไม่ใช่แค่เป็นเพียง “ปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรในระบบทุน” เท่านั้น แต่คือ “พลเมืองของชาติไทยที่มีคุณค่า” ดังนั้นการดูแลคนในชาติในฐานะ “มนุษยชาติ” จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มนุษย์คนนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้อย่างปกติสุขผ่านความมั่นคงในการจ้างงาน ดังนั้นรัฐบาลต้องยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงทุกรูปแบบในทุกกระบวนการผลิต และต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานในทุกมิติอย่างเคร่งครัดและจริงจัง

(2)  รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องสร้างกลไกการคุ้มครองแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม 4.0 และจะต้องตั้งคณะกรรมการระดับชาติแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเลิกจ้างหรือผลกระทบอื่นๆต่อผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณากลไกการคุ้มครองแรงงานทุกระดับในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

(3)  กระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังผู้ประกอบการในภาคเอกชน ที่มักฉวยโอกาสในสถานการณ์การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เลิกจ้างหรือลดทอนสภาพการจ้างงานของแรงงานในสถานประกอบการต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการจ้างงานที่เลี่ยงกฎหมาย โดยไม่มีการนำมาตรการการแก้ไขปัญหาอื่นๆมารองรับ

(4)  รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบจากการเลิกจ้างแรงงานจากอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีหลักการที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน และแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

(5)  ในระยะเฉพาะหน้า รัฐบาลต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อย่างเร่งด่วนเพื่อให้ลูกจ้างกลุ่มต่างๆสามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงกลุ่มลูกจ้างประจำในสถานประกอบการเพียงเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรง เพื่อบรรเทาปัญหาการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองและสิทธิแรงงานต่างๆที่กฎหมายได้กำหนดไว้

รายงานโดย วาสนา ลำดี